“แผ่นดินไหว” ที่เคยดูเหมือนเรื่องไกลตัวคนไทยกำลังเคลื่อนตัวเข้ามาใกล้คนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันเรามีนักแผ่นดินไหวที่คอยเฝ้าระวัง และเตือนถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่รู้ไหมว่า...ไทยยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวในการผลิตผลงานวิจัยใหม่ๆ ที่สามารถให้รายละเอียดลึกไปลงถึงโครงสร้างของแผ่นเปลือกโลก และสาเหตุของการสั่นสะเทือน
รศ.ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ นักธรณีฟิสิกส์และหัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า ไทยมีนักแผ่นดินไหวที่ค่อยตรวจตรา และเฝ้าระวังเหตุแผ่นดินไหวตามจุดต่างๆ ทั่วโลกอยู่หลายคน แต่ยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวที่จะผลิตผลงานวิจัยใหม่ๆ ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ส่วนหนึ่งเพราะขาดแคลนทุนวิจัยซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินมหาศาล
ผู้เชี่ยวชาญที่กล่าวถึงนี้ คือ ผู้ที่นำข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นดินไหว ข้อมูลทางธรณีมาประมวลผลจนทราบถึงโครงสร้างของแผ่นเปลือกโลก กลไกการเกิดแผ่นดินไหว โครงสร้างและการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อน แต่ รศ.ดร.วีระชัย กล่าวว่า หากมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ก็เป็นเรื่องดีอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่มีก็ไม่ถึงขั้นวิกฤต
“แต่ถ้ามีก็จะทำให้รู้ว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในไทย อย่างเช่น แผ่นดินไหวที่ จ.ภูเก็ต นั้น เกิดขึ้นจากโครงสร้างของเปลือกโลกเป็นอย่างลักษณะรอยเลื่อนเป็นแบบไหน ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวในระดับทำวิจัยนั้น สามารถอ่านกราฟลักษณะคลื่นแผ่นดินไหวได้ แต่ในการสื่อสารกับสาธารณะทั่วไปก็ไม่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่ลึกถึงขนาดนั้นอยู่แล้ว โดยนักธรณีวิทยาทั่วไปก็สามารถตอบประเด็นพื้นฐานได้อยู่แล้ว” รศ.ดร.วีระชัย กล่าว
ความรู้ทางด้านแผ่นดินไหวของเปลือกโลกนั้น (Earthquake seismology) นั้น เป็นส่วนหนึ่งของวิทยาการแผ่นดินไหว (seismology) ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของธรณีฟิสิกส์ สำหรับผู้สนใจศึกษาต่อทางด้านแผ่นดินไหวในเมืองไทยนั้น ต้องศึกษาปริญญาตรีทางด้านธรณีวิทยา หรือฟิสิกส์ เพราะเมืองไทยไม่มีการเรียนการสอนด้านธรณีฟิสิกส์โดยตรง แต่มีสอนในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือสามารถเลือกเรียนต่อทางธรณีวิทยา หรือฟิสิกส์ ก็ได้โดยทำวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว
ส่วนมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนทางด้านธรณีวิทยาระดับปริญญาตรี ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยวงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งแต่ละปีมีนักศึกษาจบทางด้านธรณีวิทยาประมาณ 200 คน