อธิบดีกรมชลฯ เผย ศปภ.ใช้มาตรการชะลอปล่อยน้ำจากเขื่อน ช่วยให้พื้นที่ กทม.ฝั่งตะวันตกปริมาณน้ำลดลงต่อเนื่อง ระบุซ่อมคันกั้นน้ำพังเสร็จ 13 จุด จากทั้งหมด 14 จุด การันตีสถานการณ์ผันน้ำลง เจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง ดีขึ้น
วันที่ 10 พ.ย. นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ด้านฝั่งตะวันตก ตามที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ.ได้ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการ โดยทางกรมชลประทานได้ดำเนินมาตรการลดปริมาณในพื้นที่ตอนบน โดยการลดปริมาณน้ำไหลผ่าน ประตูระบายน้ำพลเทพ ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่พื้นที่ทางแม่น้ำท่าจีนลดลง และลดปริมาณน้ำไหลผ่านที่ ประตูระบายน้ำบรมธาตุ ที่จะไหลลงสู่แม่น้ำน้อย ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่พื้นที่ฝั่งตะวันตกลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ยังใช้มาตรการลดบานระบายน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำตอนบนและตอนล่าง ในวันนี้ (10 พ.ย.) มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 2,765 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งลดลงจากเมื่อวานนี้ (9 พ.ย.) ที่ไหลผ่านในอัตรา 2,830 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งลดลงประมาณ 65 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อรวมกับการซ่อมแซมแนวคันกั้นน้ำที่ชำรุดแล้วเสร็จจำนวน 13 จุด จากทั้งหมด 14 จุด ส่วนอีก 1 จุดที่เหลือคือที่คันคลองบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นจุดที่มีข้อจำกัดค่อนข้างมาก และมีอุปสรรคกระแสน้ำไหลแรง แต่กรมชลประทานจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้สามารถช่วยชะลอปริมาณน้ำที่ไหลลงมาสมทบในพื้นที่ตอนล่างได้แล้ว
“จากการดำเนินการมาตรการดังกล่าวข้างต้นและการเร่งสูบน้ำออกสู่ทะเลผ่านทางระบบระบายน้ำทางแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา ตามมาตรการที่กำหนดไว้จะทำให้ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง” อธิบดีกรมชลประทานกล่าว
สำหรับการระบายน้ำออกสู่ทะเลผ่านระบบระบายน้ำของกรมชลประทานนั้น ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง สามารถสูบน้ำผ่านสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำตามแรงโน้มถ่วงออกสู่ทะเลได้ รวม 121 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเป็นการระบายออกทางพื้นที่ทางด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 78 ล้าน ลบ.ม. และระบายออกทางด้านฝั่งตะวันออกประมาณ 43 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม ยังไม่รวมการระบายน้ำออกสู่ทะเลโดยธรรมชาติตามแรงโน้มถ่วงทางแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง และยังมีการระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสมุทรปราการ อีกประมาณ 50-60 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวันด้วย