xs
xsm
sm
md
lg

Irving Langmuir นักเคมีอุตสาหกรรมคนแรกที่ได้รับโนเบล

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

Irving Langmuir นักเคมีอุตสาหกรรมคนแรกที่ได้รับโนเบล
ขณะขบวนศพของ Louis Pasteur นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศส เคลื่อนผ่านไปตามถนนในกรุงปารีส ในปี 1895 มีเด็กนักเรียนชาวอเมริกันคนหนึ่งยืนดูด้วยความอาลัยร่วมกับชาวฝรั่งเศสจำนวนนับหมื่น บรรยากาศของความเศร้าเสียใจของคนทั้งประเทศที่ต้องสูญเสียนักจุลชีววิทยาคนสำคัญของโลก ได้ทำให้เด็กชายคนนั้นตัดสินใจเป็นนักวิทยาศาสตร์บ้าง และ Irvin Langmuir ก็ทำได้สำเร็จ เพราะเขาได้เติบโตเป็นนักเคมีอุตสาหกรรม ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปี 1932

Langmuir เกิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ.1881 ที่เมือง Brooklyn รัฐ New York ในสหรัฐอเมริกาซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงเมืองเล็กๆ และชาวเมืองเดินทางไปทำงานไกลๆ ด้วยรถม้าและรถจักรไอน้ำ บิดาของ Langmuir แม้จะไม่ประสบความสำเร็จมากในการทำธุรกิจ แต่ก็เป็นคนที่มองโลกในแง่บวก เพราะคิดตลอดเวลาว่าโชคดีคงเป็นของตนในอีกไม่นาน

Langmuir ได้เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนใกล้บ้าน จนกระทั่งอายุ 11 ขวบ ครอบครัวจึงได้อพยพไปปารีสเพื่อจะได้อยู่ไม่ไกลจาก Arthur Langmuir ผู้เป็นพี่ชายของ Langmuir ที่กำลังจะไปเรียนเคมีที่มหาวิทยาลัย Heidelberg ในเยอรมนี ส่วน Langmuir นั้นพ่อได้จัดให้เข้าเรียนที่โรงเรียนนอกกรุงปารีส แต่เรียนได้ไม่สู้ดีนัก เพราะ Langmuir รู้สึกต่อต้านกฎระเบียบของโรงเรียนที่เข้มงวดเกินไป แต่บิดาเป็นเพื่อนสนิทของอาจารย์ใหญ่ Langmuir จึงได้รับอนุญาตให้ประพฤติตัวนอกลู่นอกทางในบางโอกาส เช่น ได้รับอนุญาตไม่ต้องเรียนคณิตศาสตร์กับครู แต่ให้เรียนด้วยตนเอง

Langmuir เป็นคนที่เวลาจะทำอะไรก็จะทุ่มเทความสนใจ และความพยายามไปทั้งตัวและหัวใจ และชอบซักไซ้ไล่เลียงถามความรู้เคมีจากพี่ชายที่เขารักมากบ่อยๆ เช่น ถามว่าเหตุใดน้ำจึงกลายเป็นน้ำแข็ง ทำไมน้ำจึงเดือด หรือฝนจึงตก เป็นต้น และเมื่อรู้อะไรก็ตามจะพยายามถ่ายทอดต่อให้ Herbert Langmuir ผู้เป็นน้องชาย จนมารดารู้สึกว่า Irvin Langmuir เป็นเด็กไฮเปอร์แต่ก็ฉลาดมาก

เมื่อพี่ชาย Arthur Langmuir สำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต ครอบครัวได้เดินทางกลับอเมริกาในฤดูใบไม้ร่วงปี 1895 และ Langmuir ได้ไปเรียนต่อที่ Chestnut Hill Academy ในเมือง Philadelphia และพบว่า ตนสามารถอ่านและเข้าใจแคลคูลัสได้ด้วยตนเอง ภายในเวลาไม่ถึง 6 สัปดาห์ อีกทั้งรู้สึกรักการเรียนวิทยาศาสตร์มาก

