xs
xsm
sm
md
lg

พัฒนาเซนเซอร์ติดมือถือตรวจหา E.coli

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 มือถือติดอุปกรณ์ตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย E. coli (PhysOrg/UCLA Engineering)
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยดังในสหรัฐฯ พัฒนาอุปกรณ์เสริมสำหรับมือถือให้สามารถตรวจหาเชื้อท้องร่วง E.coli ทั้งในอาหารและน้ำได้ โดยผสานการทำงานของหลอดแก้วขนาดเล็กที่เสริมแอนติบอดีเข้ากับ “ควอนตัมดอท” เพื่อตรวจหาแบคทีเรียแปลกปลอมดังกล่าวได้

ผลงานดังกล่าวพัฒนาขึ้นโดยทีมวิจัยจากสถาบันวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ประยุกต์เฮนรี ซามูลี (Henry Samueli School of Engineering and Applied Science) ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในลอสแองเจลลิส (UCLA) ซึ่งพวกเขาได้พัฒนาอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานแบตเตอรีและไดโอดเปล่งแสงหรือแอลอีดี (LEDs) ที่มีราคาไม่แพงให้ตรวจหาเชื้อ อีโคไล (E. coli) ได้

นักวิจัยจะกระตุ้นเชื้ออีโคไลให้ถูกตรวจจับได้บนหลอดแก้วคาพิลลารี (capillary) ซึ่งเสริมสารแอนติบอดีเพื่อช่วยในการหาเชื้อ โดย PhysOrg.com ระบุว่า นักวิจัยได้รวมหลอดแก้วคาพิลลารีดังกล่าวเข้ากับจุดระดับควอนตัมหรือควอนตัมดอท (quantum dot) ทำให้สามารถจับภาพของแบคทีเรียอีโคไลจากการเปล่งแสงของคอนตัมดอท และบันภาพได้ด้วยกล้องของโทรศัพท์มือถือ ทั้งนี้ เลนส์เสริมจะถูกใส่เข้าไประหว่างหลอดแก้วคาพิลลารีและมือถือ

อุปกร์ณที่เสริมเข้าไปนี้จะทำหน้าที่เหมือนกล้องจุลทรรศน์แบบฟลูออเรสเซนต์และหาปริมาณการเปล่งแสงจากหลอดคาพิลลารีแต่ละหลอดหลังจากจับภาพอนุภาคของอีโคไลที่อยู่ในตัวอย่างได้แล้ว จากการวัดปริมาณการเปล่งแสงฟลูออเรสเซนต์แต่ละหลอดจะช่วยให้ประเมินความเข้มข้นของอีโอไลในตัวอย่างได้

ทั้งนี้ เชื้ออีโคไลมีโอกาสปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่มได้ง่าย และส่งผลกระทบสำคัญต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งแม้กระทั่งในประเทศพัฒนาแล้วก็ยังได้รับผลกระทบจากเชื้อดังกล่าว ซึ่งเป็นสาเหตุให้มีผู้ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลจำนวนมาก และมีผู้เสียชีวิตทุกปี จำนวนเชื้ออีโคไลเพียงเล็กน้อยประมาณ 10-100 อนุภาคก็สามารถทำลายเยื่อบุของลำไส้ ทำลายไตและเป็นสาเหตุของเลือดจับตัวเป็นลิ่มในสมองได้ อีกทั้งยังจู่โจมร่างกาย ทำให้เป็นอัมพาตและทำให้ระบบการหายใจล้มเหลวได้

สำหรับอุปกรณ์ติดตั้งสำหรับติดตั้งบนมือถือนี้สามารถพกพาสะดวก ราคาถูก โดยตรวจหาเชื้อได้จากทั้งในน้ำและอาหาร ส่วนทีมวิจัยนั้นนำโดย ฮง อิง จู (Hongying Zhu) นักวิจัยหลังปริญญาเอกด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์จากยูซีแอลเอ เอโดกัน ออซกัน (Aydogan Ozcan) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและวิศวกรรมชีวภาพ จากสถาบันนาโนซิสเตมส์แคลิฟอร์เนีย (California NanoSystems Institute) ยูซีแอลเอ และยูแซร์ ซิโคระ (Uzair Sikora) นักศึกษาวิศวกรรมไฟฟ้าจากยูซีแอลเอ
กำลังโหลดความคิดเห็น