xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ฟุ้งสตรีแดนกิมจิต้องฟันฝ่าขวากหนามขึ้นนั่งนายกฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
มหาวิทยาลัยสตรีชั้นนำเกาหลี ชื่นชมนโยบายการพัฒนาบทบาทสตรีของ รบ.ไทย “ปู” สบโอกาสฟุ้ง กว่าจะมีวันนี้ต้องยืนหยัดต่อสู้ และพิสูจน์ตนเองทุกวันท่ามกลางอุปสรรคขวากหนาม พร้อมเชิญชวนนักธุรกิจเกาหลี ลงทุนในประเทศ ยืนยันไทยมีความพร้อมและศักยภาพในทุกด้าน โดยรัฐบาลสนับสนุนอย่างเต็มที่

วันนี้ (26 มี.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมรับประทานอาหารเช้า (Working Breakfast) ร่วมกับนักธุรกิจไทยเพื่อสอบถามปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงรับฟังคำแนะนำต่างๆ จากภาคเอกชน

จากนั้น นายกรัฐมนตรีออกเดินทางจากโรงแรมล็อตเต้ไปยังมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา (Ehwa Woman’s University) กรุงโซล เพื่อกล่าวสุนทรพจน์แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา โดยมี ดร.คิม ซอน อุ๊ก (Kim Sun Uk) อธิการบดีมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา รอให้การต้อนรับ และถ่ายภาพร่วมกัน

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวาเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลเกาหลีใต้ และเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอย่างมากของเกาหลีใต้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2429 โดยมิชชันนารี Mary F.Scranton เพื่อให้สตรีมีความรู้ขั้นสูงในด้านต่างๆ โดยคำว่า “อีฮวา” หมายถึง Pear Blossoms และชื่อของมหาวิทยาลัยที่ใช้คำว่า Womans แทน Women เพื่อต้องการเน้นถึงผู้หญิงหลายคน โดยมหาวิทยาลัย ยึดหลัก 3 ประการ ได้แก่ ความรู้ ความดี และความงาม ที่ผ่านมา มีนักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา ทั้งในระดับปริญญาตรี-โท-เอก รวมทั้งสิ้นประมาณ 180,000 คน โดยอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของรัฐมนตรีหญิง และสมาชิกรัฐสภาหญิงของเกาหลีใต้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนี้ ปัจจุบัน มีนักศึกษาที่ลงทะเบียนประมาณ 20,000 คน นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีประสบการณ์ต้อนรับผู้นำสตรีระดับสูงจากประเทศต่างๆ และมหาวิทยาลัยให้ทุนการศึกษา Ewha Global Partnership Program แก่นักศึกษาจากประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งในแต่ละปีจะมีนักเรียนไทยได้รับทุนนี้ภาคเรียนละ 1-2 ราย

นายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสนี้บรรยายพิเศษเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของไทย แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา ณ ห้องประชุม LG Convention Hall โดยระบุว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาเยือนมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยผู้หญิงล้วนที่เก่าแก่และมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ดิฉันได้ทราบมาว่าสถาบันแห่งนี้ได้ผลิตสตรีชั้นแนวหน้าของเกาหลีใต้ในหลายวงการ มีรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสตรีของเกาหลีใต้เกินกว่าครึ่งที่จบการศึกษา ณ ที่นี้ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งของมหาวิทยาลัยในการช่วยยกระดับสถานะของสตรีในสังคม การมาเยือนเกาหลีใต้ของดิฉันครั้งนี้ ดิฉันจึงตั้งใจที่จะมาที่นี่ มาเพื่อเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาบทบาทของสตรี และเพื่อจะได้นำไปปรับใช้ในการพัฒนาการศึกษาของสตรีไทยด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นผู้หนึ่งที่ชื่นชมการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของสตรีในเกาหลีใต้ที่ทำให้สถานภาพของสตรีมีความก้าวหน้ามากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย จากดัชนีชี้วัดความเท่าเทียมทางเพศของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ในปี 2011 ได้จัดอันดับให้เกาหลีใต้อยู่ในลำดับที่ 11 ของโลก ซึ่งตัวเลขนี้ มีความสัมพันธ์กับระดับของการพัฒนาประเทศด้วย โดยปรากฏว่า ยิ่งสถานภาพของผู้หญิงอยู่ในอันดับที่สูงมากเท่าไร ระดับของการพัฒนาประเทศก็ยิ่งสูงตามเท่านั้น อันเป็นบทพิสูจน์สำคัญของพลังของสตรีในการช่วยพัฒนาประเทศที่ไม่สามารถมองข้ามได้ และทำให้เห็นชัดเจนว่าผู้หญิงนั้น มีศักดิ์ศรี และบทบาทไม่ด้อยไปกว่าผู้ชายในการทำงาน และสร้างความเจริญแก่ประเทศแต่ประการใด

