NAC2012 งานประชุมประจำปี สวทช.ระหว่างวันที่ 24-28 มี.ค.จัดเต็ม โชว์เทคโนโลยี-ความรู้สู้พิบัติ เน้นวิจัยรับมือน้ำท่วม ทั้งข้าวหอมชลสิทธิ์ทนน้ำท่วม จ่าเฉยบอกระดับน้ำ “เอ็นแซค” ถุงไฮโดรเจลแทนกระสอบทราย เทคโนโลยีถ่ายทอดการสื่อสารสำหรับผู้พิการ พร้อมสัมมนาถอดบทเรียนความจริงที่เกิดขึ้นในปี 54
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนำแถลงข่าวการจัดงานประชุมประจำปีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อวันที่ 14 มี.ค.55 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยงานประชุมดังกล่าวจะจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “รู้สู้ภัยพิบัติ ไปกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ระหว่างวันที่ 24-28 มี.ค.นี้ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ทางด้าน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีให้นักวิจัยจากศูนย์แห่งชาติ 4 ศูนย์ได้แก่ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) นำเสนอผลงานเผยแพร่แก่สังคมเพื่อพร้อมรับมือภัยพิบัติในอนาคต ทั้งในรูปแบบก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัยปและเกิดภัยขึ้นแล้ว
ตัวอย่างผลงานน่าสนใจที่จะนำเสนอภายในนิทรรศการของการประชุม อาทิ ถุงเอ็นแซค (nSack) ถุงไฮโดรเจลสำหรับใช้แทนกระสอบทราย “เอ็นค่า” (nCA) นวัตกรรมแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียจากน้ำท่วมขังให้เป็นน้ำใสด้วยสารจับตะกอนและระบบเติมอากาศ “จ่าเฉยวัดระดับน้ำ” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทีมวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (AIT) พัฒนาขึ้นเพื่อให้ “หุ่นจ่าเฉย” สามารถวัดระดับน้ำด้วยเทคโนโลยีทางด้านสมองกลฝังตัว เป็นต้น
สำหรับผลงานจ่าเฉยวัดระดับน้ำนี้เป็นผลพวงจากการวิจัยของ ผศ.ดร.มงคล เอกปัญญาพงศ์ จากภาควิชาแทคคาโทรนิคส์ ไมโครอิเล็กโทรนิคส์และระบบสมองกลฝังตัว สำนักวิศวกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และทีมซึ่งรับโจทย์จากกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) เพื่อพัฒนาให้ “จ่าเฉย” หุ่นตำรวจจราจรสามารถตรวจจับรถที่คับแซงตรงคอสะพานและขับผ่าเส้นทึบ จากนั้นได้พ่วงความสามารถในการตรวจจับความเร็วและการวัดระดับน้ำซึ่งอย่างหลังสามารถใช้ประยุกต์บอกสถานการณ์น้ำท่วมได้
การเพิ่มความสามารถให้จ่าเฉยนี้ ผศ.ดร.มงคลบอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ใช้เทคโนโลยีใหม่และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมองกลฝังตัวเข้าช่วย โดยใช้กล้อง 2 ตัว ซึ่งกล้องตัวแรกบนมือจ่าเฉยใช้สำหรับตรวจจับความเร็วและการขับข้ามเส้นทึบ และกล้องตัวลางใช้สำหรับตรวจจับป้ายทะเบียน และยังเพิ่มอุปกรณ์อัลตราโซนิกที่ปรับระดับได้เพื่อวัดระดับน้ำ แล้วส่งข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งตอนนี้กำลังทดสอบระบบว่าทำงานท่ามสภาพอากาศจริงได้มากน้อยแค่ไหน คาดว่าอีก 3-4 เดือนจะได้ใช้งานจริง
ทางด้าน พ.ต.ท.นภดล กาญจนพันธุ์ รอง ผกก.4 บก.จร.กล่าวว่า หากพัฒนาจ่าเฉยจนสามารถใช้งานได้จริงแล้วจะนำไปติดตั้งในจุดที่มีตำรวจประจำการ 24 ชั่วโมง เพื่อค่อยเฝ้าระวังอุปกรณ์ด้วย ทั้งนี้ จะมีจุดทดสอบระบบของจ่าเฉยทั้งหมด 10 จุด โดยการสนับสนุนของภาคเอกชน
นอกจากนี้ภายในงานประชุมประจำปี สวทช.ยังมีการสัมมนาที่น่าสนใจ อาทิ การสัมมนาบทเรียนความจริงที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 โดย ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร รศ.ชูเยรติ ทรัพย์ไพศาล คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติ สิรินธร ผศ.ดร.สุทัศน์ วีสกุล สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย การสัมมนาเรื่องการปรับตัวของเกษตรกรในภาวะน้ำท่วม เป็นต้น