xs
xsm
sm
md
lg

ลาดกระบังคิด “เครื่องอุ่นดิน” ด้วยไมโครเวฟช่วยเกษตรกรหลังน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธัญวัฒน์ ลิมปิติ และเครื่องอุ่นดินด้วยไมโครเวฟ
สจล.- ลาดกระบังคิดค้นนวัตกรรม “เครื่องอุ่นดิน” ด้วยคลื่นไมโครเวฟ ฟื้นคืนชีพดินในเวลา 3 วัน ช่วยเหลือเกษตรกรไทยหลังเผชิญน้ำท่วม ต้นทุนเพียง 9,500 บาท

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดตัวนวัตกรรมเครื่องส่งคลื่นไมโครเวฟ เร่งอัตราการคายน้ำของดิน ช่วยเหลือเกษตรกรไทยที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ซึ่งจากการทดลอง พบว่า ภายใน 1 ชั่วโมง คลื่นไมโครเวฟทำให้ความชื้นในดินจากระยะทดสอบ 5-15 เซนติเมตรลดลง และทำให้อุณหภูมิในดินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ทีมวิจัยคาดว่า หากนำไปใช้จริงหลังจากการเกิดน้ำท่วมจะช่วยเกษตรกรร่นระยะเวลาในการรอคอยดิน เพื่อให้กลับมาเป็นปกติก่อนทำการปลูกพืชจริงได้ โดยใช้ระยะเวลาเพียง 1-3 วัน แต่ทั้งนี้ ขึ้นกับสภาพภูมิอากาศและขนาดพื้นที่ทางการเกษตร นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยให้เกษตรกรประหยัดต้นทุนและแรงงานคนไปได้มากกว่า 50%

ศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา หากนาข้าวและสวนผลไม้ต่างๆ จมอยู่ใต้น้ำไม่น้อยกว่า 1 เดือน จะส่งผลให้รากต้นไม้เน่าเปื่อย เกษตรกรจะระบายน้ำที่ท่วมหน้าดินลงคลองระบายน้ำ แล้วปล่อยให้ความชื้นในดินลดลงด้วยการคายน้ำของดินเอง และขุดหลุมรอบๆ ต้นไม้ เพื่อให้น้ำในดินบริเวณรอบๆ ซึมเข้ามาในหลุมที่ขุดไว้ แล้วสูบน้ำในหลุมทิ้ง โดยใช้ระยะเวลานานประมาณ 1-3 อาทิตย์ กว่าที่เกษตรกรจะกลับมาทำพื้นที่ทางการเกษตรได้อีกครั้ง

นอกจากนี้ ในกรณีที่มีความชื้นในดินมาก ศ.ดร.โมไนย กล่าวว่า การระบายน้ำด้วยวิธีดั้งเดิมอาจไม่เหมาะสม เนื่องจากอัตราการคายน้ำของดินต่ำเกินกว่าจะลดความชื้นในดินได้อย่างทันท่วงที จึงเป็นที่มาของการวิจัยงานสายอากาศร่องบนท่อนำคลื่นสี่เหลี่ยมมาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยเร่งอัตราการคายน้ำของดิน โดยมี นายธัญวัฒน์ ลิมปิติ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นหนึ่งในทีมวิจัยและพัฒนาคลื่นไมโครเวฟลดความชื้นในดิน

นายธัญวัฒน์ ลิมปิติ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้นำเสนอกระบวนการในการผลิตสายอากาศร่องบนท่อนำคลื่นสี่เหลี่ยมที่ถูกออกแบบเพื่อใช้ในการแผ่พลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสู่ดิน โดยมีคลื่นไมโครเวฟเป็นตัวกลางในการเร่งอัตราการคายน้ำของดิน ซึ่งกำหนดให้กำลังงานที่ป้อนให้สายอากาศเท่ากับ 800 วัตต์

เมื่อทีมวิจัยใช้คลื่นไมโครเวฟในการเร่งอัตราการคายน้ำของดินทดสอบภาคสนามที่สวนส้มโอ อ.สามพราน จ.นครปฐม พบว่า เมื่อนำสายอากาศร่องบนท่อนำคลื่นเพื่อช่วยลดความชื้นในดิน ที่มีคลื่นไมโครเวฟเป็นตัวนำนั้น ทำให้ความชื้นในดินลดลงได้อย่างรวดเร็ว และมีอุณหภูมิในดินเพิ่มขึ้น ภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมง ซึ่งวิธีการไมโครเวฟนี้ เมื่อระยะเวลาเพิ่มขึ้น อุณหภูมิก็จะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ศาสตราจารย์ ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลงานวิจัยครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการศึกษาในเชิงวิชาการอย่างเดียวเท่านั้น แต่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในภาคเกษตรกรรมได้จริงตามหลักวิชาทางวิศวกรรม ทางคณะจึงร่วมสนับสนุนการศึกษาวิจัยดังกล่าวกับนักศึกษา โดยได้ช่วยกันคิดค้นและพัฒนา เนื่องจากเห็นว่า เกษตรกรประสบปัญหาการทำพื้นที่ทางการเกษตรหลังจากภาวะวิกฤติน้ำท่วม ที่ส่งผลเสียหายอย่างมาก อีกทั้งช่วยเกษตรกรประหยัดต้นทุนและแรงงานคนไปได้มากกว่า 50% เพราะเครื่องลดความชื้นในดินตัวนี้ มีต้นทุนเพียง 9,500 บาท

“เกษตรกรที่มีปัญหาของความชื้นในดินสามารถติดต่อทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาโทรคมนาคม สจล.ได้โดยตรง ซึ่งสถาบันยินดีช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ที่เกษตรกรในจังหวัดสุโขทัยกำลังเผชิญกับภาวะน้ำท่วม ซึ่งแน่นอนว่า พื้นที่เกษตรกรรมคงได้รับความเสียหายไม่มากก็น้อย ทาง สจล.เองก็มีความยินดีที่จะช่วยเหลือเกษตรกร โดยเน้นจุดยืนของการเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศที่มุ่งวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ศ.ดร.โมไนย ระบุ

สำหรับเกษตรกร และประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามรายละเอียด เพิ่มเติมเกี่ยวกับนวัตกรรมเครื่องส่งคลื่นไมโครเวฟ เพื่อลดความชื้นในดิน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-329-8000 ถึง 99 ต่อ 3781 ถึง 4 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th

ศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ และทีมวิจัย
 เครื่องอุ่นดินด้วยหลักการคลื่นไมโครเวฟ
สายอากาศร่องบนท่อนำคลื่นสี่เหลี่ยม ทำหน้าที่ตัวปล่อยคลื่นไมโครเวฟสู่ดิน






กำลังโหลดความคิดเห็น