เมื่ออายุ 14 ปี Langmuir ได้ไปเรียนต่อที่ Pratt Institute ในเมือง Brooklyn เป็นเวลา 3 ปี จากนั้นเข้าเรียนวิศวกรรมศาสตร์ที่ Columbia University ด้านวิศวกรรมเหมืองแร่ แล้วไปเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Gottingen ในเยอรมนี จนสำเร็จการศึกษาในวัย 25 ปี โดยมี Walther Nernst (นักเคมีรางวัลโนเบลประจำปี 1920) เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

หลังจากนั้น Langmuir ได้งานเป็นครูสอนเคมีที่ Steven Institute ในเมือง Hoboken และได้หยุดการเดินทางร่อนเร่เป็นระยะเวลาหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไป 3 ปี Langmuir รู้สึกเบื่องานสอนมาก จึงขอลาไปฝึกทำงานวิจัยในช่วงฤดูร้อนที่บริษัท General Electric (G.E.) แห่งเมือง Schnectady ประสบการณ์ทำงาน 10 สัปดาห์ที่นั่นได้สร้างงานให้เขาทำจนตลอดชีวิต

ในปี 1900 ซึ่งเป็นเวลา 9 ปี ก่อนที่ Langmuir จะมาฝึกงาน บริษัท General Electric และบริษัท Thomas Huston ได้เข้าร่วมกิจการกัน จึงทำให้เป็นบริษัทอุตสาหกรรมที่ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา แต่คณะกรรมการบริหารของบริษัทมีความเห็นว่า บริษัทจะยืนยงอยู่ได้ ถ้ามีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สามารถแข่งขันกับบริษัทอื่นๆ ได้ และนับตั้งแต่วันที่ตั้งบริษัทมา นักวิจัยของบริษัทได้ใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ในขณะนั้นจนแทบหมดสิ้นแล้ว ดังนั้นบริษัท General Electric จึงกำลังต้องการอัจฉริยะ นักประดิษฐ์ และนักวิทยาศาสตร์มาก ในขณะเดียวกัน Langmuir ก็กำลังต้องการห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ที่จะทดลองความคิดใหม่ๆ ของเขาด้วย

ดังนั้นประธานของบริษัท ซึ่งได้แก่ A.G. Davis และ E.W. Rice จึงได้กำหนดนโยบายขึ้นมาว่า บริษัทต้องการความรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐานใหม่ และเพื่อให้ความประสงค์นี้สัมฤทธิผล บริษัทได้มอบให้ Willis R. Whitney ผู้เป็นนายกสมาคมเคมีแห่งอเมริกา และเป็นศาสตราจารย์สังกัด Massachusetts Institute of Technology (MIT) ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการของบริษัท

ในปี 1909 ที่ Langmuir เดินทางถึง Schenectady นั้น เขาคิดว่า เขาคงได้รับคำสั่งจาก Whitney ให้เข้าทำงานเป็นพนักงานทดลองธรรมดาคนหนึ่ง ดังนั้นจึงรู้สึกประหลาดใจมาก เมื่อ Whitney บอกให้ใช้เวลาศึกษากิจกรรมในห้องปฏิบัติการต่างๆ ของบริษัทเป็นเวลานานเท่าที่พอใจ เพื่อดูว่า ใครทำงานวิจัยอะไรบ้าง แล้วกลับไปบอก Whitney ว่า หลังจากเห็นความเป็นไปทุกเรื่องแล้ว Langmuir ต้องการจะทำอะไร ประสบการณ์นี้ทำให้ Langmuir รู้ว่า เสรีภาพการวิจัยของพนักงานในบริษัท G.E. มีมากกว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัย

ในขณะที่ Langmuir กำลังศึกษาความเป็นไปในห้องปฏิบัติการต่างๆ Whitney ก็กำลังศึกษา Langmuir และได้พบว่า Langmuir เป็นอัจฉริยะนักเคมีผู้มีวิสัยทัศน์และมีความสามารถกับจินตนาการที่มหัศจรรย์เกินคนธรรมดามาก เพราะภายในช่วงเวลาไม่นานที่ทำงานที่ G.E. Langmuir ได้ประสบความสำเร็จในการทำงานหลายชิ้น เช่น
(1)ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของหลอดไฟฟ้า
(2)ปรับปรุงประสิทธิภาพของหลอด triode ที่ De Forest ออกแบบ
(3)พัฒนาทฤษฎีที่ใช้อธิบายว่า เหตุใดธาตุต่างๆ จึงรวมตัวกันในปฏิกิริยาเคมี
(4)บุกเบิกการวิจัยวิทยาศาสตร์ใน 2 มิติ
(5)อธิบายปรากฏการณ์การเร่งปฏิกิริยา (catalysis)
(6)ทดลองเรื่อง การทำฝนเทียม
ขึ้นปก Time เมื่อ ส.ค.1950
ตลอดชีวิตการทำงานของ Langmuir เขาจะไม่ทดลองวิทยาศาสตร์เรื่องใดเลย ถ้าเขาไม่รู้ว่า การทดลองนั้นจะมีประโยชน์อันใด ดังนั้นเวลาใครถาม Langmuir ว่าทำไมวิจัยเรื่องนั้นเรื่องนี้ เขาก็จะตอบว่า เพราะอยากรู้ว่ามีประโยชน์ใดหรือไม่ และเมื่อคนถามรุกเร้าว่า เหตุใดจึงได้ทุ่มเทความพยายามเหลือเกิน Langmuir ก็จะตอบว่า เพราะรู้สึกสนุก และเป็นสุขมากเมื่อการทดลองบรรลุผล

ในอดีตเมื่อ 250 ปีก่อน Horace Walpole ได้เคยสร้างคำๆ หนึ่งขึ้นมาคือ serendipity ซึ่งแปลว่า ศิลปะของการทำงานที่ได้ประโยชน์จากเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ตลอดชีวิตทำงานร่วม 50 ปีของ Langmuir เราอาจต้องยอมรับว่า เขามีพรสวรรค์ด้านนี้มาก และนอกจากความสนุกเพลิดเพลินที่ได้รับตลอดเวลาแล้ว Langmuir ยังได้ชื่อเสียง ได้รับรางวัลโนเบล และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์มากมาย ส่วนบริษัท General Electric ก็ได้ชื่อเสียงที่มีพนักงานเป็นนักวิจัยระดับรางวัลโนเบล อีกทั้งได้กำไรจากผลิตภัณฑ์ที่ถือกำเนิดจากความคิดของ Langmuir โดยบริษัทเสียเพียงเงินเดือนจ้าง Langmuir เท่านั้นเอง

Langmuir เล่าว่า เมื่อเข้าทำงานที่บริษัท G.E. ใหม่ๆ เขาได้พบว่า นักวิจัยส่วนใหญ่ของบริษัทสนใจการพัฒนาไส้หลอดไฟฟ้าที่ทำด้วยลวดทังสเตน ด้วยเหตุผลว่าโลหะชนิดนี้สามารถทนความร้อนขณะมีอุณหภูมิสูงถึง 3,000 ํC ได้ ทำให้เปล่งแสงได้สว่างกว่าไส้หลอดที่ทำจากโลหะชนิดอื่น ถึงทังสเตนจะแข็งแต่ก็เปราะ เพราะเวลาผ่านกระแสไฟไปไม่นานไส้หลอดก็จะขาด

ประสบการณ์ที่ได้จากการทำวิทยานิพนธ์ของ Langmuir ทำให้เขาสงสัยว่า ต้นเหตุที่ทำให้ไส้หลอดขาดคงเกิดจากการที่ภายในหลอดมีแก๊สหลงเหลืออยู่ และไส้หลอดที่ร้อนได้ดึงดูดแก๊สเข้าไป ไส้หลอดจึงขาด Langmuir จึงแจ้งให้ Whitney ทราบว่า นี่คือ โจทย์วิจัยที่เขาต้องการหาคำตอบ

