มนุษย์ยุคหินอาจใช้เวลาว่างยามเย็นนั่งเล่นรอบกองไฟ หรือร้องรำทำเพลงไปตามจังหวะดนตรีที่บรรเลงโดยศิลปินประจำเผ่า ไม่ใช่แค่จินตนาการ เพราะนักวิทยาศาสตร์โบราณคดีพบเครื่องดนตรีคล้ายฟลุต ที่เชื่อว่า เก่าแก่ที่สุดในโลก อายุกว่า 4 หมื่นปี ในถ้ำแถบตะวันตกของเยอรมนี สันนิษฐานเพราะมีดนตรีในหัวใจ ทำให้มนุษย์ยุคใหม่มีอารยธรรมเหนือกว่ามนุษย์นีแอนเดอร์ทัลที่เคยร่วมยุคสมัยเดียวกัน
บีบีซีนิวส์ รายงานการค้นพบเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ที่สุดในโลกจำนวน 2 ชิ้น ที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ยุคใหม่ หรือ โฮโม ซาเปียนส์ (Homo sapiens) ถูกค้นพบอยู่ภายในถ้ำไกเซนคลูสเทิล (Geissenkloesterle Cave) แถบเทือกเขาสวาเบียน จูรา (Swabian Jura) ทางตะวันตกของประเทศเยอรมนี ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งอารยธรรมออริกเนเชียน (Aurignacian) โดยงานวิจัยนี้เป็นการทำงานร่วมกันของทีมนักวิจัย 2 ชาติ จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) ประเทศอังกฤษ และมหาวิทยาลัยทูบิงเกน (Tubingen University) ประเทศเยอรมนี
จากการคำนวณอายุวัตถุโบราณดังกล่าวด้วยเทคนิคการวัดปริมาณคาร์บอน พบว่า เครื่องดนตรีโบราณนี้มีอายุเก่าแก่ประมาณ 42,000-43,000 ปี มีลักษณะเป็นเครื่องเป่า คล้ายฟลุตในปัจจุบัน แต่ชิ้นหนึ่งทำจากกระดูกของสัตว์ปีก ส่วนอีกชิ้นหนึ่งทำจากงาของแมมมอธ ถือได้ว่าเครื่องดนตรีโบราณนี้เป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและศิลปะที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบ และยังเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่ามนุษย์เรารู้จักสร้างศาสตร์และศิลป์แห่งดนตรีมานานกว่าที่เคยคิด ซึ่งผลการศึกษานี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร เจอร์นัล ออฟ ฮิวแมน อีโวลูชัน (Journal of Human Evolution) เมื่อไม่นานมานี้
ศ.นิค โคนาร์ด (Prof Nick Conard) นักวิจัยเยอรมัน ให้ข้อมูลว่า การวิจัยล่าสุดนี้ให้ผลสอดคล้องกับข้อสันนิษฐานของพวกเขาที่เฝ้าศึกษากันมาหลายปีแล้วว่า แม่น้ำดานูบ (Danube River) เป็นเส้นทางสายสำคัญในการอพยพย้ายถิ่นฐานของมนุษย์และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีต่างๆ เข้าไปสู่ยุโรปกลางในช่วงระหว่าง 40,000-45,000 ปีที่แล้ว
“ไกเซนคลูสเทิลเป็นถ้ำแห่งหนึ่งในจำนวนหลายๆถ้ำในแถบนั้นที่เป็นแหล่งอารยธรรมออริกเนเชียน ที่ให้กำเนิดนวัตกรรมมากมายในยุคโบราณ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับ ประติมากรรม ภาพเขียนเกี่ยวกับเทพเจ้า และเครื่องดนตรี สันนิษฐานว่ามนุษย์ยุคโบราณน่าจะใช้เครื่องดนตรีเหล่านี้บรรเลงเพลงในงานรื่นเริง หรือใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งบ่งบอกได้ถึงความเจริญรุ่งเรืองของอารยธรรมออริกเนเชียนในแถบสวาเบีย (Swabia) เมื่อครั้งโบราณกาล” ศ.โคนาร์ด อธิบาย
นักวิจัยยังให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า ดนตรีอาจจะเป็นสิ่งหนึ่งในการแสดงออกทางพฤติกรรมหลายๆ ด้านที่ส่งให้สปีชีส์ของมนุษย์ยุคใหม่มีวิวัฒนาการเหนือกว่ามนุษย์นีแอนเดอร์ทัล (Neanderthals) ที่เคยอาศัยอยู่ในยุโรป และสูญพันธุ์ไปจนหมดเมื่อ 30,000 ปีก่อน อีกทั้งดนตรียังมีบทบาทสำคัญในการดำรงรักษาไว้ซึ่งโครงข่ายทางสังคมขนาดใหญ่ และนี่ก็อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ยุคใหม่ขยายอาณาเขตไปได้ไกลกว่ามนุษย์นีแอนเดอร์ทัลที่มีความเป็นอนุรักษนิยมมากกว่า
ทั้งนี้ จากหลักฐานเครื่องดนตรีโบราณที่พบล่าสุดนี้ ยังบ่งชี้ได้ว่า มนุษย์ยุคใหม่เดินทางไปถึงดินแดนเหนือแม่น้ำดานูบตั้งแต่ก่อนยุคน้ำแข็งในช่วงประมาณ 39,000-40,000 ปีก่อนเสียอีก จากเดิมที่เคยเชื่อว่ามนุษย์ยุคใหม่เริ่มอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนดังกล่าวหลังจากผ่านพ้นยุคน้ำแข็งในช่วงนั้นไปแล้ว
“มนุษย์ยุคใหม่ที่อยู่ในช่วงเวลานั้นเคยอาศัยอยู่ในยุโรปกลางเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 ปี ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศไปในทางที่เลวร้ายขึ้น โดยช่วงเวลาดังกล่าวได้เกิดภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ก่อตัวขึ้นจากธารน้ำแข็งที่อยู่ทางตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก และอุณหภูมิของโลกก็ลดฮวบลง” ศ.ทอม ไฮแอม (Prof. Tom Higham) หัวหน้าทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด อธิบาย