นราธิวาส - หัวหน้าศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร เตรียมจัดโครงการทำความดีถวาย “พ่อ” ไม่ฆ่า ไม่ขาย ไม่กิน สัตว์ป่าป่าพรุโต๊ะแดง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา หวังแก้ปัญหาสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์
วันนี้ (29 พ.ค.) ที่ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส นายมาเณศ บุญญานันท์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร อ.สุไหงโก-ลก จัดประชุมเพื่อสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการรณรงค์โครงการทำความดีถวาย “พ่อ” ไม่ฆ่า ไม่ขาย ไม่กิน สัตว์ป่าป่าพรุโต๊ะแดง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา
โดยเชิญหน่วยงานสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หน่วยงานฝ่ายปกครอง หน่วยงานฝ่ายความมั่นคง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และสื่อมวลชนในพื้นที่เข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องและแก้ไขปัญหาผู้ล่า ผู้ขาย ผู้ซื้อ สัตว์ป่าพรุโต๊ะแดง เนื่องจากปัจจุบัน พบว่า มีการเข้าไปล่าสัตว์ป่าในพื้นที่เพื่อการค้า และเพื่อการบริโภคเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้สัตว์ป่าตามธรรมชาติลดลง จนสูญพันธุ์ในที่สุด และในระยะยาว จะส่งผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศวิทยาของป่าพรุสิรินธรได้
นายมาเณศ บุญญานันท์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร กล่าวว่า จากพื้นที่ป่าสิรินธร หรือพรุโต๊ะแดง ซึ่งมีเนื้อที่กว่า 125,625 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส มีสัตว์ป่า ประมาณ 325 ชนิด แยกเป็นประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และยังมีแมลงอีกหลายชนิด ซึ่งขณะนี้ สัตว์หลายชนิดใกล้สูญพันธ์จากหลายปัจจัย ทั้งจากแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหารถูกทำลายจากไฟป่า การแปลงพื้นที่ป่าเป็นพืชที่เกษตรกรรม น้ำท่วม และที่สำคัญคือ เกิดจากพฤติกรรมของผู้ที่ชอบบริโภคสัตว์ป่า จนทำให้เกิดการฆ่า และการขายสัตว์ป่า
ดังนั้น เพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าที่มีความสำคัญต่อสมดุลทางธรรมชาติ แนวทางหนึ่งที่จะเข้ามาป้องกันและแก้ปัญหา คือ การรณรงค์ให้เกิดจิตสำนึกในการรักสัตว์ป่า และผืนป่าโครงการทำความดีถวาย “พ่อ” ไม่ฆ่า ไม่ขาย ไม่กิน สัตว์ป่าป่าพรุโต๊ะแดง ซึ่งจะใช้การดำเนินการเชิงรุกโดยการเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ป่า และแหล่งจำหน่ายสัตว์ป่าหากพบว่าเป็นกลุ่มผู้ล่า และผู้ขาย เมื่อตรวจพบการกระทำความผิดจะมีการตักเตือน และบันทึกข้อมูลแต่หากทำผิดซ้ำอีกก็จะถูกจับกุมเพื่อดำเนินคดีทันที
ส่วนผู้ซื้อในแต่ละหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน และผู้นำท้องถิ่น รวมถึงผู้นำศาสนา ร่วมกันสร้างความเข้าใจและสร้างความตระหนักในการทำลายชีวิตสัตว์ป่า พร้อมทั้งติดป้ายประชาสัมพันธ์โครงการในทุกหมู่บ้าน เพื่อสร้างจิตสำนึกในการทำความดีถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา
ทั้งนี้ ตั้งเป้าความสำเร็จของโครงการ โดยทำให้การล่า การจำหน่าย และการบริโภคสัตว์ป่าลดจำนวนลงในทุกหมู่บ้าน และเกิดการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการขยายผลของโครงการไปยังพื้นที่ป่าทุกแห่งทั้งจังหวัดนราธิวาส