xs
xsm
sm
md
lg

ของเล่นเป็นเรื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ แนะนำคอลัมน์ใหม่ ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์ เล่าเรื่องวิทย์ๆ ผ่านมุมมอง “นายปรี๊ด” นักเรียนทุนวิทยาศาสตร์ผู้มากประสบการณ์ด้านสร้างความตระหนักวิทยาศาสตร์...

“ไขกาซาปอง” ของเล่นสำหรับสะสมของญี่ปุ่นเป็นแรงบันดาลใจที่ทำผมทึ่งในรายละเอียดและประเด็นทางวิทยาศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ภายในเสมอ ภาพนี้เป็นไข่กาซาปองชุดใหม่ที่พึ่งวางขาย เมื่อเปิดออกมาเป็น barnacle หรือ "เพรียงทะเล” ของญี่ปุ่นดูดีๆ มันแบ่งครึ่งจนเห็นสัตว์ที่ซ่อนด้านในเปลือกได้ด้วย... และที่สำคัญของเล่นพวกนี้ยัดความสำคัญของวิทยาศาสตร์และชีวิตใกล้ตัวลงสู่มือเด็กญี่ปุ่นได้แบบเนียนๆ

หากใครเคยเดินเล่นบนเกาะญี่ปุ่นคงเคยมีประสบการณ์ “หยอดเหรียญแลกของ” จากตู้อัตโนมัติกันมาบ้าง เพราะวัฒนธรรมการใช้ตู้หยอดเหรียญถูกปรับมาใช้ขายของสารพัดสิ่งตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันหนังAV นั้นวางไว้ปล้นเงินในกระเป๋าอยู่ทั่วทุกหัวมุมถนน ของเล่นก็เป็นหนึ่งในของที่ถูกเทลงตู้เพื่อตามงาบเงินในกระเป๋าของเด็กๆ ด้วยเหมือนกัน แถมตอนนี้ก็เริ่มอาละวาดกลืนเหรียญไปทั่วโลกแล้วด้วย ไข่กาซาปองที่ผมพูดถึงก็อยู่ในกลุ่ม “ของเล่นจากตู้หยอดเหรียญ” หรือ “capsule toy vending machine” เหมือนกัน ยิ่งรู้ที่มาที่มาของชื่อก็ทำเอาอมยิ้มได้แล้วเพราะมันถูกตั้งจากกลไกของตู้ที่เมื่อหมุนเหรียญจะดัง “กาซา (ガシャ)” แล้วพอของเล่นในไข่กลมๆ หล่นลงมาก็จะดัง “ป๋อง (ポン)” จนกลายมาเป็น “กาซาปอง(ガシャポン) ” แค่การตลาดที่ล่อเด็กไปไขตู้เพื่อลุ้นเสียงของเล่นหล่นดัง “กาซา...ป๋อง” ก็กินขาดแล้ว (คนคิดชื่อนี่เทพแท้ๆ หุหุ) ประวัติศาสตร์ของเล่นกดตู้ของญี่ปุ่นเริ่มเมื่อปี 1956 และได้นิยมสูงสุดในยุค 90 ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการ์ตูนหรืออนิเมะด้วยการตลาดที่เริ่มต้นด้วยการใส่ตัวการ์ตูนกาโม่กิ๊กก็อกราคา 100 เยนไว้ในไข่ที่หล่นลงมาทำให้เป็นที่นิยมในหมู่ตี๋หมวยกระโปรงบานขาสั้นจำนวนมาก จนปี 2006 บริษัทของเล่นยักษ์ใหญ่อย่าง Bandai กระโดดลงมาร่วมวงด้วยการผลิตโมเดลการ์ตูนคลาสสิกอย่างคินิคุแมนและหุ่นกันดั้มในราคาที่แพงขึ้นสามเท่าแต่ปราณีตและสวยงามขึ้นชื่อเสียงของกาซาปองจึงถูกกล่าวถึงในวงกว้างโดยเรียกลูกค้ากลุ่มวัยรุ่นและคนวันทำงานมาแย่งเด็กกดตู้ของเล่นแต่นั้นเป็นต้นมา

