นักวิทยาศาสตร์พบปูน้ำจืดสีม่วงสายพันธุ์ใหม่ 4 สปีชีส์ในฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นพื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ระบบนิเวศกำลังถูกคุกคามสูง โดยสัตว์น้ำเปลือกแข็งเหล่านี้ซ่อนตัวอยู่ใต้ซอกหินและรากไม้ในกระแสน้ำไหล ออกหาอาหารเพื่อกินซากพืช ผลไม้ ซากสัตว์ที่เน่าเปื่อย และสัตว์ตัวเล็กๆ ในน้ำตอนกลางคืน
PhysOrg.com อ้างคำของสัมภาษณ์ เฮนดริก ไฟรทาก (Hendrik Freitag) จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเซงก์เกินแบร์ก (Senckenberg Museum of Zoology) ในเยอรมนี ซึ่งเอเอฟพี ได้รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์พบปูเหล่านี้ในระบบนิเวศเล็กๆ ของป่าในที่ลุ่ม ของหมู่เกาะปาลาวัน (Palawan island) ในฟิลิปปินส์ โดยปูที่พบส่วนใหญ่มีกระดองสีม่วง และส่วนก้ามและขามีปลายสีแดง ซึ่งเราทราบกันว่าปูนั้นสามารถจำแนกสีได้ และการจำแนกสีนี้อาจกำหนดพฤติกรรมทางสังคม เช่น การจับคู่ผสมพันธุ์ เป็นต้น และเป็นสิ่งที่อาจอธิบายได้ว่าทำไมปูตัวผู้ในสกุลอินซูลามอน (Insulamon) หลายสปีชีส์จึงมีสีค่อนข้างแดงมากกว่าปูสีม่วงตัวเมีย หรือปูตัวผู้ที่ยังไม่โตเต็มวัย
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์เริ่มค้นหาปูน้ำจืดที่คล้ายคลึงกันในพื้นที่ค้นพบนี้ เมื่อราวปลายทศวรรษ 1980 เมื่อมีการค้นพบปูอินซูลามอนชนิดใหม่ 1 สปีชีส์ นั่นคือ ปูอินซูลามอนยูนิคอร์น (Insulamon unicorn) และจากการออกทำงานในภาคสนามส่งผลให้ไฟรทากสรุปได้ว่า ยังมีปูสปีชีส์อื่นที่คล้ายกันอีก 4 สปีชีส์ และเขาได้เขียนรายงานลงวารสารราฟเฟิลส์บูลเลตินออฟซูโลจี (Raffles Bulletin of Zoology) ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore)
สำหรับปูขนาดใหญ่ที่สุดที่พบใหม่นี้ คือ ปูอินซูลามอนแมกนัม (Insulamon magnum) ซึ่งมีขนาดเพียง 53 x 41.8 มิลลิเมตร ขณะที่ชนิดที่เล็กสุด คือ อินซูลามอน พอร์คูลัม (Insulamon porculum) ที่มีขนาด 33.1 x 25.1 มิลลิเมตร ส่วนอีก 2 ชนิดที่เหลือ คือ อินซูลามอนปาลาวาเนนส์ (Insulamon palawanense) และอินซูลามอนโจฮันน์คริสติอานี (Insulamon johannchristiani) ซึ่งเมื่อแรกพบปูทั้ง 4 สปีชีส์นี้มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย ทั้งรูปร่างกระดอง ขา และอวัยวะสืบพันธุ์
ไฟรทาก กล่าวว่า สัตว์เลื้อยคลาน นก หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต่างล่าปูเหล่านี้ และเป็นไปได้ว่า อาจมีคนจากพื้นที่อันห่างไกลจับปูเหล่านี้ไปเป็นอาหารด้วย ทั้งนี้ กลุ่มอนุรักษ์สากล (Conservation International) ซึ่งมีฐานอยู่ที่สหรัฐฯ ขึ้นบัญชีให้ฟิลิปปินส์เป็น 1 ใน 17 ประเทศที่เป็นแหล่งอาศัยของพืชและสัตว์ส่วนใหญ่ของโลก แต่การถากป่าเพื่อทำการเกษตร ทำเหมือง หรือสร้างบ้าน กำลังเป็นปัจจัยคุกคามหลักสำหรับสัตว์มีกระดองเหล่านี้ เพราะพฤติกรรมดังกล่าวทำให้ถิ่นอาศัยในพื้นที่น้อยๆ ค่อยๆ แห้งเหือด อีกทั้งยังสร้างปัญหามลภาวะในแหล่งน้ำ
“แม้ว่าถิ่นอาศัยของปูเหล่านี้จะไม่ถูกทำลายลงทั้งหมด แต่ยิ่งมีถิ่นอาศัยเหลือน้อยเท่าไร ก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้นว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะสูญพันธุ์” ไฟรทาก กล่าว