เพราะ Langmuir ได้สืบทราบมาว่า บริษัท G.E. มีอุปกรณ์ที่สามารถสร้างสุญญากาศได้ดีเยี่ยม ดังนั้นเขาจึงคิดทดลองผ่านกระแสไฟไปในหลอดไฟฟ้าที่มีไส้ลวดซึ่งทำด้วยทังสเตน และภายในหลอดเป็นสุญญากาศ และ Langmuir ก็ได้พบว่า หลังจากที่เวลาผ่านไปไม่นาน ภายในหลอดมีแก๊สในปริมาตร 7,000 เท่าของปริมาตรไส้หลอด และเมื่อเวลาผ่านไปๆ ปริมาตรของแก๊สก็ยิ่งมาก คำถามที่ Langmuir สงสัยคือ แก๊สมาจากที่ใด ในที่สุดเขาก็ได้พบว่า ผิวแก้วที่ไม่เคยสัมผัสความร้อน เวลาอยู่ในสุญญากาศจะขับไอน้ำออกมาทำปฏิกิริยาเคมีกับทังสเตนได้แก๊สไฮโดรเจน ดังนั้นไส้หลอดจึงเปลี่ยนสภาพ และภายในหลอดมิได้เป็นสุญญากาศอีกต่อไป ในการวิจัยขั้นตอนต่อมา Langmuir ได้พบว่า ถ้าใส่แก๊สไนโตรเจนเข้าไปในหลอด หลอดจะให้แสงสว่างมากขึ้น การค้นพบนี้จึงทำให้คนซื้อหลอดไฟสามารถประหยัดเงินได้มากมหาศาล นอกจากจะพบว่าภายในหลอดไม่ควรเป็นสุญญากาศแล้ว Langmuir ยังได้ทดลองสร้างไส้หลอดให้มีรูปทรงต่างๆ เพื่อใช้กับไฟตั้งแต่ 1,000 แอมแปร์ จนกระทั่งถึงไมโครแอมแปร์ และได้พบว่า เวลาไส้หลอดร้อน มันจะปล่อยอิเล็กตรอนพลังงานสูงออกมาพุ่งชนอะตอมของแก๊สที่อยู่ภายในหลอด ทำให้อะตอมของแก๊สแตกตัวเป็นไอออน แก๊สจึงกลายเป็นสสารสถานะใหม่ที่เรียกว่า plasma ซึ่งสามารถวัดความหนาแน่นได้ด้วยตัววัดที่เรียก Langmuir probe ส่วนผิวของไส้หลอดนั้นก็เป็นอ๊อกไซด์ที่หนาประมาณ 10-10 เมตร ดังนั้นการค้นพบของ Langmuir จึงทำให้โลกเริ่มสนใจฟิสิกส์ของระบบ 2 มิติ ในขณะที่ Einstein ได้ทำให้ทุกคนสนใจฟิสิกส์ใน 4 มิติ

ในปี 1909 ที่ Langmuir ศึกษาเรื่องนี้ แนวคิดเรื่องโมเลกุลยังไม่เป็นที่ยอมรับนัก แต่งานวิจัยของ Langmuir ก็ได้แสดงให้เห็นว่า โมเลกุลมีจริง และเขาได้ใช้แนวคิดนี้ในการศึกษาฟิล์มน้ำมันที่ลอยเหนือน้ำ จนทำให้รู้ขนาด และรูปทรงของโมเลกุล รวมถึงได้ศึกษาธรรมชาติของปฏิกิริยาเคมีของฟิล์มน้ำมันด้วย

ในการทดลองเรื่องฟิล์ม 2 มิติครั้งแรก Langmuir ใช้ไขมันที่มีโครงสร้างเป็นโซ่ hydrocarbon ซึ่งประกอบด้วยอะตอมของคาร์บอนตั้งแต่ 14-34 อะตอม แล้วหยดไขมันนี้ลงน้ำที่อยู่ในกระทะแบน ในเบื้องต้นไขมันอาจจะลอยนิ่งเป็นวงกลม หรือแผ่ขยายไปทั่วผิวก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับว่า แรงยึดติดระหว่างโมเลกุลในน้ำมันจะมากกว่าหรือน้อยกว่า แรงยึดติดระหว่างโมเลกุลน้ำมันกับโมเลกุลน้ำ การอัดแผ่นฟิล์มให้มีขนาดเล็กลงจะทำให้เกิดแรงต้าน Langmuir เรียก ความดันที่ใช้ในการอัดฟิล์ม ณ ตำแหน่งที่เกิดแรงต้านมากที่สุดว่า ความดันวิกฤต และพบว่าความดันวิกฤต จะมีค่าเท่ากันสำหรับฟิล์มทุกชนิด ไม่ว่าไขมันอินทรีย์ของฟิล์มจะมีความยาวของโซ่อะตอมคาร์บอนเป็นเท่าใด
 Louis Pasteur ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้ Irving Langmuir ตัดสินใจเป็นนักวิทยาศาสตร์ (ภาพวาดเหมือนโดย Albert Edelfelt)
การศึกษาฟิล์มใน 2 มิติ ร่วมกับ Katharine B. Blodgett ได้ทำให้นักวิทยาศาสตร์รู้จักวิทยาการเรื่อง monolayer อันเป็นระบบ 2 มิติที่ความหนาประกอบด้วยโมเลกุลเพียงหนึ่งเดียว และฟิล์มนี้มีบทบาทมากในการดูดซับที่ผิวของสาร ดังนั้นฟิล์มลักษณะนี้จึงมีชื่อเรียกว่า Langmuir – Blodgett film

