xs
xsm
sm
md
lg

“ซูเปอร์มูน” หนนี้อาจบดบังฝนดาวตกจาก “ฮัลเลย์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพ ซูเปอร์มูน เมื่อเดือน มี.ค.54 เหนือกรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐฯ (สเปซด็อทคอม)
เช้าวันที่ 6 พ.ค.นี้ ทางซีกโลกตะวันตก จะเกิดปรากฏการณ์ “ซูเปอร์มูน” หรือปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์จะเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี และยังอยู่ในช่วงพระจันทร์เต็มดวง แต่แสงสว่างจากปรากฏการณ์นี้ อาจบดบังแสงจากฝนดาวตกที่เกิดจากสายธารฝุ่นของ “ดาวหางฮัลเลย์”

เนื่องจากดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี ดังนั้น ทุกเดือนจึงมีระยะที่ดวงจันทร์เข้าใกล้โลกมากที่สุด หรือเรียกว่า “เปริจี” (Perigee) และระยะที่ดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกมากที่สุด หรือเรียกว่า “อะโปจี” (Apogee) สำหรับเดือนนี้ดวงจันทร์จะเข้าใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 6 พ.ค.55 เวลา 10.43 น.ตามเวลาประเทศไทย และยังตรงกับช่วงพระจันทร์เต็มดวง

ปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์ใกล้โลกมากที่สุดในรอบเดือน และยังตรงกับช่วงพระจันทร์เต็มดวงนี้ ถูกเรียกว่า ปรากฏการณ์ “ซูเปอร์มูน” (supermoon) ซึ่งในปี 2554 เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มี.ค.แต่พิเศษสำหรับปี 2555 นี้ คือ ระยะใกล้โลกที่สุดของซูเปอร์มูนยังเป็นระยะใกล้โลกที่สุดในรอบปีด้วย

อย่างไรก็ดี สเปซดอตคอม ระบุว่า แสงสว่างจากซูเปอร์มูนอาจบดบังความสว่างของฝนดาวตกเอทาอะควอริด (Eta Aquarid) ซึ่งเป็นฝนดาวตกประจำปีที่เกิดจากสายธารฝุ่นของดาวหาง “ฮัลเลย์” (Halley) ได้ เพราะในช่วงที่จันทร์เต็มดวงนั้น ตรงกับช่วงที่มีฝนดาวตกหนาแน่นพอดี

“แสงสว่างของดวงจันทร์จะบดบังฝนดาวตกเอทาอะควอริดที่แสงจางกว่า” บิล คุก (Bill Cooke) ผู้เชี่ยวชาญด้านฝนดาวตกขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) จากศูนย์การบินอวกาศมาร์แชล (Marshall Space Flight Center) สหรัฐฯ ให้ความเห็นทางสเปซดอตคอม แต่เขาบอกด้วยว่า ยังมีโอกาสที่จะได้เห็นดาวตกลูกไฟที่สว่างที่สุดของฝนดาวตกชุดนี้ โดยผู้เฝ้าชมปรากฏการณ์นี้จากซีกฟ้าใต้จะมีโอกาสเห็นฝนดาวตกได้ดีกว่า

ฝนดาวตกเอทาอะควอริด ได้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย.55 และจะสิ้นสุดในวันที่ 28 พ.ค.55 โดยจะตกชุกสุด 60 ดวงต่อชั่วโมงในวันที่ 5-6 พ.ค.55 ตามเวลาทางซีกโลกตะวันตก ซึ่งฝนดาวตกชุดนี้เป็น 1 ในฝนดาวตก 2 ชุดที่เกิดจากฝุ่นดาวหางฮัลเลย์ ที่มีคาบโคจรรอบดวงอาทิตย์ทุกๆ 76 ปี โดยฝนดาวตกอีกชุด คือ โอไรออนิด (Orionid) ซึ่งเป็นฝนดาวตกประจำเดือน ต.ค.

ในขณะที่คนทั่วไปรู้จักปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์เต็มดวง และเข้าใกล้โลกที่สุดว่า “ซูเปอร์มูน” แต่ในทางดาราศาสตร์นั้น เรียกปรากฏการณ์ดังกล่าว ว่า “ดวงจันทร์เปริจี” (perigee moon) โดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจับดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) บอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่า ซูเปอร์มูนนั้นเป็นคำเรียกของหมอดู ไม่ใช่คำศัพท์ดาราศาสตร์

สำหรับระยะที่ดวงจันทร์โคจรมาใกล้โลกมาที่สุดในรอบปีนี้ คือ ระยะห่าง 356,953 กิโลเมตร ซึ่ง ดร.ศรัณย์ ให้ข้อมูลว่าเราจะเห็นดวงจันทร์มีขนาดใหญ่ขึ้น 2-3% ทั้งนี้ ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นรูปวงรีจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก 1 รอบ โดยใช้ระยะเวลา 1 เดือน จึงมีระยะที่ดวงจันทร์เข้าใกล้โลกมากที่สุด และห่างโลกมากที่สุดทุกเดือน โดยเฉลี่ยระยะดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากที่สุด คือ 356,000 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากโลกมากที่สุดเฉลี่ย 407,000 กิโลเมตร

การที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก และโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ทิศทางของแรงกระทำต่อโลกมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้น น้ำลง ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ดังนั้น การที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงในคืนที่มีวงโคจรมาใกล้โลก นับว่า เป็นเรื่องปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งปรากฏการณ์ลักษณะเช่นนี้ เกิดขึ้นล่าสุดเมื่อ 20 มี.ค.54 ที่ระยะห่าง 356,577 กิโลเมตร” ดร.ศรัณย์ ให้ข้อมูล
ลักษณะวงโคจรของดวงจันทร์เป็นรูปวงรีที่ทำให้เกิดระยะใกล้โลกมากที่สุดและไกลโลกมากที่สุด (สดร.)

ภาพดาวตกลูกไฟของฝนดาวตกเอทาอะควอริดเมื่อวันที่ 29 เม.ย.55 ( NASA/MSFC/B.Cook)
ตารางระบุวันเวลา และระยะทางที่ดวงจันทร์เข้าใกล้โลกและไกลโลกมากที่สุด (สดร.)



คลิปอธิบายปรากฏการณ์ซูเปอร์มูน หรือ ดวงจันทร์เปริจี โดย นาซา


กำลังโหลดความคิดเห็น