นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ “นโยบายการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย” เผย ไทยก้าวสู่เออีซีท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ และวิกฤตพลังงาน ต้องนำการวิจัยและคิดค้นเข้ามาเพื่อสร้างโอกาสและความเจริญยั่งยืน เผยสนับสนุนนักวิจัยและงานวิจัย “1 ทุน 1 มหาวิทยาลัย” พร้อมผลักดัน งานวิจัยเพิ่มขีดความสามารถ ตอบโจทย์ประเทศ ขอให้เชื่อมโยงการทำงานระหว่างรัฐ มหาวิทยาลัย และเอกชน
วันนี้ (27 ส.ค.) ณ ห้องคริสตัล ฮอลล์ ชั้น 3 โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเรื่อง “การสนับสนุนนักวิจัยและงานวิจัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมไทย” พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย” และเยี่ยมชมนิทรรศการแสดงตัวอย่างโครงการวิจัยที่มีความร่วมมือของเอกชนและมหาวิทยาลัย จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมีผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาระดับอธิบดี รองอธิบดี คณบดี ผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้กล่าวชี้แจงถึงแนวคิดของรัฐบาลเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรมของประเทศไทยตอนหนึ่ง ว่า การประชุมวันนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งตลอดระยะเวลาที่รัฐบาลได้ทำงานมา 1 ปี และได้มีโอกาสพบปะกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนนั้น ได้ตระหนักถึงสิ่งที่ประเทศจะก้าวไปข้างหน้าโดยเฉพาะความสามารถในการแข่งขัน โดยขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องมาประชุมหารือร่วมกัน เพื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ทั้งผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปและวิกฤตพลังงาน ซึ่งขณะนี้หลายประเทศได้หันมาให้ความสนใจในเรื่องของความมั่นคงทางด้านพลังงาน เช่น พลังงานสีเขียว การประหยัดพลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติ เป็นอย่างมาก
ดังนั้น การที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ดังกล่าว โดยเฉพาะภาคธุรกิจจึงต้องมีการนำการวิจัยและการคิดค้นในเรื่องต่างๆ เข้ามาเพื่อที่จะทำให้มีโอกาสในการพัฒนาและเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งสถาบันวิจัย หน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และนักศึกษา จะต้องมีการทำงานร่วมกันในการตั้งโจทย์ของประเทศ เชื่อมั่นว่าทำให้ทิศทางในการทำงานมีความสอดคล้องและสามารถพัฒนาศักยภาพได้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันขอให้มีการนำการวิจัยมาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาไทยในแต่ละท้องถิ่น เช่น ผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือโอทอป และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับพืชทางการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากมีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างเข้มแข็งก็จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมขยายกลายเป็นองค์กรเอกชนขนาดใหญ่ ที่พร้อมจะสร้างความมั่นคงให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป
นายกฯ กล่าวอีกว่า ต้องการเห็นการตั้งโจทย์การวิจัยจากความต้องการของผู้ใช้ เช่น ภาคเอกชน เพื่อจะได้นำผลงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติอย่างแท้จริง ดังนั้น การประชุมครั้งนี้จึงเป็นเวทีที่ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน เพื่อให้ได้โจทย์ที่สอดคล้องกัน ทั้งในเรื่องของผลิตภัณฑ์ทางด้านการเกษตร การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางด้านพลังงาน การเพิ่มผลผลิตทางภาคอุตสาหกรรม การใช้เทคโนโลยี ฯลฯ ขณะเดียวกัน ในส่วนของทุนวิจัย “1 ทุน 1 มหาวิทยาลัย” โดยเฉพาะงานวิจัยที่มีอยู่แล้วขอให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และภาครัฐ เพื่อนำงานวิจัยที่มีอยู่แล้วไปดำเนินการสู่แนวทางปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ส่วนงานวิจัยที่จะดำเนินการในอนาคตขอให้มีการกำหนดทิศทางที่ชัดเจน เพื่อรองรับกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยให้มีการตั้งโจทย์จากความต้องการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานวิจัยของสถาบันต่างๆ เพื่อให้การทำงานในเรื่องการวิจัยมีความสอดคล้องและเป็นไปทิศทางเดียวกัน ขณะที่ทุนวิจัยสำหรับนักศึกษา ขอให้มีการศึกษาในสิ่งที่จะตอบโจทย์อนาคตของประเทศ โดยให้มีการเข้าไปฝึกงานในองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งในภาครัฐและเอกชน เพื่อจะได้นำความรู้ที่ได้ศึกษามาใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงและตรงกับความต้องการของประเทศ
จากนั้นภาคอุตสาหกรรมได้แสดงความเห็นที่สอดคล้องต้องกันว่า ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนทุนวิจัยและการพัฒนาบุคลากรนักวิจัยให้มากขึ้น โดยเฉพาะในสาขาที่ขาดแคลน 1 ทุน 1 มหาวิทยาลัย และทุนปริญญาโท และเอก ภาคอุตสาหกรรม ฯลฯ การนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เช่น เชิงพาณิชย์ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะกลุ่มนักวิจัย ซึ่งในปี 2559 คาดว่าจะมีความต้องการบุคลากรนักวิจัยระดับปริญญาโท 25,000 คน และระดับปริญญาเอก 4,000 คน ขณะที่ความสามารถในการผลิตภัณฑ์ปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมทั้งประเทศปีละไม่ถึง 1,000 คน ดังนั้น จึงขอให้มีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการในประเทศต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะการวิจัยในการพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์ทางด้านการเกษตรที่มีความโดดเด่นในแต่ละท้องที่ ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ยั่งยืนต่อไป
ขณะที่ นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนนักวิจัยและงานวิจัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนและมั่นคงของอุตสาหกรรมไทย โดยขอให้มีการเชื่อมโยงการทำงานด้านการวิจัยระหว่างหน่วยงานวิจัยของรัฐ มหาวิทยาลัยและภาคเอกชนให้มีความสอดคล้องกันทั้งเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ สิทธิประโยชน์ ทิศทาง การสนับสนุนทุนวิจัย เช่น การสนับสนุนเพื่อสร้างผลงานวิจัยและนักวิจัยระดับปริญญาโทและเอก การสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อสร้างผลงานที่เป็นนวัตกรรม หรือแก้ปัญหาภาคอุตสาหกรรม การสนับสนุนการสร้างเครือข่ายนักวิจัยระหว่างนักวิจัยในมหาวิทยาลัยและนักวิจัยในภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น