xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” โยนสภาชี้ขาดแผนปรองดอง-แบไต๋ปลายทาง “ยกเลิก คตส.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (แฟ้มภาพ)
“ยิ่งลักษณ์” อ้างแนวทางปรองดองต้องใช้เวทีสภาชี้ขาด ชี้ข้อเสนอสถาบันพระปกเกล้า เป็นแค่ส่วนหนึ่ง ไม่ควรสรุปกันข้างนอก ต้องมาถกเถียงกันในสภา ยอมรับยกเลิกคดี คตส.เป็นอีกปลายทางหนึ่ง

เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 24 มี.ค. ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ในโอกาสเยือนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 24-27 มี.ค. ถึงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าแนวทางการสร้างความปรองดองที่ทำอยู่ทุกวันนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ทางออกที่ดีที่สุดคือการออก พ.ร.บ.ปรองดองว่า ในความรู้สึกส่วนตัวมองว่าเรากำลังคุยกันในเชิงเทคนิคว่ากำลังทำอะไร แต่ก็อยากให้มาคุยกันในเชิงของหลักการมากกว่า เพราะว่าจริงๆ แล้วเป้าหมายสุดท้ายของทุกแนวทางก็คือ อยากเห็นความปรองดองของประเทศ ตนคิดว่าวิธีที่ควรจะไปหารือที่ดีที่สุดก็คือ วิธีที่อยู่ในรัฐสภา เพราะรัฐสภาเปรียบเสมือนผู้แทนของประชาชนทุกคนในประเทศที่จะได้มีการมาถกเถียงกัน และรับฟังข้อคิดเห็นของทุกคนเพื่อที่จะหาทางออกร่วมกัน ซึ่งตนไม่อยากให้ไปถึงปลายทางว่าเราจะทำอย่างไร แต่เราต้องมาคุยกันในเรื่องของหลักของเป้าหมาย แนวทาง แล้วค่อยไปถึงวิธีการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่งเช่นกัน เพราะทุกอย่างก็เป็นข้อเสนอ แต่ไม่ควรจะเป็นข้อสรุปที่อยู่ข้างนอก ควรจะเป็นข้อสรุปที่ถกเถียงกันในสภา และใช้เวทีสภาในการรับฟังความคิดเห็นของทุกคนอย่างกว้างขวาง

เมื่อถามว่า มองข้อเสนอที่ให้มีการยกเลิกคดีที่มาจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) อย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เช่นเดียวกัน ตนมองว่านี่คือปลายทางที่จะทำอย่างไร แต่เราน่าจะคุยกันเรื่องของหลักการต้นทางก่อน ที่สำคัญคือ ให้กระบวนการทุกอย่างเป็นไปอย่างยุติธรรม โดยหาแนวทางที่เป็นทางออกร่วมกันของประเทศ ถ้าเราตั้งอยู่บนหลักที่ต่างคนต่างตั้ง ก็เชื่อว่าทางออกไม่มี ซึ่งอยากให้มองไปข้างหน้าร่วมกันก่อนว่า ถ้าร่วมกันเราจะทำงานอย่างไร ประเทศจะเดินหน้าอย่างไร แล้วค่อยมากลับมาดูในปัญหาปลายทางว่าหลังจากนั้นยังติดอุปสรรคอะไรบ้าง ค่อยๆ แกะไปทีละปม บางครั้งอาจต้องใช้เวลาในการที่จะพูดคุยกัน เพราะตนก็เห็นด้วยกับการที่จะต้องมีเวทีต่างๆ ที่จะพูดคุยกัน แต่เวทีที่สามารถจะสรุปได้ก็ยังมองว่าอยากให้เป็นกระบวนการของสภาที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องพูดคุยกัน

ต่อข้อถามว่า รัฐบาลจะเป็นผู้เสนอเข้าไปให้มีการหารือกันในสภาใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เราถือว่าทุกอย่างเป็นกระบวนการของรัฐสภา รัฐบาลเองก็คงจะทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ และสิ่งไหนที่จะเอื้อให้แก่บรรยากาศต่างๆ ที่เกิดการปรองดองเราก็ยินดีสนับสนุน และรับฟังความคิดเห็นของทุกคน เมื่อถามว่า จะขอร้องให้ทุกฝ่ายที่ออกมาเคลื่อนไหวในทุกวันนี้ยุติ แล้วไปพูดคุยกันในสภาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ใช่ เพราะตนคิดว่าการที่เราจะเคลื่อนไหวอะไรก็ขอให้เป็นการแสดงออกในระบอบประชาธิปไตย เป็นไปอย่างสันติ และใช้วิธีการแสดงออกในการรวบรวมความคิดเห็นผ่านสภาของแต่ละจังหวัด หรือ ผ่านตัวแทนของประชาชนให้ไปพูดกันในสภา

น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังให้สัมภาษณ์ถึงการดำเนินการทูลเกล้าฯ ถวายบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปีว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ โดยรายชื่อเป็นไปตามที่เสนอขึ้นมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นในเวลา 07.20 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมด้วยนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายนิรุตติ คุณวัฒน์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเครื่องบินพิเศษของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไปยังกรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลีใต้ ในโอกาสเยือนอย่างเป็นทางการ และเข้าร่วมประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ประจำปี 2555 ระหว่างวันที่ 24-27 มี.ค.

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีและคณะ มีกำหนดการเดินทางถึงกรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลีใต้ ในช่วงบ่าย จากนั้นมีกำหนดการเดินทางไปวางพวงมาลา ณ สุสานแห่งชาติกรุงโซล (Seoul National Cemetery) ก่อนเข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ณ ทำเนียบประธานาธิบดี และหารือทวิภาคีเต็มคณะกับประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ก่อนร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความตกลงระหว่างไทยและสาธารณรัฐเกาหลีใต้ แถลงข่าวร่วมกัน และร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำแบบรัฐพิธี (State Dinner) ที่ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลีใต้จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี

กำลังโหลดความคิดเห็น