หลักไมล์ของกาซาปองที่เริ่มปรับจากโมเดลตัวการ์ตูนจากอนิเมะชื่อดังสู่การยัดโลกเรื่องราววิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยาสู่มือเด็กญี่ปุ่นเกิดขึ้น เมื่อบริษัท Kiayado ซ่อนแคปซูลใส่สารพัดสัตว์ตัวจิ๋วลงไปในขนมช็อกโกแลตทรงไข่ในชื่อ “Choco Egg (チョコエッグ) ” และ “ChocoQ (チョコ Q)” ซึ่งเป็นการก็อปปี้ไอเดียมาจากช็อกโกแล็ตแดนตะวันตกแบรนด์ “Kinder Surprise” ค่ายเยอรมัน เมื่อเด็กๆ แกะฟลอยห่อช็อกโกแลตรูปไข่และกระเทาะเปลือกบางๆ ออกมาก็จะพบแคปซูลขนาดสามนิ้วซ่อนอยู่ เมื่อแกะแคปซูลออกมาก็จะพบชิ้นส่วนขนาดจิ๋วที่สามารถนำมาต่อกันเป้นสัตว์ตัวเล็กๆที่สวยงามราวกับหายใจได้จริงพร้อมแผ่นพับเล็กๆที่ให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สำหรับเสริมความรู้ แถมแปะโฆษณามาพร้อมว่าเป็นการจำลองสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงบนเกาะญี่ปุ่นให้เด็กๆ สะสม และด้วยฝีมือการออกแบบของ “ซิโนบุ มัทซึมูระ” ซึ่งเคยดูแลการผลิตหุ่นจำลองไดโนเสาร์ให้กับพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งเมืองนิวยอร์กทำให้ความนิยมของบรรดาสัตว์ตัวจิ๋วพวกนั้นโลดเล่นสู่บ้านเรือน โรงเรียน และพิพิธภัณฑ์ต่างๆ อย่างกว้างขวาง ว่ากันว่าเมื่อเริ่มแรกไข่ช็อกโกแลตพวกนี้ขายแทบไม่ออกเพราะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (แถมดันเอาสัตว์ไปซ่อนไว้ในไข่ซะมิดขนาดนั้น) จนเมื่อมีอาจารย์สอนชีววิทยาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งลองซื้อไปและติดใจขนาดนำไปสอนในห้องเรียน ความสนใจในเรื่องราวของของเล่นชนิดใหม่ก็เริ่มกระจายสู่บรรดานักธรรมชาติวิทยา และผู้จัดการพิพิธภัณฑ์จนถึงขั้นนำไปจัดนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาหลายแห่ง เมื่อผู้ปกครองเด็กๆ มาพบเข้าก็ไม่แน่แปลกใจที่เศษพลาสติกด้อยค่าจะเปลี่ยนเป็นสื่อการสอนที่ประเมินค่าไม่ได้ในทันที ส่งผลให้ยอดขายไข่ช็อกโกแลตซ่อนสัตว์พุ่งกระฉูดถึง 16 ล้านชิ้นภายในเวลาสองปี

จากนั้นความนิยมโมเดลสัตว์ย่อส่วนได้ขยายตัวไปสู่ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์ในรูปแบบอื่นๆ ที่เน้นการให้ข้อมูลวิทยาศาสตร์พร้อมเสิร์ฟสำหรับเด็กและเปิดหนทางสู่การสะสมของบรรดาเด็กโข่งนักสะสมด้วย โดยเฉพาะเมื่อบริษัท Bandai และ Yujin ผู้ผลิตของเล่นรายใหญ่จับทางได้ ตัวการ์ตูนอนิเมะในไข่กาซาปองจึงเริ่มขันแข่งกันแปลงร่างเป็นของเล่นเพื่อการศึกษาและวิทยาศาสตร์จนเลือกกดตุ้กันแถบไม่ถูก เช่น ชุดสารานุกรรมสัตว์เฉพาะถิ่นของญี่ปุ่น 50 ชนิดที่สัตว์ในสารานุกรรมถูกสร้างมาให้จับต้องไดคู่กับการเปิดหนังสือ กาซาปองชุดดาวเคราะห์จิ๋ว ชุดแมลงเฉพาะถิ่น ชุดนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นที่น่ารู้จัก ชุดสัตว์เรืองแสงในทะเล ชุดความหลากหลายของนกและรัง สิ่งมหัศจรรย์ของโลก หรือแม้กระทั่งชุดอวัยวะมนุษย์ขนาดจิ๋วที่สามารถมองทะลุผ่านกล้ามเนื้อและนำอวัยวะต่างๆ ถอดออกมาเล่นได้เหมือนกับการจำลองห้องเรียนชีววิทยามาไว้บนหัวเตียงกันเลยทีเดียว จนเรียกได้ว่าในญี่ปุ่นนั้นไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ชื่นชอบธรรมชาติและวิทยาศาสตร์สามารถสร้างพิพิธภัณฑ์ขนาดจิ๋วหรือนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนได้ตามความสนใจส่วนตัว ซึ่งถือเป็นแรงบบันดาลใจในเรื่องสื่อวิทยาศาสตร์ที่ดีมาก จนต้อง “จุ๊ปาก” ว่าของเล่นของพี่ยุ่นนั้น “เค้าเทพจริง!”
ของเล่นสัตว์จิ๋วชุด ChococoQ และ Chocoegg ซึ่งปัจจุบันขึ้นชั้นเป็นของเล่นคลาสิกของญี่ปุ่น ถึงเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของพิพิธพันธ์ที่จัดแสดงของเล่นและผลิตภันณ์ของบริษัทไคโยโด หรือ Kaiyodo Figure Museum ในเขตนางาฮาม่า เมืองไซงะ เป็นเทศญี่ปุ่น (panoramio.com)
ของเล่นหยอดเหรียญ หรือกาซาปองที่ใครไปเยือนประเทศญี่ปุ่นก็จะสามารถพบเห็นอยู่ทั่วไป และได้ขยายอนาจักรไปสู่เมืองเศรษฐกิจหลักๆ ทั่วโลก ทั้งอเมริกา ยุโรป จีนอ่องกง หรือแม้แต่เมืองไทยเองก็สามารถพบได้ตามศูนย์การค้าทั่วไป (flickr.com/photos/eyesofrc)
(ซ้าย) ไคน์เดอร์ เซอร์ไพร์ส (Kinder Surprise) ต้นแบบของไข่ช็อกโกแลตแถมของเล่นที่เริ่มต้นผลิตในเยอรมัน (fabzilicious.org) และ (ขวา) นกหงยกษ์ตัวจิ๋วในไข่ช็อกโกแลตสัญชาติญี่ปุ่น (ikjeld.com)
Chocoe egg รุ่นแรกๆ ของบริษัท Kaiyodo ถูกผลิตจากบริษัท Furuta โดยยังมีรายละเอียดไม่สวยงามเท่ากับชุดหลังๆ ที่ผลิตจากบริษัท Takara ที่ออกแบบโดยประติมากรชาวญี่ปุ่นซึ่งเคยดูแลการสร้างรูปปั้นไดโนเสาร์ให้พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งนิวยอร์ก (ascii24.ascii.jp)
ผู้บริหารบริษัท Kiayodo และ Takara ที่ร่วมกันผลิตช็อโกแลตไข่ซ่อนสัตว์จิ๋วที่ได้รับนิยมมาก จนมียอดขายเกิน 16 ล้านชิ้นในปี 2000 จนต้องมีการตีพิมพ์สารานุกรมสัตว์ในไข่ช็อกโกแล็ต (Choco Egg Animal Encyclopedia) เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของเด็กที่ต้องการเรียนรู้เรื่องราวของสัตว์จิ๋วอย่างละเอียดและผู้ใหญ่ที่ใช้เป็นคู่มือการสะสมของเล่น (ascii24.ascii.jp)
