G (จี) ที่ว่านี่คือ ค่าแรงโน้มถ่วงที่โลกกระทำต่อมวลอื่นๆ
เมื่ออยากจะบอกว่าโลกเรามีมวลขนาดไหน เราคงไม่สามารถวัดกันตรงๆ บนตาชั่งได้ ดังนั้นหากต้องการจะหามวลของโลก ก็จะต้องวัดจากแรงโน้มถ่วงที่โลกกระทำต่อมวลอื่นๆ ตามกฎของนิวตัน
ดร.สุทัศน์ ยกส้าน ได้อธิบายว่า หากเรามีวัตถุก้อนหนึ่ง ที่เรารู้มวลแน่นอนแล้ว เรารู้ระยะทางที่วัตถุก้อนนั้นอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางของโลก และรู้ค่า G แน่ชัด ก็จะทำให้เรารู้มวลของโลกทันที
ค่า G เป็นค่าคงตัวความโน้มถ่วงสากล (Universal gravitational constant) ที่นักวิทยาศาสตร์พยายามค้นหา ซึ่งเฮนรี คาเวนดิช (Henry Cavendish) ชาวอังกฤษได้ทดลองวัดค่า G เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2344 จากนั้นได้มีความพยายามปรับปรุงวิธีวัดค่า G ให้ละเอียดถูกต้องยิ่งขึ้น
ต่อมาลูเธอร์และทอว์เลอร์ (G. Luther, W. Towler) 2 นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน อ้างว่าวัดค่า G ได้ผิดจากค่าจริงไม่เกิน 0.01% ในปี พ.ศ. 2529 จากนั้นในปี พ.ศ. 2543 เยนส์ กันด์แลช (Jens Gundlach) แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันในสหรัฐอเมริกาได้รายงานว่าคณะของเขาได้ประสบความสำเร็จในการ วัดค่า G ได้ผิดพลาดไม่เกิน 0.0015%
จากค่า G ที่เขาวัดได้ทำให้รู้ว่าโลกของเรานี้มีมวล 5.9722x1021 ตัน ซึ่งเบากว่าในอดีตที่เคยรู้กันประมาณ 10 ล้านล้านล้านตัน ทว่านักฟิสิกส์ต่างยังคงเดินหน้าหาค่า G ที่ดีและละเอียดกว่า เพราะหากพบว่าค่า G เปลี่ยนตามกาลเวลาก็จะมีผลต่อทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์.