นักวิจัยศึกษาร่างของ “เอิตซี” มนุษย์น้ำแข็งอายุ 5,300 ปี โดยร่างของเขาถูกพบแช่แข็งอยู่ในเทือกเขาแอลป์ของอิตาลี เมื่อปี 1991 และนักวิทยาศาสตร์ได้เห็นเม็ดเลือดแดงรอบๆ บาดแผลของเขา ซึ่งปกติเม็ดเลือดแดงจะเสื่อมสลายไปอย่างรวดเร็ว แต่การสแกนหาเลือดภายในร่างของเขาก่อนหน้านี้ก็ไม่พบอะไร
หากแต่ล่าสุดการศึกษาของทีมวิจัยซึ่งตีพิมพ์ผลงานลงวารสารเดอะเจอร์นัลออฟเดอะรอยัลโซไซตีอินเทอร์เฟซ (the Journal of the Royal Society Interface) แสดงให้เห็นว่า ร่างของเอิตซี (Oetzi) ถูกเก็บรักษาไว้ได้อย่างดีเยี่ยม แม้กระทั่งเลือดที่หลั่งมาในช่วงสั้นๆ ก่อนเขาเสียชีวิต และบีบีซีนิวส์ ยังระบุว่า การค้นพบครั้งนี้เผยเซลล์เม็ดเลือดแดงเก่าแก่ที่สุดที่ถูกเก็บรักษาไว้ และเป็นบทล่าสุดของปริศนาการฆาตกรรมอันเก่าแก่ที่สุดในโลก
นับแต่ เอิตซี ถูกค้นพบโดยนักปีนเขาซึ่งพบว่ามีลูกศรปักที่หลังเขาด้วย ผู้เชี่ยวชาญก็ได้ตัดสินว่าเขาตายจากบาดแผล และยังได้ประเมินด้วยว่าอาหารมื้อสุดท้ายของเขาคืออะไร และยังมีการถกเถียงกันในวงกว้างว่าร่างของเขาถูกฝังหลังจากเขาพลัดตกตอนเสียชีวิตหรือว่าเขาถูกคนอื่นนำไปฝั่งที่นั่น
เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ศ.อัลเบิร์ต ซิงค์ (Albert Zink) และคณะร่วมงานจากสถาบันมัมมีและมนุษย์น้ำแข็ง (Institute for Mummies and the Iceman) ในอิตาลี ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ข้อมูลจีโนมทั้งหมดของเอิตซี และการศึกษาก่อนหน้านี้ของกลุ่มที่ตีพิมพ์ลงวารสารการแพทย์แลนเซท (Lancet) ได้เผยให้เห็นว่าบาดแผลบนมือของเอิตซีนั้นมีฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งในเลือดอยู่ตรงบาดแผลดังกล่าว แต่เชื่อกันว่าธรรมชาติของเซลล์เม็ดเลือดแดงที่แตกหักง่ายนั้นจะทำให้เราเก็บรักษาเม็ดเลือดแดงได้ยากลำบาก
ศ.ซิงค์ และคณะ ได้ร่วมมือกับทีมวิจัยจากศูนย์สมาร์ทอินเทอร์เฟซ (Center for Smart Interfaces) ในมหาวิทยาลัยดาร์มสตัดท์ (University of Darmstadt) เยอรมนี เพื่อประยุกต์ใช้กล้องจุลทรรศน์แรงอะตอม (atomic force microscopy) ศึกษาเนื้อเยื่อบางๆ ที่ตัดมาจากบริเวณบาดแผลที่ถูกลูกศรปัก ซึ่งเทคนิคการศึกษาคือใช้ปลายเข็มเล็กๆ ชี้ไปที่ตัวอย่างเนื้อเยื่อด้วยความห่างเพียงไม่กี่อะตอมแล้วลากปลายเข็มไปทั่วพื้นผิวของตัวอย่าง และการเคลื่อนไหวของปลายเข็มจะถูกติดตามและแปรผลออกมาเป็นแผนภาพสามมิติที่มีความละเอียดสูงมาก
ทีมวิจัยพบว่า ตัวอย่างเนื้อเยื่อจากเอิตซีมีโครงสร้างบางอย่างที่มีรูปร่างเหมือนโดนัทคล้ายกับเซลล์เม็ดเลือดแดง เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าโครงสร้างที่พบนั้นเป็นเซลล์ที่ถูกเก็บรักษามานานและไม่ใช่การปนเปื้อนแต่อย่างใด พวกเขาจึงใช้เทคนิคทางเลเซอร์โดยนำเครื่องรามันสเปกโตรสโคปี (Raman spectroscopy) มาใช้ และผลก็ยืนยันว่าพบฮีโมโกลบินและไฟรบิน (fibrin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำให้เลือดจับตัวเป็นลิ่ม
จากสิ่งที่ตรวจพบทำให้ ศ.ซิงค์ อธิบายไปถึงปริศนาการถูกฆาตกรรมของเอิตซีได้ เนื่องจากจะพบโปรตีนไฟบรินในแผลสดจากนั้นก็จะเสื่อมสลายไป ดังนั้น ทฤษฎีที่ว่ามนุษย์โบราณคนนี้เสียชีวิตในหลายวันหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บนั้นน่าจะถูกโต้แย้ง และไม่น่าจะได้รับการสนับสนุนอีกต่อไป อีกทั้งทีมวิจัยยังบอกด้วยว่าวิธีศึกษาของพวกเขาอาจนำมาใช้ปรับปรุงการศึกษานิติวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันได้ โดยเฉพาะในกรณีที่เราประเมินอายุของตัวอย่างเลือดได้ยาก