xs
xsm
sm
md
lg

ไอเดียจาก “บ่อเต่า” พัฒนาสู่เครื่องเติมอากาศบำบัดน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เยาวชนทีมชนะเลิศจากโรงเรียนศึกษานารีซึ่งส่งเครื่องเติมอากาศเข้าประกวดที่ได้ไอเดียจาก บ่อเต่า
สสวท.- น้ำคือ ชีวิต หากปราศจากน้ำเพียง 3 วัน มนุษย์ก็ไม่สามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้ เกือบทุกปีประเทศไทยต้องเผชิญกับสภาวะภัยแล้ง โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม เกิดการแย่งชิงน้ำกับภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ประชาชน-พลเมือง ยังมีพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างไม่รู้คุณค่า ยังไม่รวมปริมาณน้ำเสียที่ถูกปล่อยออกมา ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ

จึงเป็นที่มาของโครงการยุวชนไทย ร่วมใจรักษ์น้ำ (Thai Tap Junior Water Prize)โดยความร่วมมือของ บริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) กับ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) ซึ่งเห็นว่าการจะให้ประชาชนไทยหันมาเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์น้ำ ต้องมีรากฐานมาจากการสร้างความตระหนักและจิตสำนึกให้กับเยาวชน

โครงการนี้ เป็นการเปิดโอกาส และกระตุ้นให้เยาวชนไทยเกิดความคิดริเริ่มเสร้างสรรค์ ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ โดยเป็นโครงการระยะ 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2554-2558 สำหรับปีนี้คือปีแรกที่เปิดให้เยาวชนไทยในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ส่งผลงานการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ที่นำความรู้ความสามารถ การค้นคว้า การวิจัย มาประยุกต์ให้เกิดนวัตกรรมใหม่ในการอนุรักษ์น้ำ ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมอนุรักษ์น้ำในชุมชนอย่างยั่งยืน”

เมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ได้นำเสนอผลงานนวัตกรรมของเยาวชนไทยที่ส่งเข้าประกวดและได้รับการคัดเลือกจำนวน 12 โครงงานวิจัย และในจำนวนนี้มีโครงงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ โครงงาน “เครื่องเติมอากาศใต้น้ำลึกโดยระบบท่อในแหล่งน้ำธรรมชาติ” จาก โรงเรียนศึกษานารี กรุงเทพฯ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ โครงงาน “สาหร่ายมหัศจรรย์สร้างสรรค์แหล่งน้ำ” จาก โรงเรียนวัดศรีมหาโพธิ์ จังหวัดนครปฐม และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ โครงงาน “ อุปกรณ์บำบัดตะกั่วจากน้ำทิ้งด้วยขี้เลื่อย” จาก โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม

สำหรับโครงงาน“เครื่องเติมอากาศใต้น้ำลึกโดยระบบท่อในแหล่งน้ำธรรมชาติ” ผลงานของน้องๆ มัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนศึกษานารี กรุงเทพมหานคร โดย นส.ชนากานต์ ธนนิวัฒน์, นส.ชนากานต์ เหลืองปฐมอร่าม และนส.เสาวลักษณ์ ชุติกุลวรวิทย์ ได้ไอเดียมาจาก “บ่อเต่า” ใกล้โรงเรียน สังเกตเห็นปลาที่อาศัยอยู่ใต้น้ำลึก จากนั้นจึงนำมาค้นคว้า วิจัยต่อจนเกิดเป็นนวัตกรรมชิ้นนี้ขึ้น พวกเราใช้เวลาทำงานกันตั้งแต่เดือนมิ.ย.54 โดยแบ่งเวลาจากการเรียนมาค้นคว้า ลองผิดลองถูก พัฒนาปรับปรุง แก้ไขให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

วัตถุประสงค์ของโครงงานวิจัยชิ้นนี้ เพื่อเติมอากาศใต้น้ำลึกโดยระบบท่อให้กับแหล่งน้ำธรรมชาติน้องชนากานต์เพื่อนร่วมทีมอีกคน เสริมว่า กว่าเราจะคิดค้นประดิษฐ์จนกระทั่งลงตัว ต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นเตรียมการ ศึกษา หาข้อมูล และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อออกแบบเครื่องมือหลายครั้ง

“ตอนแรกเราประดิษฐ์เครื่องเติมอากาศแบบเวนจูรี่และพัฒนาสู่เครื่องเติมอากาศแบบเวนจูรี่ปลายท่อต่อหัว  และแบบที่ต่อก๊อกน้ำแบบมีพัดลม โครงงานวิจัยของเรามีสมมติฐานว่า การเติมอากาศระบบท่อใต้น้ำจะช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำ และไม่ทำให้น้ำเกิดการขุ่นจากตะกอนหรือดิน โดยวัดจากปริมาณออซิเจนที่เพิ่มขึ้น” น้องชนากานต์ เล่าถึงนวัตกรรมชิ้นนี้

การคัดเลือกให้โครงงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ เพราะเป็นการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่มีการนำทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์มาใช้ได้อย่างชัดเจน และมีการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยที่เคยมีผู้ทำไว้ ซึ่งจากการทดสอบประสิทธิภาพ เครื่องเติมอากาศสามารถทำงานได้ตามสมมติฐานที่น้องๆตั้งขึ้น และเห็นผลในการพัฒนาเครื่องเติมอากาศในระดับดี