ในปี 1932 Langmuir ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีจากการวิจัยเรื่องเคมีของผิว เขาจึงเป็นนักเคมีอุตสาหกรรมคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล

สำหรับเรื่องพันธะเคมีนั้น Langmuir ก็สนใจเช่นกัน เพราะตั้งแต่ J.J. Thomson ได้เสนอแบบจำลองของอะตอมว่ามีรูปทรงเหมือนเค้ก และมีอิเล็กตรอนประจุลบแฝงอยู่ในเนื้อเค้กที่มีประจุบวก เพื่อทำให้อะตอมทั้งหมดเป็นกลาง แต่แบบจำลองของ Thomson มิสามารถอธิบายได้ว่าธาตุต่างๆ ทำปฏิกิริยาเคมีกันได้อย่างไร และเมื่อ Ernest Rutherford ได้พบว่า อะตอมมีนิวเคลียสที่มีขนาดเล็กมาก แต่มีมวลมากที่ใจกลางของอะตอม Niels Bohr จึงใช้แบบจำลองของ Rutherford ที่แถลงว่า อิเล็กตรอนของอะตอมสามารถโคจรรอบนิวเคลียสได้เหมือนดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ แบบจำลองนี้สามารถอธิบายสเปกตรัมของไฮโดรเจนได้ดี แต่อธิบายปฏิกิริยาเคมีไม่ได้เลย

นักเคมีนั้นรู้ดีว่าโมเลกุลประกอบด้วยอะตอม แต่อะตอมของธาตุทุกชนิดก็ใช่ว่าจะทำปฏิกิริยากันได้หมด เช่น คาร์บอน 1 อะตอม ทำปฏิกิริยากับไฮโดรเจน 4 อะตอมได้ methane และออกซิเจน 1 อะตอม ทำปฏิกิริยากับไฮโดรเจน 2 อะตอมได้น้ำ นักเคมีจึงเรียกจำนวนอะตอมของไฮโดรเจนที่มาทำปฏิกิริยากับอะตอมอื่นว่า valence (เวเลนซ์) ดังนั้น ออกซิเจนมี valence = 2 และคาร์บอนมี valence = 4 ส่วนฮีเลียมนั้นไม่มี valence จึงเรียก inert gas (แก๊สเฉื่อย) เพราะไม่ทำปฏิกิริยาเคมีกับธาตุใดเลย

ในปี 1919 Langmuir ได้ใช้แนวคิดของ G.N. Lewis และ W. Kossel ที่ว่าด้วยเรื่องโครงสร้างของอะตอม โดยกำหนดให้อิเล็กตรอนเรียงตัวเป็นวงๆ และให้แต่ละวงมีอิเล็กตรอนจำนวนจำกัด (บางวงมีมาก บางวงมีน้อย) เช่น วงในสุดจะมีอิเล็กตรอนได้ไม่เกิน 2 ตัว เพราะอะตอมไฮโดรเจนมีอิเล็กตรอน 1 ตัว ดังนั้นวงในของอะตอมไฮโดรเจนจึงมีที่ว่างให้อิเล็กตรอนเข้ามาอยู่ได้อีก 1 ตัว ด้วยเหตุนี้ไฮโดรเจนจึงมีความว่องไวค่อนข้างมากในการทำปฏิกิริยาเคมี เพราะมันสามารถรับอิเล็กตรอนจากอะตอมของธาตุอื่นได้

