xs
xsm
sm
md
lg

“เอนค่า” ระบบแก้น้ำเน่าด่วนจี๋-ฝีมือนักวิจัยไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.วรรณี ฉินศิริกุล (ซ้าย) และ ดร.กรธรรม สถิรกุล  (ขวา) พร้อมทีมวิจัยส่วนหนึ่ง
นับเป็นผลงานวิจัยเร่งด่วนที่สร้างผลงานได้ทันกับสถานการณ์สำหรับ “เอนค่า” ระบบแก้น้ำเน่าที่เกิดจากความร่วมมือของนักวิจัยกรมวิทยาศาสตร์บริการและเอ็มเทค ซึ่งร่วมมือกันพัฒนาเมื่อปลาย ต.ค.และได้นำไปใช้งานจริงแล้ว นักวิจัยเผยอาศัยองค์ความรู้ด้านผลิตยางจากน้ำยางผสานหลักวิศวกรรมได้เป็นสารจับตะกอนและเครื่องเติมอากาศทำงานร่วมกันเพื่อเปลี่ยนน้ำดำเป็นน้ำใส

ระบบเอ็นค่า (nCA) คือระบบที่ทำให้น้ำเน่าเสียกลายเป็นน้ำใสและมีออกซิเจนสูงขึ้น ซึ่งร่วมกันพัฒนาโดยนักวิจัยกว่า 10 คนจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ซึ่งประกอบด้วยสารจับตะกอนน้ำเพื่อให้น้ำใสที่เรียกว่าเอ็น-เคลียร์ (nCLEAR) ซึ่งทำให้น้ำเน่าสีดำตกตะกอนใน 30 นาที และเครื่องเติมอากาศด้วยปั๊มที่เรียกว่าเอ็น-แอร์ (nAIR) โดยมีการทดสอบการใช้งานจริงในพื้นน้ำท่วมสูง 30-40 เซ็นติเมตรในหมู่บ้านทรงพล ชุมชนแถบคลอง 2 ลำลูกกา จ.ปทุมธานี และช่วยให้น้ำที่เน่าเหม็นในปริมาตร 8,800 ลูกบาศก์เมตร กลายเป็นน้ำใสและไม่เหม็น

ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยพอลิเมอร์ เอ็มเทค ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัยพัฒนาระบบเอ็นค่า เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า จากปัญหาน้ำเน่าที่เกิดขึ้นระหว่างอุทกภัยนั้นได้ชวนเพื่อนๆ นักวิจัยมารวมตัวกันคิดว่าจะช่วยแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง ซึ่งทางเอ็มเทคมีพื้นฐานความรู้เดิมที่ดีเกี่ยวกับสารจับตะกอนอยู่แล้ว และให้วิศวกรจาก วศ.ก็ช่วยออกแบบเครื่องเติมอากาศที่ชาวบ้านสามารถประยุกต์ทำเองได้

“เราทำงานกันแทบทุกวันและได้นำระบบไปทดลองกับน้ำจากคลองแสนแสบ โดยเราได้ไปตั้งสถานีที่ทดสอบกับที่วัดใหม่ช่องลม เพื่อดูว่าระบบของเราทำงานได้จริงหรือไม่ จากนั้นได้ส่งตัวอย่างน้ำและตะกอนทดสอบที่ห้องปฏิบัติการเอกชน โดยค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบที่คิดเป็นเงินหลักแสนบาทนั้นส่วนใหญ่ใช้เพื่อการทดสอบคุณภาพของน้ำและตะกอน ซึ่งแพงมาก” ดร.วรรณีกล่าว ส่วนระบบเอ็นค่านั้นมีต้นทุนการผลิตอยู่ในหลักพันบาท

ด้าน ดร.สุรพิชญ ลอยกุลนันท์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการยาง เอ็มเทค ที่ร่วมในการวิจัยครั้งนี้กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ ว่า นักวิจัยเอ็มเทคมีบทบาทในการพัฒนาระบบนี้ เพราะส่วนใหญ่มีพื้นฐานทางด้านเคมี และส่วนตัวเขาทำงานวิจัยยาง ซึ่งน้ำยางนั้นมีลักษณะคล้ายน้ำขุ่นๆ มีอนุภาคเล็กๆ แขวนลอยในน้ำ และการจะเอายางมาใช้ได้ต้องหาสารจับตัวยางออกจากน้ำก่อน จึงมีความรู้ที่นำมาประยุกต์หาสารจับตะกอนได้

ส่วนเครื่องเติมอากาศนั้นทาง ดร.กรธรรม สถิรกุล นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ โครงการฟิสิกส์และวิศวกรรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่าปัญหาสำคัญของน้ำเสียคือออกซิเจนต่ำ ทำให้จุลินทรีย์ที่บำบัดน้ำทำงานได้น้อยลง จึงต้องหาทางเพิ่มออกซิเจนในน้ำ โดยหลังจากเติมสารตกตะกอนแล้ว จึงใช้เครื่องเติมออกซิเจน ซึ่งเครื่องเติมอากาศหรือออกซิเจนนี้มีหลายประเภท แต่ทีมวิจัยได้เลือกพัฒนาเครื่องที่ใช้เครื่องสูบน้ำขนาดเล็กหรือปั๊มไดโว่ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ซื้อเตรียมไว้ป้องกันน้ำท่วมอยู่แล้ว แต่ในกรณีที่ป้องกันน้ำท่วมไม่ได้ก็สามารถนำมาปรับปรุงเป็นเครื่องเติมอากาศแก้ปัญหาน้ำเน่าได้

“เครื่องเติมอากาศของเราจะผลิตฟองเล้กๆ ซึ่งเติมอากาศได้ดีกว่าฟองขนาดใหญ่ เพราะฟองเล็กๆ จะมีพ้นผที่สัมผัสในการแลกเปลี่ยนอากาศเยอะกว่าและอยู่ในน้ำได้นานกว่าฟองขนาดใหญ่ โดยฟองขนาดใหญ่จะลอยขึ้นเหนือผิวน้ำเร็วกว่าฟองขนาดเล็กและแลกเปลี่ยนอากาศได้น้อยกว่า” ดร.กรธรรมบอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ถึงคุณสมบัติของเครื่องเติมอากาศในระบบเอ็นค่า และบอกด้วยว่าความร่วมมือระหว่าง วศ.และเอ็มเทคครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก
ทีมวิจัยทั้งหมดและชาวบ้านส่วนหนึ่งในหมู่บ้านที่ใช้ระบบเอ็นค่าบำบัดน้ำเน่า
เปรียบเทีบยน้ำที่เสีย (ซ้าย) กับน้ำที่ใช้สารจับตะกอน จะเห็นสารแขวนลอยชัดเจนและเลี้ยงปลาได้ (ขวา)
ระบบเอ็นค่า ที่ประกอบด้วย เอ็น-เคลียร์ สารตกตะกอน (ซ้าย) และ เอ็น-แอร์ เครื่องเติมอากาศ (ขวา)
เอ็น-เคลียร์ สารตกตะกอน
กำลังโหลดความคิดเห็น