ชี้ผลทดสอบระบายน้ำเป็นไปด้วยดี ระบายน้ำวินาทีละ 17 ลูกบาศก์เมตร ไม่พบน้ำล้นตลิ่ง พร้อมแจงน้ำท่วมอยุธยาไม่เกี่ยวทดสอบระบายน้ำ เพราะห่างถึง 20 กิโลเมตร และยังมีฝนตกต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ ชี้ให้ไปดูว่าสร้างกำแพงกั้นจนน้ำไม่มีทางไปหรือไม่
ดร.รอยล จิตรดอน ประธานคณะทำงานคณะอนุกรรมการติดตามวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและจัดสรรน้ำ สรุปผลการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการทดสอบประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ปลายน้ำ ซึ่งมีการทดสอบการระบายน้ำทางฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ ในวันที่ 5 ก.ย.55 ว่า ผลทดสอบเป็นไปด้วยดี ซึ่งหลังการทดสอบครั้งนี้จะต้องทำการทดสอบต่อไปอย่างต่อเนื่อง และก่อนน้ำจะมาซึ่งรู้ล่วงหน้า 40-50 วันนั้นให้ปล่อยน้ำออกให้หมดก่อน
ทั้งนี้ ดร.สุรเจตน์ บุญญาอรุณเนตร เลขาธิการฝ่ายปฏิบัติการคณะอนุกรรมการ ระบุตัวเลขจากการทดสอบว่า ปริมาณฝนที่ตกในวันทดสอบนี้มีปริมาณสูงสุด 12.4 มิลลิเมตร ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่จะยุติการทดสอบคือ 30 มิลลิเมตร ส่วนระดับน้ำระหว่างการทดสอบเวลา 14.00-17.00 น.นั้นไม่พบระดับน้ำล้นตลิ่ง
“การเดินเครื่องผลักดันน้ำที่วางไว้ 10 จุด ในคลองทวีวัฒนาและคลองราชมนตรีนั้นเริ่มเดินเครื่องตั้งแต่ 6 จุดไปถึง 10 จุด เมื่อเวลา 15.00 น.และลดจำนวนการเดินเครื่องผลักดันน้ำเหลือ 7 เครื่องเมื่อเวลา 16.30 น.แล้วหยุดเดินเครื่องเมื่อเวลา 17.30 น.ส่วนประสิทธิภาพการระบายน้ำนั้นจากเดิมวางไว้ที่ 7 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ในการทดสอบจริงเริ่มเดินเครื่องระบายน้ำที่ 11 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากนั้นเดินเครื่องเต็มศักยภาพที่ 17 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่พบระดับน้ำล้นตลิ่ง” ดร.สุรเจตน์ รายงาน
ส่วนกรณีน้ำท่วมที่ จ.อยุธยา นั้น ดร.รอยล ได้ชี้แจงว่า จุดที่เกิดน้ำท่วมนั้นห่างจากคลองรับน้ำถึง 20 กิโลเมตร โดยได้มีการหรี่ประตูระบายน้ำพระราม 6 เพื่อให้น้ำเข้าคลองระพีพัฒน์แยกใต้โดยส่งน้ำมาทางคลองหกวา เพื่อไม่ให้น้ำเข้าบางปะอิน แต่ในพื้นที่น้ำท่วมนั้นมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 10-20 มิลลิเมตรต่อเนื่องเกินสัปดาห์ และต้องไปดูด้วยว่ามีการกั้นกำแพงจนน้ำไม่สามารถไหลไปที่อื่นได้หรือไม่