น้องๆทั้ง 3 คน จากโรงเรียนศึกษานารี เจ้าของผลงานชิ้นนี้ บอกว่า การได้รับรางวัลชนะเลิศนวัตกรรมอนุรักษ์น้ำ ในโครงการนี้ รู้สึกดีใจมาก เพราะเป็นครั้งแรกของทั้ง 3 คน ที่ร่วมทำโครงงานวิจัยชิ้นนี้ ตลอดเวลาพวกเรามีความทุ่มเทอย่างมาก พยายามปรับปรุง พัฒนาแก้ไข เพื่อให้ผลงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และในอนาคตอยากนำโครงงานชิ้นนี้ไปต่อยอดพัฒนาเพิ่มขึ้น

“น้ำสำคัญต่อการดำรงชีวิต ทุกชีวิตต้องใช้น้ำ เพื่อให้รู้จักการใช้น้ำ และสามารถนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ดังนั้นควรจะคิดก่อนใช้ ถ้าทุกคนร่วมใจกัน น้ำจะมีคุณภาพดีขึ้นอย่างแน่นอน” น้องเสาวลักษณ์ ฝากถึงทุกๆ คน

ด้านอาจารย์ พิไลลักษณ์ กุลวงศ์ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานบอกว่า การที่เด็กๆได้ทำโครงงานทำให้พวกเขาได้ฝึกฝนวิธีคิด วิธีการแก้ปัญหา ได้ลงมือปฏิบัติจริงในสิ่งที่ได้เรียนในห้องเรียน ได้ฝึกความอดทน เพราะต้องทุ่มเทเวลาอย่างมาก ในการปรับปรุงผลงานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลให้เด็กมีทัศนคติต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ด้วย เมื่อเขาประสบความสำเร็จครั้งนี้

ส่วนนายสมโพธิ ศรีภูมิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สำหรับในปี 2555 นี้เป็นปีที่สองของโครงการ ซึ่งจะมีการเปิดกว้างรับผลงานจากเยาวชนไทยทั่วประเทศที่มีความสนใจเข้าร่วม โดยหัวข้อการประกวดคือ “นวัตกรรมอนุรักษ์น้ำ เพื่อความมั่งคงทางด้านอาหาร” ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จะมีโอกาสไปร่วมประกวดในงาน “Junior Water Prize” กรุงสต๊อกโฮม ประเทศสวีเดน (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม http://www.siwi.org/stockholmjuniorwaterprize) ซึ่งบริษัท น้ำประปาไทย จำกัด(มหาชน) จะเป็นผู้สนับสนุน

“ผมหวังว่า การดำเนินโครงการนี้ จะก่อเกิดผลเป็นรูปธรรม จับต้องได้ในเรื่องการอนุรักษ์น้ำ ที่มีผลมาจากนวัตกรรมใหม่ๆจากความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชน เป็นการนำวิทยาศาสตร์มาใช้ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และประยุกต์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ และสามารถเข้าร่วมในระดับโลกได้” นายสมโพธิ์ กล่าวเชิญชวนเยาวชนไทยที่มีหัวใจอนุรักษ์ ร่วมประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์น้ำ

ด้านนายณรงค์ศิลป์ ธูปพนม รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เผยว่า โครงงานวิจัยที่มานำเสนอนั้นถือว่าเป็นโครงงานที่มีความชัดเจน มีการตั้งคำถาม กำหนดปัญหาที่ชัดเจน และนำไปสู่ทิศทางการทำงานที่ถูกต้อง และง่ายขึ้น ซึ่งการสร้างสรรค์ของนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการนี้ถือว่า นักเรียนได้เรียนรู้โดยใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์มาช่วยแก้ไขปัญหาในสิ่งแวดล้อมจริงได้อย่างดียิ่ง

“การเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์นั้นการฝึกในเรื่องของกระบวนการวิจัยเป็นเรื่องสำคัญ และการกำหนดปัญหาในการทำวิจัย ควรคำนึงถึงปัญหาที่อยู่ในกระแสความสนใจ กรณีของโครงงานนวัตกรรมอนุรักษ์น้ำ นั้นอยากเชิญชวนให้เยาวชนไทยเข้าร่วมคิดค้น สร้างสรรค์ผลงาน เพื่อหาวิธีในการใช้น้ำได้อย่างประหยัดและรู้คุณค่า นวัตกรรมที่ทำให้น้ำที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ได้ใหม่ เป็นสิ่งที่ท้าทายกับเยาวชนไทย” รองผู้อำนวยการ สสวท. กล่าว

สำหรับน้องๆ คนไหนที่สนใจส่งผลงานเข้าร่วมโครงการ ยุวชนไทย ร่วมใจรักษ์น้ำ ในปี พ.ศ.2555ในหัวข้อ “นวัตกรรมอนุรักษ์น้ำ เพื่อความมั่นคงทางด้านอาหาร” ในครั้งต่อไป สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) 
ทีมประกวดทีมอื่น
กำลังโหลดความคิดเห็น