ในขณะเดียวกัน ผู้หญิงยังมีความอ่อนโยน ละเอียดอ่อน ซึ่งเป็นพื้นฐานของทักษะในการผลิต การค้า และการบริการที่สำคัญ และความเป็นเพศแม่ช่วยทำให้สังคมมีความเมตตากรุณา ประนีประนอม เกื้อหนุนเพื่อความสงบสันติ นอกจากนี้ ดิฉันเชื่อว่าหากเราทั้งหญิงชายทำงานร่วมกัน เกื้อกูลกัน ทักษะความสามารถที่แตกต่างเมื่อรวมพลังกัน จะนำพามาซึ่งประโยชน์และความเจริญต่อมวลมนุษยชาติได้

นายกรัฐมนตรียังได้เล่าถึงสถานะภาพของสตรีของประเทศไทยว่า ในข้อเท็จจริงแล้วผู้หญิงไทยนั้นมีสถานะไม่ได้แตกต่างจากผู้หญิงเอเชียทั่วไป และผู้หญิงเกาหลีใต้เท่าใดนัก กว่าที่ดิฉันมายืนตรงนี้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้ได้การยอมรับ และถึงแม้เมื่อดำรงตำแหน่งแล้วก็ยังต้องพิสูจน์ตนเองทุกวันไม่หยุดหย่อน ดิฉันเข้าใจดีว่าเส้นทางของผู้หญิงที่จะประสบความสำเร็จได้มีอุปสรรคขวากหนามมากมาย ต้องอดทนหนักแน่น และที่สำคัญที่สุด คือ การใช้ความสามารถไขว่คว้า “โอกาส” ที่เปิดขึ้นเพื่อจะได้ใช้ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ในการพัฒนาประเทศอันเป็นที่รัก

ดังนั้น เหตุผลหนึ่งที่สู่วงการเมือง คือ ต้องการผลักดันการ “สร้างโอกาส” ให้กับพี่น้องสตรีทุกวัยทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในวงการธุรกิจ การเมือง หรืออื่นใดก็ตาม และในการที่จะใช้โอกาสนั้นสร้างสถานภาพทางเศรษฐกิจที่มั่นคง ตลอดจนการดูแลครอบครัวและตนเองให้มีความสุข ซึ่งวันนี้ประเทศไทย มีรัฐธรรมนูญที่ประกันสิทธิของหญิงชายอย่างเท่าเทียมกัน มีการจัดทำแผนพัฒนาสตรีแห่งชาติมีการออกมาตรการทางกฎหมายเพื่อรองรับหลายฉบับ แต่โอกาสและบทบาทของสตรียังสามารถก้าวไกลไปกว่าที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร

รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายสำคัญและเร่งด่วนเพื่อส่งเสริมบทบาทสตรี ด้วยการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการลงทุน พัฒนาอาชีพ สร้างงานสร้างรายได้ และความรู้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ผู้หญิงทุกคน ตลอดจนองค์กรและเครือข่ายสตรีสามารถใช้เงินกองทุนเพื่อนำไปเสริมสร้างสวัสดิภาพและสวัสดิการของสตรี รวมทั้งนำไปสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาของสตรี อาทิ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ และการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลทางเพศ ทั้งนี้ กองทุนจะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงในทุกระดับ ไม่ว่ายากดีมีจน ในเมืองหรือในชนบทเข้ามามีส่วนร่วมดิฉันภูมิใจที่จะรายงานให้ทราบว่า หลังจากกองทุนตั้งมาได้เพียง 1 เดือน มีผู้หญิงไทยทั่วประเทศเข้ามาเป็นสมาชิกแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน โดยดิฉันตั้งเป้าว่าต้องการให้ผู้หญิงไทยเข้าเป็นสมาชิกให้ได้มากที่สุด เพราะดิฉันเชื่อว่าโอกาสที่เกิดขึ้นจากการมีกองทุน จะทำให้ผู้หญิงไทยมีเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของตนเพื่อประโยชน์ของครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติต่อไป

นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า พลังของผู้หญิงไม่จำกัดอยู่แต่ในระดับชุมชนหรือประเทศ แต่หากยังสามารถเชื่อมโยงเกื้อหนุนเพื่อประโยชน์ของชาวโลกได้ด้วย เมื่อวานนี้ ดิฉันได้มีโอกาสหารือกับท่านบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ โดยได้แจ้งแก่ท่านว่า ประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการ Every Woman Every Child (EWEC) ภายใต้แผนยุทธศาสตร์โลกสำหรับสุขภาพของสตรีและเด็ก ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความริเริ่มของท่านเลขาธิการสหประชาชาติ ในนามของประเทศไทยได้มอบคำมั่นแสดงเป้าหมายของการพัฒนาสุขภาพของสตรีในประเทศไทย เพื่อยืนยันว่า รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสตรี และพร้อมที่จะร่วมมือกับสหประชาชาติในการบรรลุซึ่งเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ในโอกาสดังกล่าวยังได้แสวงหาความร่วมมือกับสหประชาชาติให้มาช่วยพัฒนาการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของไทย โดยได้เชิญให้องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อนำประสบการณ์และข้อเสนอแนะมาใช้ประโยชน์ต่อไปด้วย

สุดท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวให้กำลังใจกับพี่น้องผู้หญิงที่อยู่ในสถาบันการศึกษาแห่งนี้ ให้ประสบความสำเร็จ และเชื่อว่า ทุกท่านมีความสามารถและมีความพร้อม ดังนั้น หากได้รับโอกาสก็จะสามารถก้าวไปตามความฝันที่ทุกท่านได้ตั้งใจไว้ ก็มั่นใจว่า ทุกท่านจะเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับบทบาทของสตรี ให้เป็นผู้นำในการพัฒนาสังคมและประเทศ ให้ก้าวไกลดั่ง “อีฮวา” หรือการเบ่งบานของดอกแพร์ตลอดไป

ภายหลังเสร็จสิ้นการกล่าวสุนทรพจน์แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา เวลา 11.30 น.นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางกลับโรงแรมที่พัก เพื่อมาร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันกับภาคธุรกิจเอกชนไทย-เกาหลีใต้ ณ ห้อง Crystal Ballroom โรงแรมล้อตเต้ โดยมีผู้ร่วมงานทั้งสิ้นกว่า 450 คน ซึ่งผู้ร่วมงานจากภาคเอกชนเกาหลี ประกอบไปด้วยบริษัทเอกชนชั้นนำและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาทิ บริษัท Samsung LG Hyundai K-Water SM Entertainment และบริษัท KORAIL เป็นต้น

