ไม่ใช่ทุกวันวาเลนไทน์ แต่เป็นปลายเดือนมีนาคมของทุกปี ที่เหล่าเพนกวินจักรพรรดิ์ได้เดินทางมารวมตัวกัน
หลายคนอาจเคยชมสารคดี “มาร์ช ออฟ เดอะ เพนเกวินส์” (March of the Penguins) ก็จะพบเห็นการแต่งงานที่สุดแสนประหลาด เพราะคู่รักสัตว์ปีกชนิดนี้จะต่างคนต่างอยู่ และกลับมาผสมพันธุ์กันปีละครั้ง โดยต้องเดินทางไกลนับร้อยกิโล
เมื่อถึงเวลานัดหมาย ในชุมชนเพนกวินตัวผู้ก็จะก้มหัวแนบกับอก และส่งเสียงเรียกตัวเมีย เมื่อเจอหรือเสียงจูนกันติดแล้ว ทั้งคู่ก็จะเข้าหากันเอาอกมาชนกัน พร้อมส่งเสียงร้อง
การผสมพันธุ์ของเพนกวิน ก็เหมือนกับสัตว์ปีกส่วนใหญ่ เพนกวินไม่มีอวัยวะสืบพันธุ์ยื่นออกมา ขณะที่ตัวเมียก็ไม่มีช่องคลอด ตัวผู้จะสร้างสเปิร์มและเก็บไว้ในช่องทวารร่วม ส่วนตัวเมียก็ตกไข่ที่ช่องทางเดียวกัน โดยตัวผู้จะฉีดสเปิร์มเข้าไป
เมื่อเพนกวินสาวออกไข่ ก็จะค่อยๆ ส่งต่อยังตัวผู้ เพราะถ้าไข่โดนหิมะเมื่อไหร่ก็จะแข็งและตัวอ่อนจะตายในที่สุด ทันทีที่ส่งต่อไข่เสร็จ ตัวเมียจะมุ่งหน้าสู่ทะเล ปล่อยให้ตัวผู้ฟักไข่โดยไร้อาหารอยู่ 2 เดือน
ระหว่างนี้ฝูงเพนกวินตัวผู้จะอยู่ร่วมกันเป็นฝูง เพื่อสร้างความอบอุ่นท่ามกลางความหนาว และอาจต้องเผชิญกับลมแรงถึง 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เมื่อเพนกวินตัวเมียกลับมา ก็จะตามหาลูกและคู่ที่ฝังตัวอยู่กับฝูงเพนกวินด้วยการฟังโทนเสียง ซึ่งมีเพียง 15% เท่านั้นที่กลับมาหาคู่กันเจอ และในรอบปีที่ 3 หากันจนเจอเพียง 5% ซึ่งถ้าหากันไม่เจอ ในรอบปีถัดไป แน่นอนว่าเพนกวินก็จะจัดการหาคู่ใหม่