เข้าใจและเห็นใจ “ปลา” ให้มากขึ้นไปกับบทความ “ในน้ำมี...” โดย นณณ์ ผาณิตวงศ์
ปลาเป็นสัตว์ที่น่าสงสารอย่างหนึ่ง เพราะคนทั่วไปมักจะมองว่ามันไม่น่ารัก ทั้งยังอาศัยอยู่ในน้ำ ที่ลึกบ้าง ขุ่นบ้าง มองไม่เห็นตัวบ้าง ทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่สนใจจะศึกษา ปลาจึงเป็นสัตว์ที่ถูกมองข้ามเสมอ เป็นแบบนี้ ‘บ้าน’ ของพวกมันอย่าง แม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง บึง และลำธาร ก็เลยถูกสัตว์ที่มีอำนาจเหนือกว่าอย่างมนุษย์ ชาวไทยมองเห็นเป็นเพียงท่อระบายน้ำ นึกจะขุดก็ขุด จะถมก็ถม จะกั้นก็กั้น จะทำอะไรก็ทำ ไม่เคยมองเลยว่าระบบนิเวศที่แสนจะเปราะบางเหล่านี้ เป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตและได้เป็นแหล่งผลิตอาหารมาให้เราชาวสยามแต่ครั้งโบราณ
ปลาน้ำจืดในประเทศไทยมีจำนวนเกือบ 600 ชนิด อาศัยอยู่ตั้งแต่ต้นน้ำบนยอดเขาสูงจนถึงปากแม่น้ำใหญ่ ลำธารน้ำใต้ถ้ำ ไปจนถึงป่าพรุที่มีน้ำเป็นกรด หรือแม้แต่ในบ่อน้ำร้อนที่เอาเท้าจุ่มลงไปได้ไม่เท่าไหร่ก็ต้องเอาขึ้นมาก็ยังมีปลาอาศัยอยู่ได้
ประเทศไทยของเรายังเป็นบ้านของปลาที่มีขนาดเล็กติดลำดับโลก เช่น ‘ปลาซิวแคระแม่น้ำโขง’และ ‘ปลาข้าวสารจิ๋ว’ ในขณะเดียวกัน ก็มีปลายักษ์หนักหลายร้อยกิโลกรัมอย่าง ‘ปลาบึก’ ‘ปลากระโห้’ และ ‘ปลากระเบนราหู’ แหวกว่ายอยู่ตามแม่น้ำสายใหญ่ๆ เรามีปลาที่มีสีสันสวยงามเป็นที่นิยมเลี้ยงไปทั่วโลกอย่าง ‘ปลาทรงเครื่อง’ และ ‘ซิวข้างขวาน’ และยังมีรายงานการค้นพบปลาชนิดใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ อย่างไม่รู้จักหมดสิ้น
แต่น่าแปลกที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักปลาท้องถิ่นของไทยกันสักเท่าไหร่ เด็กๆ ในยุคนี้ไม่เคยลิ้มรสหวานฉ่ำของ ‘ปลาเสือตอ’ ปลาชื่อดังจากบึงบอระเพ็ด เพราะปลาชนิดนี้แทบจะสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยแล้ว พวกเขาไม่เคยลิ้มรสน้ำปลาดีที่ทำจาก ‘ปลาสร้อย’ อย่างที่มีบันทึกไว้ในเรื่องเล่าของคนสมัยเก่า น้อยคนจะรู้ว่า ‘ปลาหมอโคว้’ นั้นอร่อยผิดกันลิบลับจาก ‘ปลานิล’ กลับกลายเป็นว่าเราพอใจที่จะกินปลาทับทิม ปลาดุกบิ๊กอุย หรือปลากะพงขาว ที่ถูกเลี้ยงกันเป็นอุตสาหกรรมเพียงเพราะว่ามันง่าย และปล่อยให้ปลาไทยท้องถิ่นที่มีคุณค่านับอนันต์ค่อยๆ ลดจำนวนลงและสูญพันธุ์ไปพร้อมๆ กับภูมิปัญญาที่สืบต่อมาจากบรรพบุรุษผ่านทางตำราอาหารและวิถีการใช้ชีวิตที่เกี่ยวพันกับธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงกันไม่ได้