ทั้งนี้ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ นายนิชคุณ หรเวชกุล ศิลปินนักร้องชาวไทยที่ไปโด่งดังมีชื่อเสียงในเกาหลี และเป็นที่ยอมรับชื่นชอบของชาวเกาหลี ได้เดินทางมามอบช่อดอกไม้ เพื่อต้อนรับนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งพูดคุยกับนายกรัฐมนตรี และได้เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวัน เพื่อรับฟังนายกรัฐมนตรีกล่าวสุนทรพจน์ด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตีได้กล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงอาหารกลางวันภาคธุรกิจเอกชนไทย-เกาหลีใต้ โดยเริ่มจากการมีใจชื่นชมความสัมพันธ์ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี ว่า เป็นมิตรและหุ้นส่วนที่ใกล้ชิด และมิตรภาพนี้เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงสงครามเกาหลี ที่ร่วมกับสหประชาชาติเพื่อรักษาเสรีภาพ และวันนี้ สาธารณรัฐเกาหลีมีเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าและประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ซึ่งภาคเอกชนเองมีบทบาทสำคัญในความสำเร็จนี้ และทำให้สาธารณรัฐเกาหลีเป็นผู้นำในภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไทยและสาธารณรัฐเกาหลี ได้ร่วมสร้างการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่เข้มแข็ง รวมทั้งความผูกพันระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ ในด้านการค้าและการลงทุนกว่า 500 บริษัทของเกาหลีดำเนินธุรกิจในไทย ปีที่ผ่านมามูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 15.1 พันล้านวอน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จากปีที่แล้ว ขณะที่การลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 51 ส่วนการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวเกาหลีเดินทางไปไทยกว่า 1 ล้านคน ส่วนนักท่องเที่ยวไทยมาเกาหลี 310,000 คน ซึ่งจะต้องผลักดันการขยายตัวทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวให้ความเชื่อมั่นถึงความเป็นหุ้นส่วนของไทยว่า จากวิกฤตอุทกภัยในปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการลงทุนด้านการบริหารจัดการน้ำ มูลค่า 350,000 ล้านบาท เพื่อป้องกันอุทกภัยในหน้าฝนที่จะมาถึง ในการนี้ ได้จัดการปรับอัตราการกักเก็บน้ำเพื่อให้เขื่อนเก็บน้ำมากขึ้นในช่วงหน้าฝน การป้องกันเขตอุตสาหกรรม โดยมีแนวกันน้ำรอบๆนิคมอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ที่สำคัญ ศูนย์สั่งการเดียว หรือ The Single Command ได้มีการจัดตั้งขึ้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานแบบ One Stop Service ที่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว นอกจากนี้ ปีที่ผ่านมา มีแหล่งข้อมูลข่าวสารที่มากมายเกี่ยวกับการพยากรณ์ ทำให้ต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานเดียวที่ทำหน้าที่เตือนภัย พยากรณ์ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกัน

ทั้งนี้ แม้ว่าไทยจะประสบวิกฤตอุทกภัย แต่พื้นฐานทางเศรษฐกิจยังคงเข้มแข็ง การเติบโตที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เป็นผลมาจาก การส่งออกที่เข้มแข็ง การใช้จ่ายโครงการบริหารจัดการน้ำ และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ดังนั้น จึงคาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตร้อยละ 5.5-6.5 และสถานะทางการเงินการคลังที่เข้มแข็ง เหล่านี้เป็นปัจจัยทำให้รัฐบาลสมารถขับเคลื่อนการขยายการลงทุนต่อไปได้

รัฐบาลมีนโยบายที่เป็นมิตรต่อการลงทุน เพื่ออำนวยความสะดวกการลงทุน โดยจะลดภาษีรายได้ของบริษัทลงเป็นร้อยละ 23 ในปีนี้ และจะลดเป็นร้อยละ 20 ในปีหน้า รวมทั้งการส่งเสริมให้จัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทย

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ลงทุน 72 พันล้านเหรียญสหรัฐในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ใน 5 ปีข้างหน้า เช่น รถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯไปเชียงใหม่ โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่จะเชื่อมอาเซียนกับเอเชียใต้และโดยรอบ ซึ่งเชื่อมั่นว่า โครงการเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมให้ไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ และขยายการเชื่อมโยงต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าการลงทุนในไทยต่อไป ดังนั้น ไทยจึงเป็นศูนย์กลางสำหรับสินค้า ผลิตภัณฑ์ในการเชื่อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่มีผู้บริโภคดึงดูดการลงทุนยิ่งขึ้น

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนนักลงทุนเกาหลีให้เข้ามาลงทุนในไทยในอุตสาหกรรมที่เพิ่มมูลค่าเช่น ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า รถยนต์ และอะไหล่ เครื่องจักรและเครื่องมือ พลังงานทางเลือก และการแปรรูปเกษตร รวมทั้งการบริการที่เพิ่มมูลค่า เช่น การวิจัยและพัฒนา การตั้งสำนักงานระดับภูมิภาค อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เช่น บันเทิง และซอฟต์แวร์

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า ความเป็นหุ้นส่วนไทยและเกาหลีจะพัฒนายิ่งขึ้น และภาคเอกชนเกาหลีจะเป็นเสาหลักของความเป็นหุ้นส่วนนี้

ภายหลังการกล่าวสุนทรพจน์ นายกรัฐมนตรีได้เปิดโอกาสให้บริษัทเกาหลีต่างๆที่สนใจลงทุนในประเทศไทย เข้าพบหารือเป็นรายบริษัท อาทิ บริษัท แอลจี อิเลคทรอนิคส์ บริษัท ซัมซุง กรุ๊ป บริษัทเหล็ก ยูเนี่ยน สตีล

