“ยิ่งลักษณ์” ร่วมประชุมผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ กับ 53 ชาติ ยันไทยปฏิบัติตามกฏสภาความมั่นคงสหประชาชาติเคร่งครัด พร้อมเป็นส่วนหนึ่งเสริมสร้างความมั่นคงทางนิวเคลียร์
วันนี้ (27 มี.ค.) ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อเวลา 09.10 น.ตามเวลาท้องถิ่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ (2012 Seoul Nuclear Security Summit) ซึ่งในวันนี้ เป็นการประชุมหารือเต็มคณะ (Plenary Meeting) ซึ่งได้แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเช้าเวลา 09.10-11.30 น. และช่วงบ่ายเวลา 14.30-16.30 น. ซึ่งผู้นำและตัวแทนจาก 53 ประเทศ (เช่น ผู้นำสหรัฐฯ จีน รัสเซีย อินเดีย และ ญี่ปุ่น) ร่วมกันหารือในหัวข้อ “National Measures and International Cooperation to Enhance Nuclear Security” ณ ศูนย์ประชุมโคเอ็กซ์ กรุงโซล
การประชุมเต็มคณะอย่างเป็นทางการในวันนี้ ภายใต้หัวข้อ “National Measures and International Cooperation to Enhance Nuclear Security” หรือมาตรการระดับชาติในการสร้างความมั่นคงทางนิวเคลียร์ เป็นการหารือระหว่างผู้นำทั้ง 53 ประเทศ เกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์ การลดการใช้แร่ยูเรเนียมเสริมสมรรถนะสูง (Highly-Enriched Uranium : HEU) การสร้างศักยภาพด้านการตรวจพิสูจน์หาร่องรอยวัสดุนิวเคลียร์ (Nuclear Forensics) และการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการรับรองร่างแถลงการณ์กรุงโซล (Seoul Communique) ซึ่งเป็นแถลงการณ์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้นำที่เข้าร่วมการประชุมฯ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ และเพื่อลดภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่ใช้นิวเคลียร์
โดยระหว่างการหารือเต็มคณะ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณประธานาธิบดีเกาหลีสำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Seoul Summit และแสดงความเห็นว่า ในโลกโลกาภิวัตน์ปัจจุบันนี้ที่การเชื่อมโยงที่กว้างขึ้นก็มีความเสี่ยงที่มากขึ้นที่นิวเคลียร์และวัตถุที่เกี่ยวเนื่อง อาจตกไปอยู่ในกลุ่มคนที่ไม่หวังดีในทุกขณะ ไทยในฐานะหนึ่งในศูนย์กลางทางการค้า และลอจิกติกส์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องประชาคมอาเซียน และจากผู้ที่อาจจะพยายามใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงเพื่อก่อการร้ายทางนิวเคลียร์
มาตรการระดับประเทศ ปฏิบัติการระดับภูมิภาคและความร่วมมือระหว่างประเทศ จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อความสำเร็จของความมั่นคงทางนิวเคลียร์ของโลก ในส่วนของประเทศไทย ได้ปฏิบัติตามกฏระเบียบของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างเคร่งครัด และกำลังพัฒนาสู่การลงสัตยาบันในเครื่องมือทางกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสนับสนุนบทบาทกลางของ IAEA หรือองค์กรพลังงานอะตอมระหว่างประเทศ ในการเสริมสร้างความมั่นคงทางนิวเคลียร์ของโลก และนับตั้งแต่การประชุมสุดยอดวอชิงตัน หรือ Washington Summit ไทยได้เข้าร่วมในโครงการ Global Initiative to Combat Terrorism `หรือการริเริ่มของโลกเพื่อต่อสู้กับการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ ในปี 2010 และได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับหุ้นส่วน ภายใต้กรอบการดำเนินงาน และทางทวิภาคีและข้อริ่เริ่มอื่นๆ เช่น โครงการ Megaports Initiative และ Container Security Initiative นอกจากนี้ ไทยยังกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการเข้าร่วม Proliferation Security Initiative ขณะเดียวกัน ไทยยืนยันการเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการเสริมสร้างความมั่นคงทางนิวเคลียร์
ในระดับภูมิภาค ไทยได้ริเริ่มการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัย ความมั่นคงปลอดภัยและการพิทักษ์วัสดุนิวเคลียร์ในการใช้พลังงานปรมาณูทางสันติ (INTERNATIONAL CONFERENCE ON SAFETY, SECURITY, AND SAFEGUARDS IN NUCLEAR ENERGY) เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งในการประชุมไทยได้เสนอการสร้างเครือข่ายร่างกฎระเบียบนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะช่วยให้ภูมิภาคปลอดภัยขึ้นจากการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ ขณะเดียวกัน ไทยกำลังพัฒนาแนวคิดนี้ต่อไปในการประชุมสุดยอดอาเซียนเดือนหน้านี้
นอกจากนี้ การพิสูจน์หลักฐานทางนิวเคลียร์ เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอีกเครื่องมือหนึ่ง การทำงานร่วมกับหุ้นส่วนใน Asean Regional Forum ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาเพื่อสร้างศักยภาพและการตระหนักถึงการพิสูจน์หลักฐานทางนิวเคลียร์ในภูมิภาค นอกจากนี้ ไทยกำลังอยู่ในกระบวนการการก่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อการตรวจพิสูจน์หลักฐานทางนิวเคลียร์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับศักยภาพทางเทคนิคในเรื่องสืบค้นทางนิวเคลียร์
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่าที่ประชุมนี้มีเป้าหมายเดียวกันที่จะโลกปลอดจากการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างให้โลกปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์ ความพยายามและความตั้งใจร่วมกันจะเป็นทางสู่โลกที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับลูกหลานต่อไป