นายกฯ ร่วมประชุมผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ยันอาเซียนต้องปลอดการก่อการร้ายและภัยคุกคามทางนิวเคลียร์ ระบุไทยพร้อมดำเนินการและร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของภูมิภาคและโลก อีกทั้งได้หารือทวิภาคี “นายกฯ นิวซีแลนด์” พร้อมชวนมาร่วมงาน “WEF on East Asia” ในเดือน พ.ค.55
วันนี้ (27 มี.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ (2012 Seoul Nuclear Security Summit) ซึ่งในวันนี้เป็นการประชุมหารือเต็มคณะ (Plenary Meeting) ซึ่งได้แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเช้าเวลา 09.10-11.30 น. และช่วงบ่ายเวลา 14.30-16.30 น. ซึ่งผู้นำและตัวแทนจาก 53 ประเทศ เช่นผู้นำสหรัฐฯ จีน รัสเซีย อินเดีย และญี่ปุ่น ร่วมกันหารือในหัวข้อ “National Measures and International Cooperation to Enhance Nuclear Security” ณ ศูนย์ประชุมโคเอ็กซ์ กรุงโซล
การประชุมเต็มคณะอย่างเป็นทางการในวันนี้ ภายใต้หัวข้อ “National Measures and International Cooperation to Enhance Nuclear Security” หรือ มาตรการระดับชาติในการสร้างความมั่นคงทางนิวเคลียร์ เป็นการหารือระหว่างผู้นำทั้ง 53 ประเทศ เกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์ การลดการใช้แร่ยูเรเนียมเสริมสมรรถนะสูง (Highly-Enriched Uranium : HEU) การสร้างศักยภาพด้านการตรวจพิสูจน์หาร่องรอยวัสดุนิวเคลียร์ (Nuclear Forensics) และการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการรับรองร่างแถลงการณ์กรุงโซล (Seoul Communique) ซึ่งเป็นแถลงการณ์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้นำที่เข้าร่วมการประชุมฯ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ และเพื่อลดภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่ใช้นิวเคลียร์
โดยระหว่างการหารือเต็มคณะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้กล่าวขอบคุณประธานาธิบดีเกาหลีสำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Seoul Summit และแสดงความเห็นว่าในโลกโลกาภิวัตน์ปัจจุบันนี้ที่การเชื่อมโยงที่กว้างขึ้น ก็มีความเสี่ยงที่มากขึ้นที่นิวเคลียร์และวัตถุที่เกี่ยวเนื่อง อาจตกไปอยู่ในกลุ่มคนที่ไม่หวังดี ในทุกขณะ ไทยในฐานะหนึ่งในศูนย์กลางทางการค้า และโลจิกติกส์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องประชาคมอาเซียน และจากผู้ที่อาจจะพยายามใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงเพื่อก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ ดังนั้น มาตรการระดับประเทศ ปฏิบัติการระดับภูมิภาคและความร่วมมือระหว่างประเทศ จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อความสำเร็จของความมั่นคงทางนิวเคลียร์ของโลก
“ในส่วนของประเทศไทยได้ปฏิบัติตามกฏระเบียบของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างเคร่งครัด และกำลังพัฒนาสู่การลงสัตยาบันในเครื่องมือทางกฏหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง สนับสนุนบทบาทกลางของ IAEA หรือองค์กรพลังงานอะตอมระหว่างประเทศ ในการเสริมสร้างความมั่นคงทางนิวเคลียร์ของโลก และนับตั้งแต่การประชุมสุดยอดวอชิงตัน หรือ Washington Summit ไทยได้เข้าร่วมในโครงการ Global Initiative to Combat Terrorism `หรือการริเริ่มของโลกเพื่อต่อสู้กับการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ ในปี 2010 และได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับหุ้นส่วน ภายใต้กรอบการดำเนินงาน และทางทวิภาคีและข้อริ่เริ่มอื่นๆ เช่น โครงการ Megaports Initiative และ Container Security Initiative นอกจากนี้ ไทยยังกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการเข้าร่วม Proliferation Security Initiative ขณะเดียวกัน ไทยยืนยันการเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการเสริมสร้างความมั่นคงทางนิวเคลียร์” น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุ
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวต่อว่า ในระดับภูมิภาค ไทยได้ริเริ่มการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัย ความมั่นคงปลอดภัยและการพิทักษ์วัสดุนิวเคลียร์ในการใช้พลังงานปรมาณูทางสันติ (INTERNATIONAL CONFERENCE ON SAFETY, SECURITY, AND SAFEGUARDS IN NUCLEAR ENERGY) เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งในการประชุม ไทยได้เสนอการสร้างเครือข่ายร่างกฏระเบียบนิวเคลียร์ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะช่วยให้ภูมิภาคปลอดภัยขึ้นจากการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ ขณะเดียวกัน ไทยกำลังพัฒนาแนวคิดนี้ต่อไปในการประชุมสุดยอดอาเซียนเดือนหน้านี้ นอกจากนี้ การพิสูจน์หลักฐานทางนิวเคลียร์ เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอีกเครื่องมือหนึ่ง การทำงานร่วมกับหุ้นส่วนใน Asean Regional Forum ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาเพื่อสร้างศักยภาพและการตระหนักถึงการพิสูจน์หลักฐานทางนิวเคลียร์ในภูมิภาค นอกจากนี้ ไทยกำลังอยู่ในกระบวนการการก่อตั้ง ศูนย์ความเป็นเลิศ เพื่อการตรวจพิสูจน์หลักฐานทางนิวเคลียร์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับศักยภาพทางเทคนิคในเรื่องสืบค้นทางนิวเคลียร์
