จากบทความเรื่อง “ล้วงเทคนิคถ่ายดาวเคราะห์จาก “คุณโก๊ะ” ช่างภาพดังจากฟิลิปปินส์” ผมได้กล่าวถึงการประมวลผลภาพด้วยโปรแกรมที่เป็นฟรีแวร์ ชื่อว่า Registax ซึ่งเป็นโปรแกรมที่นักดาราศาสตร์นิยมใช้ในการประมวลผลภาพถ่ายวัตถุท้องฟ้า โดยโปรแกรมสามารถประมวลผลได้ทั้งไฟล์ภาพนิ่ง และวิดีโอ
หลังจากเทคนิคการถ่ายภาพด้วยวิธี การถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าซ้ำๆ ต่อเนื่องจำนวนหลายๆ ภาพอาจเป็น 50-100 ภาพ หรือมากกว่านั้น และการการถ่ายภาพด้วยเทคนิคการถ่ายในรูปแบบวีดีโอ ซึ่งภาพแต่ละภาพจะมีความคมชัดในแต่ละบริเวณภาพที่แตกต่างกันไป อันเนื่องจากผลของมวลอากาศที่เคลื่อนที่ผ่านหน้ากล้องขณะถ่ายภาพ เมื่อเราได้ภาพจำนวนมากแล้ว เราก็จะนำภาพทั้งหมดมารวมกันเป็นภาพเดียวที่มีความคมชัดมากที่สุด ด้วยเทคนิคการทำ Stacking Image ด้วยโปรแกรม Registax
(สามารถอ่านเทคนิคการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า เพื่อนำมาใช้ในการทำ Stacking Image ย้อนหลังได้ที่ บทความการถ่ายภาพ “เทคนิคการถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงให้คมชัด” ตามลิงค์ http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000135301)
ความสามารถของโปรแกรม Registax มีจุดเด่นในการ Alignment คือ การจัดการตำแหน่งของภาพวัตถุท้องฟ้า ซึ่งอาจเคลื่อนไปจากตำแหน่งภาพก่อนหน้า ให้มาอยู่ ณ ตำแหน่งเดียวกันทั้งหมด และความสามารถในการทำ Stacking Image คือ การเลือกบริเวณที่มีความคมชัดที่สุด หรือที่ดีที่สุดของแต่ละภาพออกมาใช้ในการสร้างภาพ เช่น Contrast หรือ Sharpen ที่ดีที่สุดแสดงออกมา เพื่อให้ได้ภาพที่มีความคมชัดทั่วทั้งภาพนั่นเองครับ
ขั้นตอนการใช้งานโปรแกรม Registax มีรายละเอียดดังนี้
1.เลือกไฟล์ภาพที่ถ่ายไว้ขึ้นมาทั้งหมด จากเมนู Select โดยกด Ctrl+A เพื่อเลือกเปิดไฟล์ภาพทั้งหมด
2.เลือกรูปแบบการ Alignment โดยสามารถเลือกเป็นแบบ Default หรือแบบ Multi เพื่อกำหนดตำแหน่งจุดอ้างอิงในการ Alignment
3.เลือกขนาดของพื้นที่ในการ Alignment ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของบริเวณที่ต้องการจะใช้ในการอ้างอิง
4.เลือกรูปแบบของคุณภาพ เป็นแบบ Gradient2
5.คลิกเมนู Align โปรแกรมจะทำการ Alignment จัดการตำแหน่งของภาพวัตถุท้องฟ้า ให้มาอยู่ ณ ตำแหน่งเดียวกันทั้งหมด
6.คลิกเมนู Limit จากนั้นโปรแกรมจะเปิดหน้าต่างใหม่ขึ้นมาเพื่อให้ เลือกคำสั่ง Optimize & Stack
7.คลิกเมนู Optimize & Stack เพื่อการทำ Stacking Image โดยโปรแกรมจะเลือกบริเวณที่มีความคมชัดที่สุด ของแต่ละภาพออกมาสร้างเป็นภาพที่มีความคมชัดทั่วทั้งภาพ
8.ปรับความคมชัดและการแสดงรายละเอียดของภาพได้จากเครื่องมือ โปรแกรมจะแสดงผลการปรับค่าเพียงบางส่วนของภาพเท่านั่น
9.เมื่อปรับความคมจนเป็นที่พอใจแล้ว คลิกที่เมนู Do All เพื่อให้โปรแกรมทำการปรับภาพทั่วทั้งภาพ
10.คลิกเมนู Final เพื่อเข้าสู่หน้าต่างใหม่ เพื่อทำการ Save ภาพ
11.หน้าต่างสุดท้าย มีเมนูให้ปรับค่าความอิ่มสีและความสว่างของภาพ ร่วมทั้งการปรับมุมของภาพ หลังจากที่ปรับทุกอย่างจนพอใจแล้ว คลิกเมนู Save Image โดยเลือกรูปแบบไฟล์การ Save เป็นแบบ TIFF เพื่อความยืดหยุ่นในการนำไปปรับในภายหลัง
จากขั้นตอนข้างต้น สามารถทดลองปรับค่าต่างๆ เพื่อความเหมาะสมกับภาพถ่ายได้ ซึ่งในขั้นต้นเราอาจต้องลองผิดลองถูกดูครับ ซึ่งคำแนะนำข้างต้นก็เป็นเพียงวิธีการเบื้องต้นเท่านั้น โปรแกรมยังสามารถนำไฟล์วีดีโอมาใช้ในการ Stacking Image อีกด้วย ซึ่งการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า เช่นดาวเคราะห์ ปัจจุบันนิยมถ่ายภาพด้วยเว็บแคม ในรูปแบบไฟล์ วิดีโอ เนื่องจากจะได้จำนวนภาพที่มากกว่า การถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอลทั่วไป
ตัวอย่างภาพดวงจันทร์ที่ผ่านจากประมวลผลจากโปรแกรม Registax จากจำนวนภาพทั้งหมด 22 ภาพ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ : Canon EOS 450D + Takahashi TOA150 F:1100mm / F7.3/ 1/400 วินาที / ISO 200)
ตัวอย่างภาพดวงอาทิตย์ที่ผ่านจากประมวลผลจากโปรแกรม Registax จากจำนวนภาพทั้งหมด 40 ภาพ ในภาพแสดงให้เห็นรายละเอียดของ Sunspot และพื้นผิวของดวงอาทิตย์ได้อย่างคมชัดมากขึ้น (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ : Canon EOS 7D + Takahashi TOA150 F:1100mm / F7.3/ 1/500 วินาที / ISO 100)
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน