xs
xsm
sm
md
lg

อัดนโยบายศก.ปู เครื่องดื่ม-ค่ารถจ่อปรับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ภาคเอกชนซัดรัฐบาลออกนโยบายเอื้อคนแค่บางกลุ่มได้รับผลประโยชน์ ไม่ทั่วถึงประชาชน อุตฯเครื่องดื่มเตรียมหารือสมาชิก 18 เม.ย.นี้ถึงผลกระทบต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น จ่อปรับขึ้นราคาสินค้า ด้าน 3 สมาคมรถร่วมฯขสมก.นัดประชุม 25 เม.ย. รอฟังมติกรรมการขนส่งกลางให้ขึ้นค่าโดยสารหรือไม่ ยืนยันไม่มีทางเลือกอื่น

นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของไทย กล่าวว่า ภาพรวมของภาวะ เศรษฐกิจไทยขณะนี้ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีอยู่ แม้ว่าปัจจุบันผู้ผลิตจะต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากต้นทุนวัตถุดิบการผลิต ต้นทุนค่าแรงงานขั้นต่ำที่ปรับสูงขึ้นก็เป็น 300 บาทต่อวัน ใน 7 จังหวัดนำร่องตามนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศและมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้นตามด้วย ค่าครองชีพของผู้บริโภคก็สูงขึ้น แต่ว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังมีอยู่ มั่นใจว่า หากปีนี้ไม่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นมาอีก เชื่อได้ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับปีที่แล้วแน่นอน

อย่างไรก็ตาม นายบุญชัยวิเคราะห์ถึงการบริหารงานและนโยบายต่างๆของรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาว่ามีหลายนโยบายที่รัฐบาลประกาศและบริหารงานแต่ไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากเท่าไรนัก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการรับจำนำข้าว หรือนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน นโยบายบ้านหลังแรก นโยบายรถยนต์คันแรก และนโยบายการแจกแท็บแล็ต เป็นต้น

เนื่องจากนโยบายดังกล่าวจะเกิดผลประโยชน์ต่อกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้น แต่กลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาลเลย ทั้งนี้รัฐบาลควรฟังข้อเสนอต่างๆจากภาคเอกชนบ้างว่า ต้องการอะไรบ้าง

ล่าสุดกับนโยบายปรับเงินเดือนปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท ที่จะเลื่อนมีผลบังคับใช้ออกไปอีก 2 ปีข้างหน้าหรือปี 2557 นั้น ภาคเอกชนคงต้องเลื่อนออกไปด้วย เพราะค่าแรง 300 บาทต่อวันก็ส่งผล กระทบอย่างมากแล้ว

นางสาวดวงใจ คูห์ศรีวินิจ นายกสมาคมอุตสาหกรรมของเล่นไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลบริหารประเทศเพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งหมด ไม่ใช่ออกนโยบายมาเพื่อกลุ่มการเมือง หรือกลุ่มใดเป็นพิเศษ และอย่าคำนึงแต่ผลทางด้านการเมืองเพียงอย่างเดียว

ส่วนนโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน ถ้ารัฐบาลเลื่อนใช้นโยบายนี้ออกไป เอกชนก็จะเลื่อนการปรับเงินเดือนด้วยเช่นกัน เพราะเอกชนโดยเฉพาะระดับเอสเอ็มอีทุกวันนี้ก็มีต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นอยู่แล้วจากค่าแรง 300 บาทต่อวันอย่างมาก

“ตอนนี้เรากำลังยื่นเรื่องขอปรับราคาขายสินค้าขึ้นกับลูกค้าในต่างประเทศประมาณ 10%เพราะว่าตอนนี้วัตถุดิบทุกอย่างขึ้นราคาแล้ว 10% เอกชนก็จำเป็นต้องขยับราคาขายสินค้าไปต่างประเทศด้วย ซึ่งยังไม่รู้ว่าลูกค้าในต่างประเทศจะยอมให้เราปรับราคาขึ้นหรือไม่”

**เครื่องดื่มเตรียมขึ้นราคา

นายประจวบ ตยาคีพิสุทธิ์ โฆษกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เปิดเผยว่า วันที่ 18 เม.ย.นี้ทางสมาคมฯจะหารือร่วมกับสมาชิกถึงภาวะต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งค่าขนส่งที่ปรับขึ้นจากภาวะราคาน้ำมันที่สูง ราคาวัตถุดิบ และบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ยังรวมถึงกรณีล่าสุดการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันที่มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 1 เม.ย.นำร่องใน 7 จังหวัดเพื่อประเมินถึงทิศทางและแนวโน้มการปรับขึ้นราคาสินค้า

“ ค่าแรงขึ้นยอมรับว่ามีผลต่อการดำเนินธุรกิจแน่นอนแต่มากน้อยก็ต่างกันไป แต่ปัจจัยค่าแรงคงไม่มีเหตุผลพอที่จะขึ้นราคาสินค้า แต่หากพิจารณาต้นทุนรวมก็ยอมรับว่าทั้งค่าขนส่ง วัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ได้มีการปรับขึ้นไปแล้วโดยรวมจึงทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมากแต่รายใหญ่กับรายเล็กและกลางหรือเอสเอ็มอีก็จะมีความสามารถในการแบกรับภาระต้นทุนต่างกันและยังต้องดูสินค้าบางประเภทเองก็แข่งขันสูงการปรับขึ้นราคาถ้าเลือกได้ก็เชื่อว่าจะพยายามเป็นทางสุดท้าย”นายประจวบกล่าว

อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยภาพรวมมีศักยภาพดังนั้นการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ปี 2558 จะถือเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมนี้แต่ทั้งนี้อยู่ที่นโยบายของกระทรวงพาณิชย์ในเรื่องของการควบคุมราคาสินค้า เพราะบางรายการก็จัดอยู่ในบัญชีควบคุม บางรายการก็จัดอยู่ในประเภทต้องจับตาหรือเฝ้าระวัง ฯลฯดังนั้นภาคเอกชนจึงต้องการความชัดเจนในประเด็นดังกล่าวเพราะเมื่อการค้าเสรีแน่นอนว่าบทบาทของการควบคุมราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์เองก็จะต้องปรับเปลี่ยนไปด้วย

“เรื่องนี้คงจะต้องสอบถามไปยังหน่วยงานภาครัฐถึงการเตรียมพร้อมในเรื่องการควบคุมราคาสินค้าให้ชัดเจนว่าถ้าเราจะเข้าสู่ AEC การควบคุมราคาสินค้าในขณะนี้จะทำอย่างไร เพราะความเป็นจริงแล้วถ้าเราเข้าสู่ เสรีการค้า การค้าเองก็จะต้องมีความเสมอภาคหรือแฟร์เทรดด้วยเพราะหลายประเทศเครื่องดื่มเขาไม่ควบคุมราคา”นายประจวบกล่าว

ปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยมีการแข่งขันที่รุนแรงอยู่แล้วมีแบรนด์ผลิตภัณฑ์จำนวนมากทั้งมีความหลากหลายตั้งแต่น้ำอัดลม น้ำผลไม้ น้ำดื่ม ทั้งระดับท้องถิ่นเองก็มีผู้ผลิตอยู่ด้วย ดังนั้นจึงไม่ได้เป็นสินค้าผูกขาดตลาดแต่อย่างใดดังนั้นเมื่อไทยจะก้าวสู่ AEC ที่เหลือเวลาเพียง 2 ปีไทยเองก็ย่อมจะต้องมาดูบทบาทเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนเพื่อที่จะทำให้การค้านำไปสู่การแข่งขันแบบเสรีจริงๆ

***รถร่วมฯขสมก.จ่อขึ้นราคา

นายวิทยา เปรมจิตร์ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมบริการเอกชนหรือรถร่วมบริการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) เปิดเผยว่า จากราคาก๊าซธรรมชาติNGV สำหรับรถยนต์ที่ปรับขึ้นตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงาน(กบง.) อีก 50 สตางต์ต่อกิโลกรัม เป็น 10.50 บาทต่อกิโลกรัม มีผลเมื่อวันที่ 16 เมษายน -15 พฤษภาคม 2555นั้นได้ส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการรถร่วมฯขสมก.เพิ่มขึ้นประกอบกับภาระที่เพิ่มขึ้นจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทด้วย โดยผู้ประกอบการรถร่วมฯขสมก. 3 สมาคมประกอบด้วยสมาคมพัฒนารถร่วมบริการเอกชน,สมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารและสมาคมรถมินิบัสจะประชุมร่วมกันในวันที่25เมษายนเพื่อกำหนดท่าทีหลังจากรับฟังผลการประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ที่จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาปรับค่าโดยสารในวันดังกล่าว

ทั้งนี้ผู้ประกอบการได้เสนอขอปรับขึ้นค่าโดยสารระยะละ 2 บาท โดยรถธรรมดาปรับจาก 8 บาทเป็น 10 บาท ส่วนรถปรับอากาศจาก 12-24 บาทเป็น 14-26 บาทซึ่งเป็นอัตราค่าโดยสารที่คำนวนครอบคลุมราคาก๊าซ NGVที่ 14.50 บาทต่อกิโลกรัม โดยปัจจุบันรถร่วมทั้ง 3 สมาคมมีจำนวนประมาณ 6,000 คันโดยเกือบทั้งหมดได้เปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นNGV แล้วโดยเครื่องยนต์NGV ใช้เชื้อเพลิงมากกว่าเครื่องยนต์ดีเซลประมาณ40%และมีค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงสูงกว่า โดยคิดเป็นต้นทุนประมาณ 30%. ส่วนค่าแรงเป็นค่าใช้จ่าย10%

"ภาครัฐรู้ต้นทุนของผู้ประกอบดีแต่ที่ผ่านมามักมีการชะลอการปรับค่าโดยสาร เพราะมีนโยบายทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ค่าโดยสารไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงส่วยการปรับลดค่าขาให้แทนนั้น ปัจจุบันมีการลดค่าขาสำหรับรถร้อนเหลือ35บาทต่อคันต่อวันรถปรับอากาศเหลือ60บาทต่อคันต่อวันอยู่แล้ว เพราะรัฐไม่ให้ปรับค่าโดยสารก่อนหน้านี้ซึ่งไม่ได้ช่วยอะไรมากนักเพราะรายได้หลักของผู้ประกอบการมาจากค่าโดยสารจึงไม่มีทาง เลือก นอกจากนี้ปัจจุบันผู้ประกอบการยังประสบกับปัญหาการขาดแคลนคนขับและพนักงานเก็บค่าโดยสารอีกด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น