xs
xsm
sm
md
lg

“ไททานิก” เสน่ห์ไม่มีวันจม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ซากอับปางของเรือไททานิก
นอกจากความรักอันโรแมนติกของ “แจ็ก” กับ “โรส” แล้ว เรื่องราวภายในภาพยนตร์ “ไททานิก” ยังบันทึกภาพจำของเรือเดินสมุทรอันหรูหราของยุค รวมถึงภาพวิถีชีวิตบนลำเรือที่มีผู้คนหลากหลายคนชั้น ซึ่งจนถึงวันนี้ทฤษฎีการจมของเรือยักย์ก็ยังเป็นที่ถกเถียงไม่รู้จบ และอีกไม่กี่วันจากนี้จะครบ 100 ปีที่เรือลำนี้อับปางและซากใต้น้ำของเธอจะกลายเป็นมรดกทางทะเลของโลก

ในฐานะหนึ่งใน 2 คนไทยผู้เป็นนักโบราณคดีใต้น้ำ “เอิบเปรม วัชรางกูร” หัวหน้ากลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้กล่าวถึงความสำคัญของเรือ “ไททานิก” (Titanic) ว่าเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การใช้เรือเดินทาง ซึ่งมนุษย์เดินทางด้วยเรือก่อนเกวียน และตามหลักฐานประวัติศาสตร์นั้นอายุของเรือมากกว่าล้อเกวียน โดยการเดินเรือมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่เรือขุด เรือใบ เรือกลไฟ และเรืออื่นๆ ซึ่งเรือไททานิกนั้นเป็นเรือลำแรกที่ตัดขาดจากเรือใบอย่างสิ้นเชิง

นอกจากนี้ ในวันที่ 15 เม.ย.55 นี้จะเป็นวันครบรอบ 100 ปีการจมของเรือไททานิก และจะทำให้เรือที่อับปางลำนี้กลายเป็นมรดกวัฒนธรรมทางทะเลของโลกตามกฎหมายของสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่สหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ซึ่งเอิบเปรมระบุว่าประเทศสมาชิกจะมีหน้าที่ช่วยกันดูแลสมบัติและมรดกวัฒนธรรมใต้น้ำลำนี้

เอิบเปรมยังกล่าวถึงความสำคัญของโบราณคดีใต้น้ำด้วยว่ามีความสำคัญ เพราะนอกจากวัฒนธรรมบนบกแล้ว ยังมีหลักฐานทางโบราณคดีที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งเกิดจากการอับปางระหว่างสัญจรทางน้ำในอดีต โดยมีทั้งหลักฐานที่เราทราบว่ามีและไม่ทราบว่ามี เขาบอกอีกว่าโบราณคดีนั้นเป็นวิทยาศาสตร์ 100% และไม่ใช่ศิลปะ เพราะมีการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ เรียบเรียงและสรุปผลเหมือนวิทยาศาสตร์ทั่วไป หากแต่ผลของโบราณคดีมันเป็นการตอบสนองมนุษย์ทางด้านจิตใจ เกิดความภาคภูมิใจและเป็นแรงบันดาลใจของมนุษย์

ทั้งนี้ เป็นการให้ความเห็นระหว่างการเปิดตัวคลับไซแอนซ์ อิลลาสเตรเต็ด (Science Illustrated Club) ของนิตยสารวิทยาศาสตร์ไซแอนซ์ อิลลาสเตรเต็ด เมื่อคืนวันที่ 4 เม.ย.55 ที่ผ่านมา พร้อมกิจกรรมชมภาพยนตร์ไททานิกในรูปแบบสามมิติ โดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสิ่งพิมพ์และการสื่อสารวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมคุยถึงทฤษฎีการจมของเรือไททานิคว่ามีอยู่ด้วยกันหลากหลาย และมีการเสนอทฤษฎีใหม่ๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ

ดร.นำชัยกล่าวว่า ภาพที่เราจำเกี่ยวกับไททานิก คือ เรือชนภูเขาน้ำแข็ง แต่ฝรั่งมีความสงสัยมากกว่านั้นว่าไททานิกชนภูเขาน้ำแข็งจริงหรือไม่ หรือมีคำตอบอะไรมากกว่านี้อีกหรือไม่ ซึ่งปกติแล้วภูเขาน้ำแข็งไม่อยู่บนเส้นทางของไททานิก จึงมีการเสนอหลายๆ ทฤษฎีเกี่ยวกับการจมของเรือสำราญลำนี้

ตัวอย่างทฤษฎีการจมของไททานิก เช่น ทฤษฎีกัปตันและลูกเรือใช้ไม่ได้เพราะมีคำเตือนล่วงหน้า 60 ชั่วโมงแล้วว่าจะชนภูเขาน้ำแข็ง หรือทฤษฎีการสื่อสารภายในเรือมีปัญหา เพราะมีการสื่อสารหลายภาษาในเรือและมีคำเดียวกันที่มีความหมายแตกต่างกัน อย่างคำสั่งเดียวกันแต่หมายถึงเลี้ยวซ้ายก็ได้หรือเลี้ยวขวาก็ได้ หรือทฤษฎีโครงเรือไททานิกที่มีไนโตรเจนน้อย แต่มีฟอสฟอรัสและซัลเฟอร์มาก ทำให้เปราะเมื่อเย็นมาก เป็นต้น

“ยังมีทฤษฎีประหลาดๆ อีกมาก บางคนว่าไม่ได้ชนภูเขาน้ำแข็ง แต่ชนน้ำแข็งที่อยู่ระดับเดียวกับผิวน้ำจึงทำให้มองไม่เห็น ทฤษฎีเรือไททานิกใช้ถ่านหิน แต่นำไปเก็บไว้รวมกันมากๆ จนร้อนแล้วติดไฟทำให้เรือวิ่งเร็วขึ้นไปชนภูเขาน้ำแข็ง ทฤษฎีล่าสุดอ้างถึงซูเปอร์มูน (Super Moon) ที่ว่าชะตาของเรือถูกกำหนดไว้เช่นนั้น โดยก่อนเดินเรือ 3 เดือน โลก ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์เรียงเป็นแนวเดียวกัน ทำใหเกิดแรงโน้มถ่วงดึงภูเขาน้ำแข็งลงมาจากขั้วโลกเหนือ ซึ่งทฤษฎีนี้มีการจำลองแบบทางคณิตศาสตร์และตีพิมพ์ผลงานวิชาการอย่างเป็นเรื่องเป็นราว หรือทฤษฎีจมเพราะบนเรือมีมัมมี่หญิง ทำให้เกิดหายนะขึ้นเพราะมีมัมมี่อยู่ที่ไหนมีความหายนะที่นั่น” ดร.นำชัยกล่าวถึงทฤษฎีต่างๆ ที่พยายามอธิบายถึงการจมของไททานิก

แม้ว่าเรือลำใหญ่นี้จะทำหน้าที่นำผู้โดยสารล่องมหาสมุทรได้เพียงไม่กี่วันก่อนอับปางลงกลางมหาสมุทรแอตแลนติก แต่จนถึงทุกวันนี้ทฤษฎีการจมของเรือไททานิกก็ยังคงไม่สิ้นสุด เป็นสเน่ห์ไปที่ไม่จมหายไปกับกาลเวลา
ไททานิกขณะเทียบท่าที่เซาท์แธมป์ตัน
ไททานิกขณะออกท่าที่เซาท์แธมป์ตัน
มากกว่าความรัก ไททานิก ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตและความหวังที่อับปางไปพร้อมกับเรือ
เวทีเสวนาย้อนตำนานไททานิก โดยมีผู้ร่วมเสวนา (ซ้ายไปขวา) ดร.นำชัย, เอิบเปรม, และก้อง ฤทธิ์ดี นักวิจารณ์ภาพยนตร์
กำลังโหลดความคิดเห็น