ยังจำได้ดี เมื่อหลายปีก่อน เพื่อนคนหนึ่งกลับไปเยี่ยมบ้านที่ จ.นครสวรรค์ คุณแม่ดีใจที่ลูกกลับมาเยี่ยมบ้าน นำปลาหน้าตาแปลกประหลาดไม่เคยเห็นมาก่อนชนิดหนึ่งมาทำอาหารเลี้ยงลูกได้อร่อยจับใจ แม่เค้าบอกว่า มันชื่อ ‘ปลาแป้นแก้ว’ หรือบางทีก็เรียกกันว่า ‘ข้าวเม่า’ เจอเยอะก็หน้านี้เท่านั้น เพื่อนผมตื่นเต้นมาก ถ่ายภาพปลามาให้ดูนึกว่าเป็นปลาชนิดใหม่ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันก็เป็นปลาที่ไม่ได้หายากมาก อุทาหรณ์ของเรื่อง คือ เพียงแค่หนึ่งชั่วอายุคนเท่านั้นเอง ที่ภูมิปัญญาเรื่องปลาน้ำจืดของไทยกำลังสูญหายไป คุณแม่ของเพื่อน ไม่ได้เพียงรู้จักปลา ท่านรู้ถึงสองชื่อ รู้ว่ามันมีมากฤดูไหนและทำอะไรอร่อย นี่คือ สิ่งที่น่าเสียดาย
นกที่บินอยู่บนฟ้า หลายคนมองว่ามีอิสรเสรี นึกอยากจะบินไปที่ไหนก็ไปได้ แต่ในความเป็นจริง นกไม่ได้บินร่อนเล่นไปทั่ว นกทุกชนิดมีอาณาเขตหากินที่แน่นอน มีเส้นทางการบินที่แน่นอน มันไม่ได้บินเล่นท่องเที่ยวตามใจนึกอย่างที่เราจินตนาการ ปลาก็เช่นกัน ด้วยความที่บ้านเรามีความหลากหลายทางชีวภาพมาก ปลาแต่ละชนิดจึงปรับตัวและวิวัฒนาการให้เข้ากับแหล่งอาศัยเป็นหลัก ไม่น่าแปลกใจที่พวกมันต่างก็มีความต้องการที่เฉพาะเจาะจงแตกต่างกันออกไป บางชนิดหากินอยู่เฉพาะบริเวณแก่งที่เป็นลานหิน บ้างก็ชอบลานทราย หรือบ้างก็ชอบวังน้ำลึกเท่านั้น พวกที่อยู่ในวังน้ำลึกยังแบ่งกันอีก ว่า บางชนิดก็อยู่ผิวน้ำ บางชนิดอยู่ที่หน้าดิน ไม่ว่ายออกมาหากินนอกบริเวณอย่างที่หลายคนเข้าใจ แม้จะมีน้ำให้พวกมันสามารถเคลื่อนตัวได้อย่างเสรีก็ตาม
ในสังคมของมนุษย์นั้น ผู้คนแต่ละอาชีพต่างก็มีความสำคัญทัดเทียมกัน ช่างตัดผม ช่างซ่อมรถ แม่ครัว เกษตรกร ฯลฯ ต่างก็มีความสำคัญและคุณค่าไม่น้อยไปกว่ากัน เราต้องการ ‘ความหลากหลาย’ เพื่อสร้างสังคมที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข เช่นเดียวกันกับระบบนิเวศในน้ำ ปลาแต่ละชนิดต่างก็มีวิธีการหากินที่ต่างกัน แต่ละตัวต่างก็ไม่ทับซ้อน ไม่ก้าวก่ายหน้าที่ซึ่งกันและกัน พวกมันมีบทบาทในการสร้าง ควบคุม ทรัพยากรในน้ำที่ชัดเจน และจำเป็นต้องมีครบสมบูรณ์ระบบนิเวศจึงจะอยู่รอดได้อย่างที่เคยเป็นมานานนับล้านปี
ไม่เพียงเท่านั้น ปลาในแหล่งน้ำบ้านเราแต่ละแหล่งนั้นก็ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว เพราะถูกแยกสายการวิวัฒนาการกันมาเป็นเวลาหลายล้านปี ดังนั้น แม้ว่าปลาบางกลุ่มจะมีอยู่ทุกแม่น้ำ แต่ก็มีความต่างกันในระดับชนิด เช่น ปลาสวายที่แม่น้ำโขงกับสาละวิน ก็เป็นปลาคนละชนิดกัน ปลาค้อที่ต้นแม่น้ำน่านกับแม่น้ำแม่กลอง ก็เป็นคนละชนิดกัน ปลาทางใต้ของประเทศไทยเป็นปลาที่อยู่เหนือสุดของการกระจายพันธุ์ของปลาจากแหลมมลายู ในขณะที่ทางเหนือปลาหลายชนิดเป็นพวกที่อยู่ใต้สุดของบรรดาปลาที่กระจายลงมาจากเทือกเขาหิมาลัย และด้วยภูมิศาสตร์ที่หลากหลายนี่เอง ที่ทำให้แต่ละซอกมุมของประเทศไทยมีปลาเฉพาะถิ่นที่ไม่พบที่อื่นใดในโลกอยู่มากมาย
