21 พ.ค.นี้ มีผู้คนในเอเชียตะวันออกและฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ มีโอกาสได้ชมปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาวงแหวน” ปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในขณะที่ขนาดปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์ ทำให้มีแสงสว่างผ่านออกมาเหมือนวงแหวน แต่เมืองไทยเห็นได้แค่สุริยุปราคาบางส่วน
สเปซดอตคอม ระบุว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ซึ่งจะเห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวน (annular solar eclipse) คือ เอเชีย บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก และบางส่วนทางตะวันตกของอเมริกาเหนือ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วย โดยเมื่อดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์มากที่สุดจะกันแสงอาทิตย์ไว้ประมาณ 94%
ทั้งนี้ ฝั่งเอเชียได้เห็นปรากฏการณ์ในวันที่ 21 พ.ค.55 ขณะที่ฝั่งอเมริกาจะได้เห็นปรากฏการณ์ของเย็นของวันที่ 20 พ.ค.และนอกจากสุริยุปราคาวงแหวนแล้ว บางส่วนของสหรัฐฯ และแคนาดา รวมถึงบางส่วนประเทศไทยยังจะได้เห็นสุริยุปราคาบางส่วน (partial solar eclipse) ด้วย
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ระบุว่า ปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งนี้ เป็นแบบวงแหวนเพราะดวงจันทร์อยู่ในช่วงไกลจากโลกที่ระยะประมาณ 404,000 กิโลเมตร ทำให้ขนาดปรากฏเล็กกว่าขนาดปรากฏของดวงอาทิตย์ และเป็นสุริยุปราคาวงแหวนชุดซารอสที่ 128 โดยแนวการบังจะเริ่มทางตอนใต้ของจีนเคลื่อนไปทางตะวันออกผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกไปถึงทวีปอเมริกา
ประเทศไทยเห็นปรากฏการณ์ในรูปแบบสุริยุปราคาบางส่วน โดยเห็นได้ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งภาคตะวันอกเฉียงเหนือ เห็นดวงอาทิตย์แหว่งมากที่สุด และนานกว่าภาคอื่นๆ และชมปรากฏการณ์ได้ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 05.50 น. จนสิ้นสุดการบังเวลา 06.06 น. แต่โอกาสจะได้ชมปรากฏการณ์หรือไม่นั้น สดร.ระบุว่า ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วย เพราะดวงอาทิตย์อยู่ใกล้ขอบฟ้าจึงอาจมีเมฆบัง ส่วนภาคใต้ไม่สามารถเห็นปรากฏการณ์นี้
พร้อมกันนี้ สดร.ยังได้ส่งทีมนักวิชาการไปบันทึกภาพและเก็บข้อมูลสุริยุปราคาวงแหวน ณ ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากเงาจากคราสวงแหวนส่วนใหญ่พาดผ่านมหาสมุทรแปซิฟิก และพื้นที่ของญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะถูกบดบังจากเงาคราสวงแหวน โดยสามารถติดตามภาพภารกิจดังกล่าวได้ทาง www.narit.or.th และ Facebook/สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์โคจรมาอยู่ระหว่างโลกและดวงจันทร์ ทำให้เกิดเงาทาบมาบนโลก เมื่อดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งเรียงเป็นตรงพอดีกับดวงอาทิตย์และบังแสงอาทิตย์ได้หมด จะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง (total eclipse) ส่วนสุริยุปราคาบางส่วนนั้นเกิดขึ้นดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์แค่เพียงบางส่วน
กรณีสุริยุปราคาวงแหวนนั้นคล้ายการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่ดวงจันทร์โคจรมาอยู่เป็นแนวเส้นตรงพอดีกับดวงอาทิตย์ แต่กรณีนี้ดวงจันทร์กำลังสู่ตำแหน่ง “อะโพจี” (apogee) หรือตำแหน่งที่อยู่ไกลโลกมากที่สุดในวงโคจรรูปวงรีที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก ดังนั้น ขนาดปรากฏของดวงจันทร์จึงเล็กกว่าขนาดปรากฏของดวงอาทิตย์เล็กน้อย เป็นผลให้เกิดวงแหวนสว่างของดวงอาทิตย์รอบขอบดวงจันทร์
อย่างไรก็ดี สเปซดอตคอม ระบุว่าปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวนเป็นปราฏการณ์ที่ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อดวงตาได้ เราจำเป็นต้องสังเกตปรากฏการณ์อย่างระมัดระวัง ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายต่อดวงตาอย่างรุนแรงและถาวรได้ ซึ่งรวมถึงโอกาสที่จะตาบอดด้วย
วิธีการสังเกตปรากฏการณ์ที่ปลอดภัยนั้นเราอาจใช้แผ่นกรองแสงอาทิตย์ (solar filter) ประกอบเข้ากับอุปกรณ์สำหรับสังเกตการณ์ หรือใช้กระจกกรองแสงสำหรับช่างเชื่อม No.14 แต่ห้ามใช้แว่นกันแดดหรืออุปกรณ์กรองแสงอาทิตย์ทำเองในการส่องดวงอาทิตย์อย่างเด็ดขาด
ส่วนวิธีที่ปลอดภัยและง่ายที่สุด คือ การชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาทางอ้อม ด้วยวิธีรับแสงให้ตกกระทบบนฉากรับภาพ โดยใช้กล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาเพื่อขยายภาพปรากฏการณ์ให้ตกบนฉากสีขาว ซึ่งภาพที่ได้จะเป็นภาพปรากฏการณ์ที่ปลอดภัยต่อการมองและบันทึกภาพ
***คำเตือน*** ห้ามมองดวงอาทิตย์โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการมองด้วยตาเปล่าหรือมองผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาโดยปราศจากอุปกรณ์กรองแสง