xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการมั่นใจทดสอบน้ำไม่ทำกทม.ท่วม ห่วงปีหน้าแล้งหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.คมสัน มาลีสี
ผศ.ดร.คมสัน มั่นใจทดสอบระบายน้ำไม่ทำ กทม.ท่วม เพราะน้ำมีน้อย แต่นั่นก็ทำให้ไม่สามารถสะท้อนปัญหาจริงได้ อีกทั้งระบบต่างๆ ก็ยังไม่พร้อม ถือเป็นการกระทำที่เปล่าประโยชน์ ชี้เป็นห่วงปีหน้าภัยแล้งหนัก ตอนนี้น้ำในเขื่อนภูมิพลมีไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ จี้รัฐจัดการ ไม่เช่นนั้นเกิดปัญหาแย่งชิงน้ำแน่

วันที่ 4 ก.ย. ผศ.ดร.คมสัน มาลีสี รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง และนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ถึงประเด็น “แผนทดสอบระบายน้ำ”

โดยนายคมสันกล่าวว่า การทดสอบระบายน้ำจริงเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องดูว่าเป็นการทดสอบที่เป็นตัวแทนตามหลักวิชาการจริงหรือไม่ เช่น ปริมาณน้ำ ถ้าไม่เป็นไปตามที่มาจริงก็ไม่มีประโยชน์ ตนมองว่าที่รัฐบาลทดสอบวันที่ 5 และ 7 ก.ย.นี้ สะท้อนปัญหาจริงแทบไม่ได้เลย เพราะระบบบริหารการจัดการน้ำของ กทม. อุโมงค์ส่งน้ำต่างๆ ทำขึ้นเพื่อรองรับฝนตกเท่านั้น ไม่ได้รองรับน้ำเหนือ ถ้าจะทำได้ต้องปรับโครงสร้างใหม่ทั้งหมด ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรจะทำ ไม่เช่นนั้น กทม.จะตกเป็นจำเลยไปตลอด เพราะกั้นทุกวิถีทางไม่ให้ท่วม ขณะที่จังหวัดอื่นท่วมสูง

ถ้าระบบทุกอย่างพร้อมหมดแล้ว รัฐบาลจะทดสอบ ตนเห็นด้วย แต่นี่ยังไม่พร้อม ปัญหาในหลายๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่นการขุดลอกคลองลาดพร้าว อีกทั้งการชี้แจงต่อประชาชนก็ไม่ชัดเจน ทำให้บางส่วนเริ่มวิตกว่าน้ำจะท่วมในพื้นที่ของตน ซึ่งตรงนี้ตนมั่นใจว่าโอกาสที่จะมีผลกระทบน้อยมาก เพราะน้ำจากส่วนต่างๆตอนนี้มีไม่มาก

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า ตนเสียดายน้ำที่จะถูกปล่อยทิ้งไปเปล่าๆ เพราะนี้ก็ใกล้หมดฤดูฝน ตอนนี้ทางภาคอีสานเริ่มแล้งแล้ว และการทดสอบยังนำไปสู่ความขัดแย้งอีก เพราะ กทม.ก็ไม่เห็นด้วย ตนมองว่าเป็นสร้างภาพไปวันๆ เอาเงินภาษีประชาชนมาละลายเล่น เพื่อลบประเด็นทางการเมือง ที่ถูกผู้รู้วิจารณ์ก่อนหน้านี้มากกว่า

นายคมสันกล่าวต่อว่า ตอนนี้โมเดลต่างจากปีที่แล้ว ตั้งแต่ชัยนาทลงมา กั้นเขื่อนหมดแล้ว ตามธรรมชาติเวลาฝนตกผ่านนครสวรรค์มาชัยนาท มันจะมีคันดินกระจายน้ำเข้าทุ่ง เข้าสู่แก้มลิงตามธรรมชาติ แต่ทุกวันนี้ทุกคนกั้นไม่ให้น้ำเข้าพื้นที่ตัวเอง ถ้าทำแบบนี้หมด น้ำก็จะลงมาที่กรุงเทพฯ แล้วกรุงเทพฯ ก็ไม่มีทางออกของน้ำ ฉะนั้น หัวใจสำคัญ คือ แก้มลิง ต้องเป็นรูปธรรมมากที่สุด ทำคันกั้นสามารถทำได้ แต่ก็ต้องมีจุดเปิดให้เข้าแก้มลิงได้ ถ้าไม่แก้ น้ำมาไม่เท่าปีที่แล้วก็อาจจะท่วมได้

นายศรีสุวรรณกล่าวเสริมว่า แก้มลิงธรรมชาติ เช่น พระนครศรีอยุธยา รัฐก็ไปสนับสนุนให้สร้างนิคมอุตสาหกรรม ปัจจุบันก็ได้สนับสนุนงบให้สร้างพนังกั้นน้ำรอบนิคม เช่นนิคมโรจนะสร้างยาวถึง 77 กิโลเมตร ใหญ่โตมาก ซึ่งจะส่งผลให้น้ำไปท่วมในที่ที่ไม่เคยท่วม ที่สำคัญอีเว้นท์วันที่ 5-7 ก.ย. รัฐบาลสั่งเปิด-ปิดประตูน้ำได้ แต่สถานการณ์จริงใครจะสั่งได้ เพราะมีนักการเมืองท้องถิ่น นักเลงท้องถิ่น คอยสั่งควบคุมประตูน้ำอยู่ ต่างก็ไม่ต้องการให้ท่วมพื้นที่ตัวเอง

นายคมสันกล่าวว่า ทุกที่ต่างสร้างคันกั้นอันนี้อันตราย ต่อไปน้ำจะท่วมอีกแบบ เพราะน้ำถูกเบี่ยงเบนทิศทางการไหล ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ฉะนั้นน้ำที่ควรไหลต้องให้ไหล ถ้ามีส่วนหนึ่งไปกั้น ก็จะกระทบอีกส่วนทันที นี่คือเหตุที่ทำให้ปีก่อน นักวิชาการบอกข้อมูลแล้วผิดเกือบหมด เพราะคนเข้าไปเกี่ยวข้องกับทิศทางน้ำ

นายคมสันยังกล่าวอีกว่า ปีนี้โอกาสขาดแคลนน้ำสูงมาก เพราะมีการปรับการเปลี่ยนแปลงน้ำในเขื่อน ตอนแรกหวังดีกลัวน้ำท่วม แต่ต้องประเมินให้เร็ว พ.ค.- มิ.ย. ต้องประเมินแล้วว่าแนวโน้มน้ำจะเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้มีการปล่อยน้ำตลอด ทั้งๆ ที่น้ำในเขื่อนภูมิพลตอนนี้มีไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจต่ำสุดในรอบหลายสิบปี ปกติ ต.ค. ฝนก็ไม่ตกแล้ว ฉะนั้นมีความเสี่ยงสูงมากในเรื่องของปริมาณน้ำในเขื่อน ซึ่งปัญหาขาดแคลนน้ำจะกระทบให้เห็นชัดในช่วง ม.ค.-ก.พ. 56 เกิดการแย่งชิงน้ำระหว่างภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และชาวบ้าน ถ้ารัฐบาลไม่วางแผนป้องกัน เจอเหตุการณ์นี้แน่


นายศรีสุวรรณ จรรยา
กำลังโหลดความคิดเห็น