นายกฯ ได้กล่าวว่าในตอนท้ายด้วยว่า ในที่ประชุมแห่งนี้มีเป้าหมายเดียวกัน ที่จะให้โลกปลอดจากการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างให้โลกปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์ ความพยายามและความตั้งใจร่วมกันจะเป็นทางสู่โลกที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับลูกหลานต่อไป โดยที่ความมั่นคงทางนิวเคลียร์มีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากไทยมีการใช้นิวเคลียร์ไปในทางสันติ เช่น ทางการถนอมอาหาร ทางการแพทย์ ดังนั้นประเทศไทยต้องทำให้มั่นใจว่านิวเคลียร์จะไม่ตกไปอยู่ในมือของผู้ก่อการร้าย หรือผู้ที่ไม่หวังดี ที่จะนำนิวเคลียร์ไปสร้างเป็น Dirty Bomb ที่มีการทำลายล้างค่อนข้างสูง
ทั้งนี้ ระหว่างพักการประชุม เวลา 12.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เข้าพบเพื่อหารือกับนายจอห์น คีย์ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ระหว่างการเข้าร่วมการประชุมผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ โดยได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ทั้งสองประเทศได้ประสบเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งนายกฯ ได้กล่าวขอบคุณทางการนิวซีแลนด์ที่ให้ความช่วยเหลือไทยในเหตุการณ์อุทกภัย พร้อมกับชี้แจงแผนการฟื้นฟูและการป้องกันอุทกภัยของไทยแก่นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์
อย่างไรก็ตาม สำหรับการหารือระดับทวิภาคีครั้งนี้ ได้หารือเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือด้านการศึกษาและการสอนภาษาอังกฤษในไทย ประเด็นใหม่ที่ควรมีการผลักดัน อาทิ การวิจัย และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และประเด็นความร่วมมือทางการค้า ซึ่งในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เชิญนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum on East Asia ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 30 พ.ค. - 1 มิ.ย.55 ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างไทยและนิวซีแลนด์อยู่ในระดับดีมาก ทั้งสองประเทศมีความร่วมมือในมิติต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือสาขาที่สำคัญ ได้แก่ การศึกษา การค้าภายใต้ความตกลงว่าด้วยหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น (Thai-New Zealand Closer Economic Partnership : TNZCEP) ด้านแรงงาน ความมั่นคง สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยมีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-นิวซีแลนด์ (Thai - New Zealand Joint Commission Meeting : JC) เป็นกลไกการหารือทวิภาคี
จากนั้นในเวลา เวลา 12.30 น. ภายหลังการหารือทวิภาคีกับนายจอห์น คีย์ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เข้าร่วมรับประทานอาหารกลางวันแบบ Working Lunch ซึ่งมีผู้แทนจากทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) และสหประชาชาติ (UN) เป็นผู้นำการหารือ ในหัวข้อ “Synergy Between Nuclear Security and Nuclear Safety” ณ ศูนย์ประชุมโคเอ็กซ์ กรุงโซล
ทั้งนี้ ผู้แทนจาก IAEA และ UN ได้นำประเด็นการหารือเรื่อง “Synergy Between Nuclear Security and Nuclear Safety” ซึ่งเกี่ยวกับการสอดคล้องอย่างแตกต่าง (synergy) ระหว่างนโยบายด้านความปลอดภัยกับความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ซึ่งประเทศต่างตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการรัดกุมในเรื่องความมั่นคงทางนิวเคลียร์ เพื่อป้องกันและรักษาวัสดุนิวเคลียร์และวัสดุกัมมันตรังสีมิให้ไปอยู่ในความครอบครองของกลุ่มบุคคลที่ไม่พึงประสงค์ อันเป็นมาตรการที่สำคัญในการป้องกันการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ ซึ่งไทยยังคงยืนยันถึงความพร้อมที่จะปฏิบัติตามแนวทางและมาตรฐานของ IAEA และส่งเสริมความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาคและในประชาคมระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์และการป้องกันการก่อการร้ายอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการเข้าร่วมประชุมนิวเคลียร์ซัมมิตแล้ว ในเวลา 19.00 น. นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองและงานเลี้ยงอาหารค่ำแบบ Gala Dinner ที่นาย Lee Myung-bak ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี และนาง Kim Yook-ok ภริยา เป็นเจ้าภาพ
ก่อนเดินทางกลับประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีและคณะจะออกเดินทางจากท่าอากาศยานอินชอนในเวลา 23.00 น. ด้วยเครื่องบินเที่ยวพิเศษของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และเดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วันที่ 28 มี.ค.55 เวลา 02.55 น.