xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้มันใหญ่มาก

เผยแพร่:   โดย: บุรินทร์ กำจัดภัย

(ภาพประกอบ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ชะอำ 2550)
นั่งหลังหน้าต่างกระท่อมเล็กๆนี้ มองออกไปยังทะเลอันกว้างใหญ่ที่เต็มไปด้วยความรู้และความเบาสบาย รอให้เราออกไปวิ่งเล่นแค่ที่หาดทรายตลอดบ่าย เพียงแค่นี้ก็เปรมสุขแล้ว จะขังตัวเองไปทำไมกัน แต่ถ้าเดินลงทะเลไปจริงๆ ทะเลยังจะสวยอยู่ไหม หรือทะเลจะสวยก็เฉพาะเมื่่อมองจากชายหาด.......?

ไม่ต้องแปลกใจหากหลายคนจะเชื่อว่าความรู้ต่างๆมีปริมาณเป็นอนันต์เพราะเอกภพนั้นมีขนาดอนันต์

ปัจจุบันนี้ผมยิ่งเชื่อเพิ่มเข้าไปอีกว่าองค์ความรู้ของแต่ละวิชานั้นมันไม่มีเขตขอบหรือขอบเขตของมันชัดเจน มันเชื่อมโยงกันไปหมด

สมัยเรียนปริญญาตรีผมได้เรียนวิชากลศาสตร์ควอนตัมกับ ดร. นรา จิรภัทรพิมล อาจารย์นราเป็นครูผมชอบ ท่านมีสไตล์การสอนอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เท่ห์มากๆคนหนึ่ง ระหว่างเรียนผมก็พบว่าวิชานี้มันต้องการพื้นฐานความรู้เก่าโน่นนี่ที่เคยเรียนไปแล้วเต็มไปหมด กล่าวคือถ้าจะเรียนกลศาสตร์ควอนตัมให้เข้าใจก็ต้องมีพื้นฐานจากวิชาที่เรียนมาก่อนแล้วคือพวกแรงสู่ศูนย์กลาง โมเมนตัมเชิงมุม แผนภาพพลังงานศักย์ ฯลฯ จากวิชากลศาสตร์คลาสสิกที่เรียนมาแล้ว แถมผมยังต้องจำได้และต้องเข้าใจว่า แคลคูลัส สมการเชิงอนุพันธ์ย่อย และพีชคณิตเมตริกซ์นั้นเขาทำกันอย่างไร

แต่หนักไปกว่านั้นก็คือการจะเรียนเจ้าวิชากลศาสตร์ควอนตัมเบื้องต้นให้รู้เรื่องนี่มันยังต้องการให้เราต้องรู้ในสิ่งที่เรายังไม่เคยได้เรียนมาก่อนเลย อย่างเช่นพวกปริภูมิเวกเตอร์แบบฮิลเบิร์ตและพวกฟังก์ชันพิเศษชื่อแปลกๆอีกเต็มไปหมดด้วย ผมเคยเชื่อมั่นว่าการเรียนในระดับใดๆนั้น การเรียงลำดับวิชาต่างๆนั้นพวกผู้ใหญ่ในสถาบันการศึกษาเขาจัดเรียงลำดับวิชากันไว้อย่างดีแล้ว ถ้าเราได้สนใจเรียนและอ่านทบทวนพื้นฐานที่ผ่านมาแล้ว เราย่อมต้องเรียนเข้าใจอย่างแน่นอน ผมเชื่ออย่างนั้นมาตลอดจนวันหนึ่งที่ผมต้องมาเป็นอาจารย์ กลายเป็นคนสอนและกลายเป็นคนร่างหลักสูตรในที่สุด....... ความเชื่อนั้นก็หมดไปเลย เพราะผมเริ่มพบปัญหาว่าผมและเพื่อนๆอาจารย์ที่ช่วยกันร่างหลักสูตรไม่อาจจัดเรียงลำดับวิชาต่างๆให้ผู้เรียนได้เรียนกันแบบต่อลำดับกันแบบเรียงต่อยอดจากพื้นฐานทีละขั้นไปได้อย่างสมบูรณ์ ทำได้ดีที่สุดก็แค่จัดเรียงให้เกิดอุปสรรคในการเรียนน้อยที่สุดก็เท่านั้น ผมได้พบว่า “องค์ความรู้แต่ละวิชานั้น มันไม่มีขอบเขตจริงๆหรอก” หากแต่มันเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันแทบทุกทาง แต่ก็ไม่อีรุงตุงนัง หากแต่เป็นโครงสร้างที่เป็นระบบระเบียบมาก ใช้คำว่า order น่าจะเหมาะที่สุด โครงสร้างการเชื่อมโยงนี้มันไม่ได้เรียงกันเป็นลำดับขั้นตอนเชิงประวัติศาสตร์ด้วยว่าความรู้ส่วนใดถูกค้นพบก่อนหรือค้นพบในภายหลัง และก็ไม่ได้เรียงตามลำดับขั้นตอนแบบเชิงเส้นในการเรียนรู้อย่างสมบูรณ์แบบประเภทว่าคุณต้องเรียนบวกเลขให้เป็นก่อน แล้วจึงค่อยได้เรียนคูณเลข

โครงสร้างของวิชาฟิสิกส์เกี่ยวโยงกันอย่างกับโครงผลึกซับซ้อนที่เป็นระบบและในความซับซ้อนนี้เองก็มีองค์ประกอบส่วนย่อยที่เรียบง่าย (simple) ที่สุดที่ทำให้ฟิสิกส์นั้นสวยงามเมื่อสามารถมองเห็นได้ในภาพรวม พวกเราที่เป็็นนักการศึกษาก็พยายามจัดแจงเนื้อหาหลักสูตรให้ผู้เรียนได้เข้าใจได้อย่างเป็นลำดับขั้นตอนมากที่สุด แต่ก็ไม่มีทางจัดลำดับวิชาเรียนให้เรียงกันแบบเนื้อหาเรียงลำดับต่อเนื่องกันได้จริงๆร้อยเปอร์เซ็นต์ได้สักครั้ง

