เอเอฟพี - บทบรรณาธิการในวารสารการแพทย์แคนาดาเรียกร้องให้แพทย์ปกปิดเพศของทารก จนกว่าอายุครรภ์จะครบ 30 สัปดาห์หรือราว 7 เดือน เพื่อป้องกันการทำแท้งลูกหญิงในมารดาซึ่งเป็นผู้อพยพชาวเอเชีย
บทความอีกชิ้นหนึ่งในวารสารสมาคมแพทย์แคนาดายังเตือนว่า เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการตรวจครรภ์และคลินิกทำแท้งที่หาได้ง่าย ทำให้แคนาดากลายเป็น "แหล่งพักพิงของพ่อแม่ที่ต้องการทำแท้งลูกหญิง เพื่อรอที่จะมีลูกชายแทน"
"การทำแท้งทารกหญิงเกิดขึ้นกับมารดานับล้านคนในอินเดียและจีน แต่ในอเมริกาเหนือก็มีอยู่เช่นกัน และเป็นจำนวนมากพอที่จะทำให้สัดส่วนหญิงชายในบางกลุ่มเชื้อชาติเสียสมดุลไป" ราเชนทรา เคล บรรณาธิการบริหารชั่วคราวของวารสารดังกล่าว ระบุ
แม้จะยังมีการศึกษาไม่มากนักเกี่ยวกับความถี่ของการทำแท้งในชุมชนผู้อพยพของแคนาดา แต่บทบรรณาธิการเผยว่า มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าการเลือกเพศเด็กมักเกิดขึ้นในหมู่พ่อแม่เชื้อสายอินเดีย, จีน, เกาหลี, เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งมีลูกสาวแล้วอย่างน้อย 1 คน
จากสถิติประชากรสหรัฐฯตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา แสดงให้เห็นว่า มีสัดส่วนเด็กชายที่เกิดจากผู้อพยพชาวเอเชียมากกว่าเด็กหญิง และผลการศึกษาสตรีอินเดียในสหรัฐฯจำนวน 65 คนระหว่างปี 2004-2009 ก็พบว่า ร้อยละ 89 จะทำแท้งเมื่อทราบว่าลูกในครรภ์เป็นหญิง
เคล เชื่อว่า ในแต่ละปีจะมีการทำแท้งเพื่อเลือกเพศบุตรหลายร้อยรายในแคนาดา
"เราควรจะละเลยปัญหาการทำแท้งเพื่อเลือกเพศบุตรในแคนาดา เพียงเพราะมันเกิดขึ้นกับบางกลุ่มเชื้อชาติเท่านั้นหรือ? ไม่ใช่เลย... ทางแก้ปัญหานี้ก็คือ แพทย์ต้องเลื่อนการเปิดเผยข้อมูลไปจนกว่าอายุครรภ์จะครบ 30 สัปดาห์" เขากล่าว
เมื่อปี 2004 แคนาดาออกกฎหมายห้ามใช้วิธีทางการแพทย์เพื่อเพิ่มโอกาสที่ทารกจะเป็นเพศใดเพศหนึ่ง หรือเพื่อระบุเพศของทารกหลอดแก้ว เว้นแต่เพื่อวินิจฉัยโรคหรือความผิดปกติอันเกิดจากเพศเท่านั้น
ด้านสมาคมแพทย์แคนาดา ซึ่งเป็นองค์กรแพทย์ที่มีสมาชิกกว่า 70,000 คน ระบุว่า ข้อเสนอแนะที่ปรากฎในวารสารการแพทย์ดังกล่าว ไม่ถือเป็นความเห็นของสมาคมแต่อย่างใด