xs
xsm
sm
md
lg

คนสะเอียบเอาด้วย-รุมต้านรัฐผลาญงบผุดเขื่อนแม่วงก์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - กลุ่มอนุรักษ์ป่าสะเอียบร่อนแถลงการณ์ร่วมต้านรัฐบาลสร้างเขื่อนแม่วงก์ ชี้เงื่อนงำผลาญงบลูกหลานมากถึง 13,280 ล้าน ผูกพันยาวถึงปีงบประมาณ 2562 แถมทำลายป่ากว่า 1.1 หมื่นไร่ กระทบพืชพันธุ์-สัตว์ป่าเพียบ

วันนี้ (12 เม.ย.) กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการสร้างเขื่องแม่วงก์ หยุดอ้างน้ำท่วมเพื่อทำลายป่า หยุดกู้เงินเพื่อมาทำลายป่า หยุดธุรกิจการเมือง หยุดผลาญงบประมาณแผ่นดิน หยุดเขื่อนแม่วงก์ โดยระบุว่ากรณีรัฐบาลได้มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 เมษายน 55 อนุมัติให้ดำเนินโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยจะใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 13,280 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้างถึง 8 ปี อีกทั้งยังผูกพันงบประมาณถึงปีงบประมาณ 2562 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง ความไม่ชอบมาพากลเป็นอย่างยิ่ง

การสร้างเขื่อนแม่วงก์นอกจากจะทำลายป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์กว่า 11,000 ไร่ ยังกระทบต่อพืชพันธุ์และสัตว์ป่าอีกมากมาย เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 57 ชนิด 26 วงศ์ สัตว์จำพวกนก จำนวน 305 ชนิด 53 วงศ์ สัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 22 ชนิด 11 วงศ์ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 7 ชนิด 4 วงศ์ และปลาน้ำจืดจำนวน 68 ชนิด 14 วงศ์

กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรชาวบ้านที่ทำหน้าที่พิทักษ์ป่าสักทองแก่งเสือเต้นมาอย่างยาวนาน เห็นว่ารัฐบาลไม่ควรกู้เงินมาทำลายป่าเพราะจะทำให้เกิดปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมตามมาในอนาคต และขอให้รัฐบาลยกเลิกการสร้างเขื่อนแม่วงก์ รวมทั้งยุติการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่ออนาคตของลูกหลาน และเพื่อป่าไม้ ซึ่งเปรียบเสมือนปอดของมวลมนุษยชาติ

แถลงการณ์ดังกล่าวได้เสนอให้รัฐดำเนินการพัฒนาแก้มลิง พัฒนาระบบเหมืองฝาย โดยใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชนเป็นหลักการสำคัญพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กกระจายทั่วทุกพื้นที่ ซึ่งสามารถทำได้เลยภายในหนึ่งปี ทั้งยังส่งผลกระทบต่อป่าไม้ สิ่งแวดล้อม และชุมชนน้อยมาก รวมทั้งใช้งบประมาณน้อยกว่าเขื่อนขนาดใหญ่ อีกทั้งยังเป็นการกระจายการจัดการน้ำให้ทุกพื้นที่ได้มีส่วนในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมอย่างแท้จริง

ที่สำคัญที่สุด รัฐต้องทำหน้าที่ปกป้องรักษาป่าที่เหลืออยู่อย่างเข้มงวด และฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้กลับมาทำหน้าที่รักษาสมดุลธรรมชาติ เพื่ออนาคตของลูกหลานต่อไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น