xs
xsm
sm
md
lg

บนโลกไม่พอ...วางแผนทำเหมืองบน “ดาวเคราะห์น้อย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพลเนทารีรีซอร์สวางแผนส่งยานอวกาศขึ้นไปสำรวจทรัพยากรดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก เพื่อหาแหล่งเหมาะสมในการถลุงแร่และสกัดน้ำมาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานอวกาศ (Planetary Resources, Inc.)
เปิดบริษัทใหม่วางแผนทำเหมืองบน “ดาวเคราะห์น้อย” เพื่อขุดหาแร่มีค่าอย่างทองคำและแพลตินัม และเตรียมออกสำรวจอวกาศ หนุนหลังโดยผู้บริหารจาก “กูเกิล” และ “เจมส์ คาเมรอน” อีกทั้งผู้ก่อตั้งยังเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมอวกาศของเอกชน พร้อมกันนี้ ยังประกาศหาสุดยอดวิศวกรของโลกเข้าร่วมงาน

แพลเนทารีรีซอร์ส (Planetary Resources, Inc) คือ บริษัทเปิดใหม่ที่มีมหาเศรษฐีหลายคนร่วมก่อตั้ง ทั้ง ลาร์รี เพจ (Larry Page) และ อิริค ชมิดท์ (Eric Schmidt) ผู้บริหารของกูเกิล (Google), เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ผู้กำกับภาพยนตร์และนักสำรวจตัวยง โดยเป้าหมายหนึ่งของการตั้งบริษัทนี้ขึ้นมา คือ การทำอุตสาหกรรมเหมืองบนดาวเคราะห์น้อย โดย สเปซดอตคอม รายงานว่า ทางบริษัทกำลังเปิดรับสมัครสุดยอดวิศวกรของโลกเพื่อร่วมงาน

“หนึ่งในเหตุผลที่เราเลือกเปิดตัวบริษัทในตอนนี้ คือ เพราะเรากำลังค้นหาวิศวกรที่เก่งที่สุดในโลก เพื่อมาเติมเต็มให้แก่ทีมของเรา ซึ่งมันยากที่จะทำอย่างเงียบๆ” ปีเตอร์ ไดแมนดิส (Peter Diamandis) ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารของแพลเนทารีรีซอร์ส กล่าว และเขายังเป็นผู้ก่อตั้งรางวัลเอกซ์-ไฟรซ์ (X-Prize) รางวัลเพื่อการค้นพบที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติและเป็นแรงบันดาลใจแก่อุตสาหกรรมใหม่

เพื่อขยายคำพูดของไดแมนดิสให้ชัดเจนสเปซดอตคอม อ้างแถลงอย่างเป็นทางการของบริษัท ว่า แพลเนทารีรีซอร์ส กำลังต้องการวิศวกรที่จะช่วยในการออกแบบและสร้างฝูงเครื่องจักรกลสำหรับใช้ในการทำเหมืองบนดาวเคราะห์น้อย ซึ่งเป้าหมายของการจ้างงานดังกล่าว คือการเปลี่ยนจินตนาการจากโลกนิยายวิทยาศาสตร์ หรือไซ-ไฟ ในเรื่องการทำเหมืองบนดาวเคราะห์น้อยให้กลายเป็นความจริง

แพลเนทารีรีซอร์ส สรุปว่า โลหะกลุ่มแพลตินัมที่ทางบริษัทวางแผนจะขึ้นไปขุดเจาะนั้น จะช่วยให้สินค้าจำนวนมากบนโลกมีราคาถูกลง ซึ่งในจำนวนนั้นได้แก่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพา และจอแสดงผลสำหรับโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ และนอกจากวางแผนทำเหมืองผลิตแร่ลงมาใช้บนโลกแล้วยังมีโครงการสำรวจอวกาศด้วย

ทางบริษัทคาดว่า น้ำบนดาวเคราะห์น้อยนั้น จะช่วยเปิดประตูสู่การสำรวจระบบสุริยะได้ เพราะน้ำสามารถแตกตัวเป็นไฮโดรเจน และออกซิเจน ที่เป็นองค์ประกอบของน้ำเอง ดังนั้น ความพยายามของบริษัทดังกล่าวอาจนำไปสู่การตั้งสถานีจำหน่ายก๊าซในอวกาศ เพื่อให้ยานอวกาศหลายๆ ลำ แวะไปเติมเชื้อเพลิงได้ในราคาถูก และได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ

ทางบริษัทวางแผนที่จะทำให้การทำเหมืองบนดาวเคราะห์น้อยนี้ ราคาถูก โดยจะให้ฝูงยานอวกาศราคาถูกเพื่อค้นหาหินอวกาศที่น่าจะอุดมทรัพยากร และขุดสกัดแร่ธาตุกันในอวกาศ โดยหวังว่า จะได้พบเป้าหมายที่มีทรัพยากรให้ถลุงอย่างยั่งยืนภายในทศวรรษนี้ ส่วนกิจการเหมืองจริงๆ จะตามมาหลังจากนั้น ตอนนี้ทางบริษัทได้จ้างวิศวกรแล้ว 20 กว่าคน ซึ่ง ไดมานดิส กล่าวว่า จะคงขนาดบริษัทเล็กๆ ต่อไปเพื่อความคล่องตัวในการทำงานและลดค่าใช้จ่าย และพยายามจ้างบุคลากรที่เป็นที่สุดของที่สุดของที่สุด

อย่างไรก็ดี บีบีซีนิวส์ รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์บางคนก็ไม่เห็นด้วยกับโครงการเหล่านี้ของแพลเนทารีรีซอร์ส และเรียกแผนของบริษัทว่าเป็นความกล้าบ้าบิ่น ยาก และแพงมากด้วย โดยพวกเขาตั้งคำถามว่า บริษัทจะทำให้แร่ธาตุเหล่านี้มีราคาถูกลงได้อย่างไร เพราะแม้แต่แพลตินัมและทอง ก็ขายกันกรัมละเกือบ 1,800 บาท หรือภารกิจที่ใกล้เข้ามาขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ในการนำองค์ประกอบจากดาวเคราะห์น้อยกลับมายังโลกเพียง 60 กรัม ก็มีมูลค่าสูงประมาณ 3 หมื่นล้านบาทแล้ว

สำหรับการทำงานขั้นแรกของบริษัทนั้นจะบรรลุเป้าหมายในอีก 18-24 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทจะปล่อยกล้องโทรทรรศน์อวกาสของเอกชนชุดแรก ที่จะค้นหาดาวเคราะห์น้อยเป้าหมายที่อุดมทรัพยากร และความตั้งใจนี้จะเปิดการสำรวจอวกาศสู่อุตสาหกรรมของภาคเอกชน บริษัทยังคาดหวังว่า ภายใน 10 ปีจะขายฐานสำรวจที่โคจรอยู่รอบโลกในรูปแบบบริการสำรวจหาแร่ธาตุได้ และวางแผนที่จะดักจับดาวเคราะห์น้อยอีกนับพันดวงที่ผ่านเข้ามาใกล้โลก เพื่อสกัดเอาวัตถุดิบจากดาวเคราะห์น้อยเหล่านั้น

บริษัทเปิดใหม่นี้ยังมีผู้ร่วมก่อตั้งที่ทรงอิทธิพลหลายๆ คน อาทิ อีริค แอนเดอร์สัน (Eric Anderson) ผู้บุกเบิกในวงการอุตสากรรมท่องเที่ยวอวกาศ, เฮนรี รอสส์ เปโรต์ (Henry Ross Perot) ลูกชายของนักธุรกิจผู้เคยลงสมัครตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ ทอม โจนส์ (Tom Jones) อดีตมนุษย์อวกาศของนาซาผู้มีประสบการณ์เดินทางไปพร้อมกระสวยอวกาศ
แม้แต่วัตถุอวกาศใกล้โลกขนาดเล็กนั้นทางแพลเนทารีก็เชื่อว่าสามารถตรวจจับและสกัดเอาน้ำออกมาได้ (Planetary Resources, Inc.)





คลิปสาธิตโครงการทำเหมืองอวกาศของ Planetary Resources, Inc.



กำลังโหลดความคิดเห็น