xs
xsm
sm
md
lg

รู้ไหมว่า...โลกใช้เวลา 10 ล้านปี ฟื้นจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจำนวนเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (Peter Arnold, Inc/เนชันนัลจีโอกราฟิก)
งานวิจัยใหม่เผยโลกใช้เวลา 10 ล้านปีฟื้นตัวหลังจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เมื่อ 250 ล้านปีก่อน ซึ่งสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่หายไปจากโลก เหลือพืชและสัตว์รอดเพียง 10% ซึ่งตอนนี้กำลังเป็นที่ถกเถียงกันว่า สิ่งมีชีวิตกลับมาอีกครั้งหลังหายนะรุนแรงได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นฟื้นคืนอย่างรวดเร็ว หรืออย่างช้าๆ

หลักฐานล่าสุดสนับสนุนการฟื้นคืนกลับอย่างรวดเร็วของสิ่งมีชีวิตหลังหายนะใหญ่ ซึ่ง PhysOrg.com ระบุว่า เป็นสิ่งที่ประเมินได้จากรายงานวิชาการของ ดร.เฉิน จงเฉียง (Dr.Zhong-Qiang Chen) จากมหาวิทยาลัยภูมิศาสตร์จีน (China University of Geosciences) ในเมืองอู่ฮั่น จีน และ ศ.ไมเคิล เบนตัน (Prof.Michael Benton) จาก (University of Bristol) ในอังกฤษ โดยพวกเขาพบว่าการฟื้นคืนของสิ่งมีชีวิตหลังจากวิกฤตใช้เวลาประมาณ 10 ล้านปี และได้รายงานเรื่องนี้ในวารสารเนเจอร์จีโอไซน์ (Nature Geoscience)

ทั้งนี้ มี 2 เหตุผลชัดๆ ที่เป็นเหตุหน่วงการฟื้นคืนสิ่งมีชีวิต คือ การรุนแรงอย่างที่สุดของวิกฤต และปัจจัยของหายนะที่ยังมีอย่างต่อเนื่องบนโลก หลังเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งแรกบนโลก โดยในช่วงปลายยุควิกฤตเพอร์เมียน (Permian) ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตทางชีววิทยาที่กระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกครั้งใหญ่ที่สุดนั้น ยังถูกกระตุ้นด้วยแรงสะเทือนของสิ่งแวดล้อมเชิงกายภาพ อย่างภาวะโลกร้อน ฝนกรด ภาวะน้ำในมหาสมุทรเป็นกรด และภาวะขาดออกซิเจนในมหาสมุทร ซึ่งมากเพียงพอที่จะคร่าสิ่งมีชีวิตทั้งบนบกและในทะเลไปถึง 90%
ภาพวาดจำนวนการเข้าครอบครองระบบนิเวศอย่างรวดเร็วของจุลินทรีย์หลังเหตุสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (John Sibbick/PhysOrg.com)
ดร.เฉิน กล่าวว่า มันยากที่จินตนาการได้ว่าสิ่งมีชีวิตจำนวนมากนั้นถูกฆ่าอย่างไร แต่ข้อมูลที่ชัดเจนจากร่องรอยหินทั้งในจีนและที่อื่นๆ ทั่วโลกนั้น บ่งชี้ว่าเหตุการ์ณในอดีตที่เกิดขึ้นนั้นเป็นวิกฤตรุนแรงที่สุดเท่าที่สิ่งมีชีวิตบนโลกเคยเผชิญ

งานวิจัยล่าสุดนี้แสดงให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมที่เหี้ยมโหดนั้นยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง 5-6 ล้านปีหลังเริ่มวิกฤต และยังซ้ำเติมด้วยวิกฤตคาร์บอนและออกซิเจน ภาวะโลกและปัจจัยเลวร้ายอื่นๆ สัตว์บางกลุ่มในทะเล และบนบกฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและเริ่มสร้างระบบนิเวศของตัวเอง แต่ต้องทุกข์ทรมานจากการถดถอยที่ซ้ำเติมมากขึ้น ไม่มีสิ่งมีชีวิตไหนที่ฟื้นคืนได้จริงๆ ในระยะแรกๆ เพราะระบบนิเวศอย่างถาวรยังไม่ถูกสร้างขึ้น

ด้าน ศ.เบนตัน ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังจากบริสตอล กล่าวว่า สิ่งมีชีวิตเหมือนจะคืนกลับมาอีกครั้ง จนมีวิกฤตใหม่มากระทบและดึงให้สิ่งมีชีวิตหดหายไปอีก วิกฤตคาร์บอนเกิดขึ้นซ้ำๆ หลายครั้ง และที่สุดสภาพสิ่งแวดล้อมกับคืนสู่ปกติและเอื้อต่อสิ่งมีชีวิตอีกครั้งหลังจากผ่านไป 5 ล้านปี (Edited)

หลังจากวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมสิ้นสุดความโหดร้าย ระบบนิเวศอันซับซ้อนจำนวนมากก็อุบัติขึ้น โดยในทะเลนั้นมีกลุ่มสิ่งมีชีวิตใหม่อย่างปูที่สืบต่อมาจากบรรพบุรุษและกุ้งทะเลขนาดใหญ่ รวมถึงสัตว์เลื้อยคลานทางทะเลกลุ่มแรกก็มีเข้ามาให้เห็น และสิ่งมีชีวิตกลุ่มเหล่านี้ก็เริ่มสร้างพื้นฐานสำหรับระบบนิเวศของชีวิตยุคใหม่

“เรามักจะมองเรื่องการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในแง่ลบทั้งหมด แต่ในกรณีนี้สิ่งมีชีวิตฟื้นคืนมาจริงๆ หลังจากผ่านไปหลายล้านปี และสิ่งมีชีวิตกลุ่มใหม่ๆ ก็อุบัติขึ้น เหตุการณ์ดังกล่าวได้ตั้งต้นวิวัฒนาการใหม่อีกครั้ง อย่างไรก็ดี สาเหตุของการคร่าสิ่งมีชีวิต ก็คือ ภาวะโลกร้อน ฝนกรด ภาวะมหาสมุทรเป็นกรด ซึ่งฟังดูคล้ายสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราในปัจจุบันอย่างน่าประหลาด บางทีเราน่าจะเรียนรู้บางอย่างจากเหตุการณ์ดึกดำบรรพ์นี้ได้บ้าง” ศ.เบนตัน ให้ความเห็น
กำลังโหลดความคิดเห็น