xs
xsm
sm
md
lg

รางวัลแบบนี้ก็มีด้วย “โกลเดนกูสอะวอร์ด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิทานอีสปเรื่องห่านวางไข่ทองคำเป็นแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อรางวัล โกลเดนกูสอะวอร์ด ที่มอบให้แก่งานวิจัยที่ดูไม่เข้าท่าแต่สร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ (ไลฟ์ไซน์/)
“โกลเดนกูสอะวอร์ด” รางวัลสำหรับงานวิทยาศาสตร์ที่ดูไม่เข้าท่า หากแต่เป็นงานวิจัยที่สำคัญจริงๆ ซึ่งประเดิมมอบเกียรติยศให้งานวิจัยด้านการค้นพบแมงกะพรุนเรืองแสง การปลูกถ่ายกระดูกด้วยประการัง รวมถึงการคิดค้นที่นำไปสู่การพัฒนา “เลเซอร์”

จิม คูเปอร์ (Jim Cooper) ผู้แทนราษฎรสหรัฐจากเทนเนสซี ผู้เป็นต้นคิดรางวัล “โกลเดนกูสอะวอร์ด” (Golden Goose Award) ให้ความเห็นว่า มีรายงานเกี่ยวกับโครงการวิจัยที่ฟังดูเพี้ยนๆ และทำให้ภาครัฐเสียเงินเปล่า แต่รางวัลนี้จะทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการเยาะหยันนั้น โดยตระหนักถึงงานวิจัยที่คู่ควรต่อการได้รับทุนสนับสนุนจากภาครัฐซึ่งอาจจะเป็นงานวิจัยที่ดูตลก แต่ประโยชน์ใช้สอยจากงานเหล่านั้นทำให้เราไม่อาจหัวเราะเยาะได้

จุดเริ่มต้นของคูเปอร์นี้มาพร้อมกับแนวคิดที่จะให้ความรู้แก่สาธารณะและสภาคองเกรสได้ตระหนักถึงคุณค่าของการให้ทุนวิจัยแก่งานวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐาน โดย ไลฟ์ไซน์ ระบุว่า ชื่อของรางวัลนั้นอ้างถึงนิทานอีสปเรื่องห่านที่วางไข่เป็นทองคำ และยังล้อชื่อรางวัล “โกลเดนฟลีซอะวอร์ด” (Golden Fleece Award) ของ วิลเลียม พรอกซ์ไมร์ (William Proxmire) สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ จากวิสคอนซินผู้ล่วงลับ ซึ่งมอบให้แก่งานวิจัยที่ให้เงินไปโดยเปล่าประโยชน์

สำหรับรางวัลห่านทองคำนี้ จะมอบเป็นเกียรติแก่งานวิจัยที่แม้การศึกษายังไม่ชัดเจนแต่นำไปสู่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่และมีผลกระทบที่สำคัญ หรือการค้นพบโดยบังเอิญแต่ส่งผลกระทบที่สำคัญต่อมนุษยชาติและเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงมอบรางวัลให้เฉพาะงานวิจัยที่ได้สร้างประโยชน์อย่างยิ่งแล้ว แต่จะไม่ให้รางวัลแก่งานวิจัยที่ “อาจจะ” นำไปสู่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่

หนึ่งในงานวิจัยที่ได้รับจากการประกาศรางวัลไปครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2012 ที่ผ่านมา คือ งานวิจัยของทีมนักวิทยาศาสตร์ 4 คนที่มีความเชี่ยวชาญจากหลายสาขา ซึ่งมีแนวคิดในการสร้างวัสดุปลูกถ่ายกระดูกด้วยปะการังที่ค้นพบในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้

โดยเมื่อต้นทศวรรษ 1970 นักวิจัยสหรัฐจากเพนน์สเตท ได้แก่ ร็อดนีย์ ไวท์ (Rodney White) เดลลา รอย (Della Roy) ยูจีน ไวท์ (Eugene White) และ จอน เวเบอร์ (Jon Weber) ผู้ล่วงลับ ได้พบว่าปะการังดังกล่าว มีรูพรุนขนาดเล็กและวางตัววกวนคล้ายกระดูกมนุษย์ ซึ่งน่าจะนำมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกระดูกได้

ทีมวิจัยได้ใช้โครงสร้างของปะการังเป็นต้นแบบในการสร้างเซรามิกที่เลียนแบบกระดูกมนุษย์ และพวกเขายังใช้เทคนิคการประกอบอาหารด้วยความดันเพื่อให้องค์ประกอบเคมีและคุณสมบัติเชิงกลนั้นคล้ายกระดูกมนุษย์ แล้วได้เป็นโครงสร้างที่สามารถทดแทนกระดูก ซึ่งรับแรงกดต่ำและข้อกระดูกได้ อีกทั้งยังลดโอกาสที่ร่างกายจะต่อต้านอวัยวะปลูกถ่ายได้ งานวิจัยนี้ได้รับทุนจากสถาบันสุขภาพสหรัฐฯ (National Institutes of Health: NIH)

อีกงานวิจัยคือการค้นพบโปรตีนแมงกะพรุนที่เปล่งแสงสีเขียวในแสงกลางวัน และเรืองแสงสีเขียวใต้แสงอัลตราไวโอเลต ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางการแพทย์ ซึ่งการทำงานของโปรตีนดังกล่าวช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สังเกตปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ได้ โดยนักวิทยาศาสตร์ในงานวิจัยนี้ คือ โอซามุ ชิโมมุระ (Osamu Shimomura) มาร์ติน ชาลฟี (Martin Chalfie) และโรเจอร์ เซียน (Roger Tsien) ที่ได้รับทุนวิจัยจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ (National Science Foundation: NSF) และสถาบันสุขภาพสหรัฐฯ

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ได้รับรางวัลนี้ คือ งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ที่นำโดย ศ.ชาร์ลส ทาวเนส (Charles Townes) พร้อมคณะ ซึ่งงานวิจัยของพวกเขาเคยถูกมองว่าพลาญงบประมาณของมหาวิทยาลัย แต่งานของพวกเขาก็นำไปสู่การสร้างนวัตกรรม “เลเซอร์” โดยเมื่อปี 1953 ศ.ทาวเนส พร้อมด้วย เจมส์ กอร์ดอน (James Gordon) และ เอช เจ ไซเกอร์ (H.J. Zeiger) ได้สร้างคลื่นแสง “เมเซอร์” (maser) ขึ้นเป็นครั้งแรก

คลื่นเมเซอร์ดังกล่าว คือ คลื่นไมโครเวฟที่ขยายขนาดจากการแผ่รังสีที่ปล่อยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งงานนี้ได้วางรากฐานสู่การพัฒนาแสงเลเซอร์ที่นำไปสู่เทคโนโลยีอันมีประโยชน์อย่างนับไม่ถ้วน ทั้งสื่อดิจิตัล ซีดี การสื่อสารผ่านดาวเทียม การผ่าตัดตาด้วยเลเซอร์ และนวัตกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งงานวิจัยเมเซอร์นั้นได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์สหรัฐฯและกองทัพเรือสหรัฐฯ

ที่น่าแปลกสำหรับรางวัลโกลเดนกูสอะวอร์ด คือ รางวัลนี้จะประกาศมอบรางวัลถึงปีละ 3-4 ครั้ง ส่วนงานมอบรางวัลประจำปีจะจัดขึ้นที่วอชิงตัน ดี.ซี.สหรัฐฯ







กำลังโหลดความคิดเห็น