ปี พ.ศ.2555 นี้เองที่งบประมาณ “พัฒนาแหล่งน้ำ” ถูกแจกจ่ายออกไปทั่วประเทศ โดยมีเหตุหลักเพื่อป้องกันน้ำท่วมน้ำแล้ง เราเริ่มเห็นการสร้างฝาย ขุดห้วย แหวกแม่น้ำ กันโดยทั่วไป โดยที่ผู้คนต่างก็หลงลืมว่านั่นคือ “บ้าน” ของสัตว์น้ำนานาพันธุ์ การขุดแก่งในลำห้วย จึงเป็นการทำลายปลาที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นในทางอ้อม การสร้างฝายสร้างประตูน้ำกีดขวางการอพยพของปลาและสัตว์น้ำต่างๆ ในฤดูผสมพันธุ์ การผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ เช่นโครงการผันน้ำสาละวินมาลงลุ่มเจ้าพระยา จะทำให้ปลาที่แยกสายวิวัฒนาการกันมาเป็นล้านปี ต้องมาแก่งแย่งต่อสู้กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ไม่ใช่ว่าห้ามพัฒนา ไม่ใช่ว่ารักปลามากกว่าเพื่อนร่วมชาติ แต่การพัฒนาที่ทำลายสมดุลของระบบนิเวศไม่ใช่การพัฒนาที่ยั่งยืน หากแต่เปรียบเสมือนการฆ่าตัวตายผ่อนส่ง ฝายเป็นสิ่งที่สามารถสร้างได้ในพื้นที่ที่เหมาะสม ในแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น มีช่องให้ปลาโจน มีทางลาดให้ปูและกุ้งไต่ข้ามไป คลองที่ตื้นเขินขุดได้ในตำแหน่งและรูปแบบที่ไม่ต่างจากของเดิมนัก การกักเก็บน้ำไม่ควรทำโดยการขุดหรือดัดแปลงแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่สร้างแหล่งน้ำใหม่ ขุดบ่อแยกออกจากเส้นทางน้ำเดิม ทางเลือกของการกักเก็บน้ำมีมากกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เช่น การขุดบ่อน้ำในที่ดินส่วนตัว นอกจากมีที่กักเก็บ และสามารถจัดการน้ำได้ด้วยตนเองแล้ว พื้นที่เหล่านี้ยังจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ และเป็นแหล่งโปรตีน ซึ่งตรงตามหลักการเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อีกด้วย นับว่าทางเลือกของเรายังมีอีกมาก แต่ก็ต้องศึกษาและเข้าใจให้ถ้วนถี่ก่อนจะตัดสินใจลงมือทำ
ปลาไม่ได้น่ารักอย่างหมีแพนด้า ไม่ได้ตัวใหญ่เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองเหมือนช้าง แต่หวังว่าคงจะไม่มีใครปฏิเสธว่าปลาเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ หล่อเลี้ยงคนไทยที่อาศัยก่อบ้านสร้างเมืองอยู่ริมแม่น้ำมาทุกยุคทุกสมัย จนเขาว่ากันว่า ‘เมืองไทยนั้นดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ ขออย่าให้สิ่งที่บรรพบุรุษของเราช่วยกันรักษาไว้มาสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ในยุคนี้เลยครับ