ส่วนฮีเลียมนั้นมีอิเล็กตรอน 2 ตัวอยู่เต็มภายในวงในสุดแล้ว มันจึงไม่มีที่ให้อิเล็กตรอนอื่นเข้ามาอยู่ได้อีก ฮีเลียมจึงเป็นธาตุเฉื่อย

สำหรับอะตอมอื่นๆ ที่มีอิเล็กตรอนมากกว่า 2 ตัวขึ้นไป อิเล็กตรอนตัวที่ 3, 4... ก็ต้องอยู่ในวงถัดออกไป เพราะวงที่ 2 สามารถมีอิเล็กตรอนอยู่ได้ไม่เกิน 8 ตัว เช่น อะตอมลิเธียม (Li) ซึ่งมีอิเล็กตรอน 3 ตัว ดังนั้นอิเล็กตรอน 2 ตัวอยู่วงใน และตัวที่เหลือต้องอยู่วงนอกที่ 2 การอยู่โดดๆ ทำให้อิเล็กตรอนตัวนี้สามารถหลุดจากอะตอมได้ง่าย ดังนั้น Li จึงเป็นสารที่ว่องไวในการทำปฏิกิริยาเคมี

ส่วนนีออน (neon Ne) มีอิเล็กตรอน 10 ตัว จึงมีอิเล็กตรอน 2 ตัว อยู่วงในสุด และอิเล็กตรอน 8 ตัวอยู่วงที่สอง นีออนจึงมีอิเล็กตรอนอยู่เต็มทั้ง 2 วง นีออนจึงเป็นแก๊สเฉื่อย

แนวคิดเรื่อง valence ของ Langmuir นี้ได้ถูก G.N. Lewis โต้แย้งว่า เป็นของ Lewis ที่คิดได้ก่อน ซึ่งก็จริง แต่เวลานำเสนอ Langmuir สามารถอธิบายได้แจ่มชัดกว่า

ตามปกติ Langmuir สามารถทำงานวิจัยพร้อมกันได้หลายเรื่อง ดังนั้น ในขณะที่สนใจเรื่องหลอดสุญญากาศ เขาก็ทำงานวิจัยเรื่องปฏิกิริยาเคมีที่ความดันต่ำ ศึกษาเคมีของผิว และการปลดปล่อยอิเล็กตรอนจากผิวที่ร้อน ฯลฯ และทุกเรื่องเน้นการศึกษาที่จะให้ประโยชน์แก่อุตสาหกรรม เช่น ได้ศึกษาประสิทธิภาพของหลอดไฟฟ้าบรรจุแก๊ส เทคนิคการเชื่อมโลหะด้วยเปลวไฟไฮโดรเจนและการทำฝนเทียม เป็นต้น

ในปี 1938 Langmuir ได้หันมาสนใจวิทยาศาสตร์ของบรรยากาศและมาตรวิทยากับสมุทรศาสตร์จนได้พบการไหลของกระแสน้ำในทะเล Sargasso ซึ่งในเวลาต่อมาได้เป็นที่รู้จักในนาม Langmuir circulation

ในช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 Langmuir ได้พัฒนาอุปกรณ์ sonar ที่ใช้สำหรับค้นหาเรือดำน้ำ รวมถึงม่านควันที่ใช้กำบังทหารราบในสนามรบ

เมื่ออายุ 47 ปี Langmuir ได้รับเหรียญ Perkin ของสมาคมเคมีอุตสาหกรรมอเมริกัน และรับเหรียญ Franklin ของสมาคมเคมีอเมริกัน

ณ วันนี้ วารสารของสมาคมเคมีอเมริกันที่ตีพิมพ์ผลงานด้านเคมีผิว มีชื่อว่า Langmuir Journal

Langmuir เสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ.1953 สิริอายุ 76 ปี ที่ Woods Hole รัฐ Massachusetts

ในปี 1976 บ้านของ Langmuir ที่ Schnectady ได้รับการประกาศให้เป็นสถานที่สำคัญของชาติ

****************

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน - ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์

ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







กำลังโหลดความคิดเห็น