กาซาปองเพื่อการศึกษาและการสะสมในยุคหลังๆ ได้รับอิทธิพลจากความสำเร็จจาก Choco egg และ ChocoQ จึงผลิตสินค้าที่เน้นสิ่งมีชีวิตรอบตัวของคนญี่ปุ่นและสอดแทรกเรื่องราวทางะรรมชาติวิทยาและวิทยาศาสตร์เข้าไปอย่างกลมกลืน เช่นชุดเพรียงทะเลผ่าครึ่งเพื่อศึกษาตัวสัตว์ที่ซ่ออยู่ในเปลือกแข็ง ผักพื้นบ้านตามฤดูกาล หัวแมลงแบบขยายใหญ่เพื่อศึกษาโครงสร้างตาและปาก และชุดสัตว์ทะเลที่แสดงโครงสร้างของกระดูกและพฤติกรรมการกินอาหารในธรรมชาติ ภาพทั้งหมดจาก (plaza.rakuten.co.jp/toridouraku/diary)
คนญี่ปุ่นทำของเล่น “ให้เป็นเรื่อง” โดยเปลี่ยนวิทยาศาสตร์รอบตัวเด็กและความรู้ที่เหมือนยาขมเป็นขนมรสหวานได้อย่างน่าคิด ถือเป็นการใช้ของเล่นพัฒนาความรู้คู่ขนานไปกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจในแบบบับของตนเอง แม้บ้านเราจะมีชื่อในด้านการผลิตของเล่นส่งออกจากไม้ยางพาราแต่ก็ยังเน้นการผลิตในรูปแบบของของเล่นเด็กอ่อน จากประสบการณ์ในการทำสื่อวิทยาศาสตร์มาพอสมควร ผมพบว่ากระบวนการผลิตของเล่นไทยที่ต้องการผสมเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์อย่างญี่ปุ่นนั้นมีปัญหาในเรื่องการตลาด ความถนัดของผู้ผลิต และขาดการต่อท่อระหว่างนักวิทยาศาสตร์ถึงนักออกแบบของเล่นอย่างมาก อีกทั้งพฤติกรรมการเล่นของเด็กไทยในยุคนี้ก็เปลี่ยนไป หรือเราอาจจะต้องคิดถึงการปรับรูปแบบจากสิ่งที่มีอยู่ในมือให้มีประโยชน์หลากหลายมากขึ้น? เช่น เรามีสินค้า OTOP อร่อยลิ้นมากกมายแต่เราจะสามารถปรับรูปแบบและการนำเสนอของเล่นไม้ยาพารา งูไม้ระกำ ตุ๊กตาผ้าไหม ตุ๊กตาชาววัง ให้เป็นความรู้ที่อร่อยสมอง สู้กับกระแส “เกมแองกรีเบิร์ด” บนแท็บเลตจะพอเป็นไปได้ไหม? ผมว่าหากใครจะลองแปรรูป OTOP เป็น OTEM (One Thumbon one Education Media) บ้างน่าจะเป็นเรื่อง “ว้าว” น่าดูชมในสัมคมไทย...แต่ว่าท่าจะยาก เพราะบ้านเราอากาศร้อนต้องจ่ายค่าแรงแพง หรือผมคิดไปเอง? ... หุหุ



…...........

เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด”
นักเรียนทุนวิทยาศาสตร์ที่บ่น โวยวาย บ้าพลังและไม่ชอบกรอบ แต่มีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์ล้นเหลือระหว่างตะกายบันไดการศึกษาสู่ตำแหน่ง “ด็อกเตอร์” ด้านชีววิทยา ทั้งงานสอน ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการเรียนวิทยาศาสตร์ ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์ กรรมการตัดสินโครงงานวิทยาศาสตร์และวิทยากรบรรยายเรื่องวิทยาศาสตร์ใกล้ตัว

"แคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ สะกิดต่อมคิด"

อ่านบทความของนายปรี๊ดได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์
กำลังโหลดความคิดเห็น