xs
xsm
sm
md
lg

ศุกร์นี้ “บลูมูน” ส่งท้ายรับสารทจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพพระจันทร์เต็มดวงครั้งแรกของเดือน ส.ค.ในปารีส ฝรั่งเศส (สเปซด็อทคอม/VegaStar Carpentier)
สดร.- คืนวันพระจันทร์เต็มดวงในวันศุกร์นี้ซึ่งตรงกับ “วันสารทจีน” เป้นอีกคืนพิเศษเพราะเกิดปรากฏการณ์ “บลูมูน” ปรากฏการณ์จันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ในรอบเดือน และเป็นปรากฏการณ์ส่งท้ายก่อนจะเกิดขึ้นอีกครั้งใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งรอบศตวรรษเกิดขึ้นเฉลี่ยเพียง 37 ครั้ง

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 31 ส.ค.55 ที่จะถึงนี้ จะเกิดปรากฏการณ์บลูมูน (Blue Moon) หรือ ดวงจันทร์จะเต็มดวงรอบที่สองในเดือนเดียวกัน ซึ่งโดยปกติแล้วปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวง (Full Moon) จะเกิดขึ้นเพียงเดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น หากเดือนไหนที่มีดวงจันทร์เต็มดวง 2 ครั้ง จะเรียกดวงจันทร์เต็มดวงในครั้งที่สองว่า “บลูมูน” ในภาษาอังกฤษมีสำนวนว่า “Once in a blue moon” หมายถึงนาน ๆ จะเห็นสักครั้ง หรือเปรียบได้กับคำว่า “Rarely” ในภาษาอังกฤษ

ปรากฏการณ์บลูมูนเกิดขึ้นเนื่องจากใน 1 ปี มี 12 เดือน และบางเดือนมี 30 วัน บางเดือนมี 31 วัน แต่ว่ารอบของดวงจันทร์มีเพียง 29.53059 วันต่อเดือน และใน 1 ศตวรรษจะมีทั้งหมด 1200 เดือน โดยจะเกิดดวงจันทร์เต็มดวงได้ถึง 1236.83 ครั้ง แต่จะเป็นบลูมูนแค่ 36.83 ครั้ง เฉลี่ยแล้วประมาณ 2.72 ปีต่อครั้ง หรือประมาณ 3% ของฟูลมูน จะเป็นบลูมูน แต่ที่พิเศษกว่านั้นคือจะมีการเกิดบลูมูนปีละ 2 ครั้งในทุก ๆ 19 ปี ซึ่งปีล่าสุดที่เกิดบลูมูน 2 ครั้งซ้อนในหนึ่งปี (Double Blue Moons) ก็คือปี พ.ศ. 2542 และถัดไปคือปี พ.ศ. 2561

สำหรับในวันที่ 31 ส.ค.55 ผู้สังเกตจะเห็นดวงจันทร์เต็มดวง รอบที่สองในเดือนเดียวกันทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เวลาประมาณ 18.18 น. โดยดวงจันทร์เต็มดวงอย่างสมบูรณ์เวลาประมาณ 20.57 น. และตกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ในเช้าของวันที่ 1 ก.ย.55 เวลาประมาณ 05.37 น. ตามเวลาประเทศไทย ทั้งนี้ ดวงจันทร์จะสว่างเต็มดวงเหมือนเช่นเคยโดยไม่เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินแต่อย่างใด และเรายังสามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์บลุมูนครั้งต่อไปได้ในวันที่ 2 ก.ค.58
ปฏิทินแสดงการเกิดปรากฏการณ์จันทร์เต็มดวงในเดือน ส.ค. ซึ่งตรงกับวันที่  2 และ 31 โดยปรากฏการณ์ครั้งหลังเรียกว่า บลูมูน เนื่องจากเป็นปรากฏการณืที่นานครั้งจะเกิดจันทร์เต็มดวงถึง 2 ครั้งในรอบเดือน และเกิดขึ้นได้เนื่องจากดวงจันทร์มีรอบเพียง 29.53 วัน แต่ในรอบเดือนส่วนใหญ่นั้นมี 30 วัน หรือ 31 วัน (สดร.)
อินโฟกราฟิก แสดงปฏิทินอธิบายการเกิดปรากฏการณ์บลูมูนจากสเปซด็อทคอม และพยายามสื่อว่าบลูมูนไม่ใช่จันทร์สีน้ำเงินเหมือนชื่อ
ภาพเครื่องบินตัดดวงจันทร์เต็มดวงเมื่อวันที่ 1 ส.ค. ในฮุสตัน เท็กซัส สหรัฐฯ ตามเวลาของซีกโลกตะวันตก (สเปซด็อทคอม/Sid Vedula)


การเกิดบลูมูนในอีก 30 ปีข้างหน้า

พ.ศ.จันทร์เต็มดวงครั้งแรกของเดือนจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน
2555Full Moon - 02 สิงหาคม 2555Blue Moon - 31 สิงหาคม 2555
2558Full Moon - 02 กรกฎาคม 2558Blue Moon - 31 กรกฎาคม 2558
2561Full Moon - 02 มกราคม 2561Blue Moon - 31 มกราคม 2561
2561Full Moon - 02 มีนาคม 2561Blue Moon - 31 มีนาคม 2561
2563Full Moon - 01 ตุลาคม 2563Blue Moon - 31 ตุลาคม 2563
2566Full Moon - 01 สิงหาคม 2566Blue Moon - 31 สิงหาคม 2566
2569Full Moon - 01 พฤษภาคม 2569Blue Moon - 31 พฤษภาคม 2569
2571Full Moon - 02 ธันวาคม 2571Blue Moon - 31 ธันวาคม 2571
2574Full Moon - 01 กันยายน 2574Blue Moon - 30 กันยายน 2574
2577Full Moon - 01 กรกฎาคม 2577Blue Moon - 31 กรกฎาคม 2577
2580Full Moon - 02 มกราคม 2580Blue Moon - 31 มกราคม 2580
2580Full Moon - 02 มีนาคม 2580Blue Moon - 31 มีนาคม 2580
2582Full Moon - 02 ตุลาคม 2582Blue Moon - 31 ตุลาคม 2582
2585Full Moon - 01 สิงหาคม 2585Blue Moon - 31 สิงหาคม 2585


- ข้อมูลจาก สดร.
กำลังโหลดความคิดเห็น