xs
xsm
sm
md
lg

วิทยาการน่าทึ่งจากโลกมุสลิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Edited-นาฬิกาช้างพลังน้ำของ อัล-ญะซารี (Al-Jazari) ที่มีกลไกบอกเวลาทุก 30 นาที
เราอาจคุ้นเคยกับเทคโนโลยีทันสมัยจากโลกตะวันตก และองค์ความรู้จากนักวิทยาศาสตร์ของฝรั่งผิวขาว หรือวิทยาการจากจีนแผ่นดินใหญ่ ที่มีมานานนับพันปี แต่เราอาจไม่เคยรู้ว่าในโลกมุสลิมมีวิทยาการที่ก้าวหน้าและบางอย่างเป็นสิ่งที่เราใช้กันจนชิน

เราอาจรู้จัก “คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส” (Christopher Columbus) ในฐานะนักสำรวจคนสำคัญของโลกและผู้ค้นพบทวีปอเมริกา (ที่ชาวอินเดียแดงครอบครองอยู่ก่อน) แต่หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าในโลกของมุสลิมมีนักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่ที่ชื่อ “เจิ้งเหอ” (Zheng He) เขาคือขันทีในราชวงศ์หมิงของจีน แต่เขาได้พลิกชะตาตัวเป็นผู้นำสำรวจ โดยล่องเรือลำใหญ่กว่าเรือของโคลัมบัสถึง 4 เท่า ซึ่งใหญ่พอที่จะเลี้ยงม้า แพะและยีราฟได้ ซึ่งเขาได้เดินทางสำรวจโลกถึง 7 เที่ยว

นอกจากเจิ้งเหอแล้ว ยังมี อิบนิ บะฏูฏะห์ (Ibn Battuta) ชาวโมร็อกโก และนักสำรวจผู้ยิ่งใหญ่อีกคนของโลกมุสลิมในสมัยศตวรรษที่ 13 ที่เริ่มต้นเดินทางขณะมีอายุเพียง 21 ปี และได้จาริกแสวงบุญจากเมืองโมร็อกโก สู่นครมักกะห์ อีกทั้งยังได้เดินทางไปเยือนประเทศมุสลิมในยุคสมัยของเขาครบทุกประเทศ โดยใช้เวลาเดินทางทั้งหมด 29 ปี รวมระยะทางกว่า 120,000 กิโลเมตร

ประวัติของนักสำรวจผู้ยิ่งใหญ่ของชาวมุสลิมทั้ง 2 คนได้รับการเชิดชูเกียรติภายในโซน “การสำรวจที่ยิ่งใหญ่” ของนิทรรศการ “วิทยาการในโลกมุสลิม” (Sultans of Science) ที่จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ คลองห้า ปทุมธานี ระหว่าง 11 ก.ย.-30 พ.ย.55

ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการ อพวช.กล่าวว่า นิทรรศการที่นำมาแสดงนี้ คือ “วิทยาการสร้างโลก” ที่มีวิวัฒนาการต่ยอดกันไปในโลกตะวันตก ทั้งวิทยาการการบินที่มีมาก่อนโลกตะวันตกถึง 1,000 ปี วิทยาการเรื่องการดูดาวที่มีเครื่องมือสำหรับดูดาวได้อย่างแม่นยำ เทคโนโลยีการแพทย์เรื่องการผ่าตัด เป็นต้น ซึ่งวิทยาการต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นในช่วง “ยุคทองของโลกมุสลิม” ระหว่างปี ค.ศ.700-1700

ทั้งนี้ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ของมาเลเซียและสิงคโปร์ นำนิทรรศการดังกล่าวของศูนย์วิทยาศาสตร์ดูไบมาจัดแสดง โดยเริ่มจัดแสดงที่สิงคโปร์ก่อน และนำมาจัดแสดงที่ประเทศไทย ก่อนจะเวียนไปจัดแสดงที่มาเลเซียต่อไป

การจัดแสดงนิทรรศการแบ่งออกเป็น 10 โซน ได้แก่ โซนผู้บุกเบิกการบิน โซนเทคโนโลยีและสิ่งประดิษฐ์ชั้นยอด โซนดาราศาสตร์ของชาวมุสลิม โซนระหัดวิดน้ำ โซนการค้นพบทางการแพทย์ โซนสภาวิชาการ โซนผู้บุกเบิกการบิน โซนคณิตศาสตร์ ศิลปะและสภาปัตยกรรมศาสตร์ โซนทัศนศาสตร์ และโซนการสำรวจที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

ทางด้าน นางกรรณิการ์ เฉิน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ อพวช.บอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ กล่าวว่า ภายในนิทรรศการมีชิ้นงานที่จะให้ประสบการณ์ตรงกับผู้เข้าชมทั้งหมด 35 ชิ้นงาน และมีข้อมูลเส้นเวลาที่เปรียบเทียบให้เห็นถึงกำเนิดวิทยาการต่างๆ ในส่วนอื่นของโลกกับโลกมุสลิมด้วย

“ผู้ชมจะได้เห็นวิทยาการด้านดาราศาสตร์ที่สะท้อนว่า ดาราศาสตร์ที่มีสำคัญต่อศาสนาอิสลามมาก เพราะต้องละหมาดให้ถูกทิศ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ในการหามุมหาทิศจึงสำคัญมาก หรือโซนคณิตศาสตร์ที่จะได้ทราบว่าตัวเลขอารบิก ที่เรานิยมใช้นั้นเป็นตัวเลขที่คิดขึ้นโดยชาวมุสลิม ได้รู้จักกำเนิดของพีชคณิตหรือการคำนวนมุมที่เกี่ยวโยงไปถึงท้องฟ้าและดวงดาว ทางด้านวิศวกรรมก็มีระหัดวิดน้ำที่มีกลไกอันซับซ้อน รวมถึงกความเข้าใจระบบไหลเวียนของเลือดที่ถูกต่อยอดทางโลกตะวันตก” นางกรรณิการ์ กล่าวแนะนำนิทรรศการบางส่วน

ทั้งนี้ นางกรรณิการ์ กล่าวว่า สิ่งที่ผู้เข้าชมนิทรรศการจะได้รับ คือ การตระหนักว่าพัฒนาการของวิทยาศาสตร์ไม่ได้เกิดในทันที แต่ค่อยๆ เกิดขึ้นจากการสั่งสมองค์ความรู้ การสังเกต ทดลอง และค้นคว้า อยากให้นิทรรศการนี้ได้เป็นแรงบันดาลใจว่า ไม่ว่าจะเราจะอยู่มุมไหนของโลก มีเชื้อชาติใด นับถือศาสนาใด แต่ถ้ามีความเป็นวิทยาศาสตร์อยู่ในตัวก็สามารถคิดค้นและต่อยอดได้ อยากให้ได้รับแรงบันดาลใจจากนิทรรศการนี้
กลไกการทำงานของนาฬิกาช้างพลังงานของ อัล-ญะซารี ซึ่งในท้องช้างบรรจุน้ำและมีถ้วยเจาะรูลอยน้ำ (ภาพที่ 2) หุ่นปราชญ์มุสลิมจะหมุนไปเรื่อยๆ ทุกนาที (ภาพที่ 3 ซ้าย) ถ้วยค่อยๆ จมน้ำและดึงให้กลไกเริ่มต้นใหม่ (ภาพที่ 3 ขวา) เมื่อเวลาและกลไกผ่านไป 30 นาที หุ่นนกอินทรีจะปล่อยลูกแก้วใส่ปากมังกรที่จะพลิกตัวเพื่อหย่อนลูกแก้วใส่ถ้วยในท้องช้าง













แบบจำลองจักรวาล ที่ช่วยให้เราหาตำแหน่งดาวบนท้องฟ้าได้อย่างแม่นยำ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดบนโลก (ผิดเพี้ยนเพียงใช้โลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล)
ระหัดวิดน้ำของอัล-ญะซารี
นิทรรศการวิทยาการในโลกมุสลิมที่มีคิวไปจัดแสดงต่อที่มาเลเซีย
ส่วนที่นิทรรศการโซนการบิน ที่ให้เราทดลองเหวี่ยงแขนตามแนวคลื่นที่เข้าใจถึงการการกระพือปีกของนกที่วนครบรอบเป็นรูปเลข 8
นางกรรณิการ์ เฉิน
มาตรวัดรูปเสี้ยววงกลม ที่ใช้หามุมของวัตถุบนท้องฟ้า
กลไกเล่นกลที่สามารถแยกน้ำและน้ำมันได้จากความหนาแน่นที่แตกต่างกันและกลไกภายในหม้อปั้น
วงจรแห่งจักรวาลสำหรับหาการโคจรของกลุ่มดาว
เลขอารบิกเป็นอีกองค์ความรู้จากโลกมุสลิมที่ถูกนำไปใช้จนเป็นสากล
โซนการสำรวจที่ยิ่งใหญ่ ที่นำเสนอการเป็นนักสำรวจที่ยิ่งใหญ่ของชาวมุสลิม
เทียบขนาดเรือของเจิ้งเหอ (ลำใหญ่) กับเรือของโคลัมบัส (ลำเล็ก)
บนเรือของเจิ้งเหอเลี้ยงสัตว์ทั้งเพื่อเป็นอาหารและลำเลียงไปบรรณาการกษัตริย์
เส้นทางล่องเรือของเจิ้งเหอ
*****

นิทรรศการวิทยาการในโลกมุสลิมจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ คลองห้า ปทุมธานี ในส่วนจัดแสดงนิทรรศการถาวรระหว่างเดือน ก.ย.-พ.ย.55 เปิดทำการทุกวัน เวลา 09.00-17.00 น.(ยกเว้นวันจันทร์) อัตราค่าเข้าชมสำหรับเด็ก 20 บาท และผู้ใหญ่ 50 บาท







กำลังโหลดความคิดเห็น