ตอนผมอายุน้อยกว่านี้ ผมว่าผมมีแนวคิดแบบสมบูรณ์นิยม เมื่ออ่านหนังสือตำราสักเล่ม ผมก็อยากเข้าใจเนื้อหาทั้งหมด (แต่ก็ไม่เคยเข้าใจเนิ้อหาทั้งหมดได้เลยสักครั้ง) ดูหนังหรืออ่านนิยายสักเรื่องก็ต้องเข้าใจเนื้อเรื่องและบริบทเชิงสังคมแวดล้อมในเรื่องทั้งหมด (อันนี้ไม่ค่อยยาก เพราะเรื่องราวถูกกำหนดโดยผู้แต่ง)

ตอนเรียนปริญญาเอก เมื่อพบอุปสรรคทางการเรียน ผมท้อแท้และเคยปรับทุกข์กับอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งเป็นนักทฤษฎีสัมพัทธภาพ (Professor Roy Maartens) ผมบ่นว่าผมคงไม่เก่งพอที่จะเรียนจบได้แน่ๆ เพราะดูเหมือนทุกวิชานั้นมันต้องการความรู้โน่นนี่เกี่ยวข้องเยอะมากเสียเหลือเกิน อาจารย์ก็พูดว่า “As you keep going, you will learn more and more” (เมื่อนายเดินต่อไปเรื่อยๆ นายก็จะเรียนรู้มากขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ)

ผมนะเข้าใจครับว่าอาจารย์ Roy ต้องการบอกอะไรผม แต่ผมไม่เคยเข้าถึงและลึกซึ้งกับมัน จนกระทั่งเมื่อไม่นานนี้เอง ผมได้พบว่าไม่มีอะไรที่มันจะสมบูรณ์แบบไปได้ในโลกความจริงหรอก คนเราเกิดมาก็ยังแตกต่างกัน และไม่มีมนุษย์ที่ดีเยี่ยม “สมบูรณ์แบบ” อยู่จริง วงกลมที่สมบูรณ์แบบก็ไม่มีอยู่จริง อุตมนครหรือยูโทเปียก็ไม่เคยมีอยู่จริง โลกนี้เป็นสีเทา โลกนี้มีแต่ความแตกต่าง สิ่งสมบูรณ์์แบบดูจะอยู่เพียงในใจของเราเท่านั้น และดูเหมือนว่ามนุษย์เท่านั้นที่สนใจเรื่องความสมบูรณ์แบบ สัตว์อื่นๆดูจะไม่ ผมเริ่มเชือว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนสัมพัทธ์กัน

การอ่านหนังสือหรือเรียนหนังสือสักวิชาหนึ่งให้รู้จริงสมบูรณ์แบบทุกแง่มุม จึงเป็นเรื่องสมบูรณ์แบบที่มีในใจเราเท่านั้น ในโลกความจริงก็มีแต่ว่า อ่านมากขึ้นก็รู้มากขึ้นเท่านั้น

ส่วนสำคัญที่สุดของความรู้ที่ผมได้จากการเรียนปริญญาเอกก็คือข้อความข้างบนนี้แหละครับ

แต่กว่าจะเข้าใจก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปีหลังจากเรียนจบกลับมาแล้ว.......

.......ความรู้มันใหญ่มาก

เลิกขังตัวเองอยู่ในโลกสมบูรณ์ในใจ ออกไปเล่นกับความรู้ มีเพื่อนเป็นความรู้กันบ้าง พอคุ้นเคยกับมันแล้ว ลองเดินไปในมุมอื่นๆบนหาดทรายแห่งความรู้ดูบ้าง ลองมองกลับจากมุมใหม่ๆดูบ้าง ทะเลแห่งความรู้จะยังคงสวยงามดังเช่นเดิมเสมอ

PERSPECTIVE 7

ปล. มีคนบอกผมว่า “นายสอนวิชา “ฟิสิกส์ทั่วไป” ไม่รู้เรื่อง ก็เพราะนายเก่งแต่เรื่อง “ฟิสิกส์ไปทั่ว” เสียมากกว่า” .......ก็ความรู้มันใหญ่มากนี่ครับ เลยต้องไปให้ทั่วๆ (ยิ้มครับ ยิ้ม)



**********************
เกี่ยวกับผู้เขียน



บุรินทร์ กำจัดภัย

สำเร็จการศึกษาด้านฟิสิกส์ทฤษฎีและจักรวาลวิทยาจากประเทศอังกฤษ
มีอาชีพเป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎี ปัจจุบันทำงานวิจัยและสอนในฐานะอาจารย์ประจำที่สถาบันสำนักเรียนท่าโพธิ์ฯ วิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าระดับรากฐานหรือ IF มหาวิทยาลัยนเรศวร

Perspective 7 เป็นบทความเกี่ยวกับทรรศนะของตัวผู้เขียนเองซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ ต่อธรรมชาติ สังคม และปรัชญา ทรรศนะเหล่านี้นำเสนอในหลายประเด็นผ่านหลายเรื่องราวจากประสบการณ์ของผู้เขียนเองโดยผ่านเลนส์ตาของวิทยาศาสตร์

“สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าศีลธรรมและจารีต คือสติและการรู้จักตัวตนของตัวเอง"
กำลังโหลดความคิดเห็น