การประชุม Nuclear Security Summit 2012 เริ่มขึ้นแล้ว โดยนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองและพบปะกับผู้นำต่างๆ ที่เข้าร่วมการประชุม

จากนั้นนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมพิธีต้อนรับและงานเลี้ยงรับรองการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ประจำปี 2555 ที่สาธารณรัฐเกาหลีเป็นเจ้าภาพ โดยมีผู้นำกว่า 53 ประเทศ และ 4 องค์กร เข้าร่วม โดยวันนี้ เป็นการหารือระหว่างผู้นำอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับความคืบหน้าของการดำเนินการด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์จากครั้งที่ผ่านมา

โดยนายกรัฐมนตรีและคณะออกเดินทางไปยังศูนย์ประชุมโคเอ็กซ์ (COEX) เพื่อเข้าร่วมในพิธีการต้อนรับอย่างเป็นทางการและงานเลี้ยงรับรองผู้นำ (Official Welcome and Reception) ที่จัดขึ้นสำหรับการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ปี 2555 ในเวลา 16.30 น.ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้นำจากประเทศต่างๆ 53 ประเทศ (อาทิ ผู้นำสหรัฐ จีน รัสเซีย อินเดียและญี่ปุ่น) และ 4 องค์กร (สหประชาชาติ, ทบวงปรมาณูเพื่อสันติ, ตำรวจสากล, สหภาพยุโรป)

โดยในเวลา 18.30 น. นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำในลักษณะ Working Dinner ภายใต้หัวข้อ “Review of the Progress Made Since the 2010 Summit” ซึ่งเป็นการหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าของการดำเนินการด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์ภายหลังการประชุม Nuclear Security Summit (NSS) เมื่อปี 2553 ณ กรุงวอชิงตัน ที่ริเริ่มโดยสหรัฐฯ ซึ่งในวันนี้ เป็นการทบทวนผลการประชุม NSS ครั้งที่ 1 ที่ผู้นำทุกประเทศต่างเห็นพ้องว่า การก่อการร้ายที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นภัยคุกคามที่เร่งด่วนและร้ายแรงที่สุดต่อความมั่นคงระหว่างประเทศ และมาตรการที่มีประสิทธิผลที่สุดในการป้องกันมิให้กลุ่มผู้ก่อการร้ายได้มาซึ่งอาวุธนิวเคลียร์ ได้แก่ การเสริมสร้างความมั่นคงทางนิวเคลียร์ให้แข็งแกร่ง ซึ่งประกอบด้วย การคุ้มครองวัสดุนิวเคลียร์อย่างรัดกุม และการป้องกันการลักลอบซื้อขายวัสดุนิวเคลียร์ และความจำเป็นที่ต้องส่งเสริมบทบาทของ IAEA ในเรื่องนี้ ซึ่งในครั้งนั้น ที่ประชุมได้แสดงแจตนารมณ์ที่จะบรรลุเป้าหมายในการเสริมสร้างความมั่นคงต่อวัสดุนิวเคลียร์ทั่วโลกภายใน 4 ปี และยึดมั่นต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ประเทศต่างๆ ได้หยิบยกแนวทางการดำเนินการของตัวเอง อาทิ รัสเซียและสหรัฐฯ ตกลงที่จะกำจัดแร่พลูโตเนียมที่ใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ในขณะที่ แคนาดา ชิลี เม็กซิโก ยูเครน ประกาศจะกำจัดยูเรเนียม (Highly Enriched Uraniupm) ที่มีอยู่ในครอบครอง จีน อินเดีย อิตาลี และ ญี่ปุ่น ได้ประกาศจะก่อตั้งสถาบันเพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์และจัดการฝึกอบรมในเรื่องนี้ อาร์เจนตินา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม รวมทั้ง ประเทศไทย ได้ประกาศการเข้าร่วม Global Initiative to Combat Nuclear Terrorism (GICNT) ซึ่งเป็นความร่วมมือในการปราบปรามการก่อการร้ายด้วยวัสดุนิวเคลียร์
กำลังโหลดความคิดเห็น