หลายคนอาจยังกังวลว่าปี 2012 นี้โลกจะแตกดับตามคำทำนายหรือไม่? บ้างว่าโลกจะถูกดาวเคราะห์น้อยพุ่งชน บ้างว่าดาวเคราะห์เรียงตัวจะทำแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ซึ่งมีหลายข้ออ้างที่ฟังเผินๆ แล้วก็ดูน่าจะเป็นไปได้ ทางสถาบันดาราศาสตร์จึงจัดเสวนาเพื่อให้คนในวงการวิทยาศาสตร์ได้ออกมาให้ข้อมูลเพื่อเคลียร์ความกังวลนี้อีกครั้งหนึ่ง
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกันจัดเสวนา “2012 ฤาโลกจะสูญสิ้น” เมื่อวันที่ 10 ก.พ.55 ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. จามจุรีสแควร์ โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร. ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการ อพวช.
สำหรับที่มาของความตื่นตระหนกเรื่องวันสิ้นโลกในปี 2012 หรือปี 2555 นี้ ดร.บัญชาระบุว่า มีที่มาจากภาพยนตร์ โดยประเด็นหลักๆ เกี่ยวกับอารยธรรมของชาวมายาซึ่งอยู่ในช่วงคริสตศักราช 300-900 โดยชาวมายานั้นใช้ปฏิทิน 3 แบบ คือ ปฏิทินศาสนาที่ 1 ปี ยาว 260 ปฏิทินสุริยคติที่ 1 ปียาว 365 วัน และปฏิทินรอบยาว (Long Count) ซึ่งยาวนาน 5,000 ปี สำหรับหนังสือแรกๆ เกี่ยวกับวันสิ้นโลกตามความเชื่อของชาวมายาเท่าที่ค้นได้นั้นคือหนังสือ The Maya ที่เขียนโดย ไมเคิล ดี โค (Michael D Coe)
ข้อมูลจากหนังสือเกี่ยวกับชาวมายาดังกล่าวระบุว่าโลกถูกสร้างขึ้นมา 4 ครั้ง ครั้งแรกมีเพียงสัตว์และป่า แต่ถูกทำลายลงไปเพราะไม่มีสิ่งมีชีวิตที่พูดได้ ครั้งที่ 2 มนุษย์โคลนถูกสร้างขึ้นแต่เมื่อโดนน้ำก็ละลาย และเกิดโลกครั้งที่ 3 ซึ่งมีมนุษย์ไม้ที่คุยได้ สืบพันธุ์ได้ แต่ไม่บูชาเทพเจ้า จึงเกิดการทำลายโลกเป็นน้ำท่วมครั้งใหญ่ มนุษย์ไม้ส่วนหนึ่งได้หนีเข้าไปในป่าและกลายเป็นลิง แล้วโลกก็ถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งที่ 4 เป็นมนุษย์แป้งข้าวโพด ซึ่งแต่ละรอบของการสร้างโลกจะเป็น 5,000 ปี
สำหรับข้ออ้างที่มักกล่าวว่าจะเป็นสาเหตุของวันสิ้นโลกนั้นมักเกี่ยวข้องกับเรื่องดาราศาสตร์ ซึ่ง ดร.ศรัณย์ให้ความเห็นว่า เป็นเพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกโลกนั้นเป็นปัจจัยที่ดูว่าน่าจะทำลายล้างโลกได้มากกว่า ซึ่งในความเป็นจริงหลายปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ก็สามารถทำลายได้อย่างแม่นยำ เช่น การเกิดสุริยุปราคา เป็นต้น แต่หลายข้ออ้างที่เกี่ยวเนื่องทางดาราศาสตร์นั้นฟังดูไม่มีเหตุผล เช่น หลุมดำจะดูดกลืนโลกเข้าไป ซึ่งฟังดูน่ากลัวเหมือนมีเครื่องดูดฝุ่นยักษ์จะดูดโลกเข้าไป เป็นต้น
เรื่องดาวเคราะห์น้อยพุ่งทำลายโลกก็เป็นอีกข้ออ้างที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ ซึ่ง รอง ผอ.สดร.กล่าวว่า ข้อมูลขอนักดาราศาสตร์ที่มีอยู่ทั้งหมดนี้ ไม่มีข้อมูลไหนที่ระบุว่าจะมีวัตถุเฉียดใกล้โลกในวันที่ 21 ธ.ค.55 ตามความเชื่อว่าจะเป็นวันสิ้นโลกตามวันสิ้นสุดปฏิทินรอบยาวของชาวมายาอย่างแน่นอน และอีก 100 ปีข้างหน้านับจากนี้จะไม่มีดาวเคราะห์น้อยเฉียดเข้าใกล้โลกอย่างแน่นอน
ส่วนเหตุการณ์ที่มีดาวเคราะห์น้อยเฉียดใกล้โลกมากที่สุดคือ เมื่อวันที่ 9 พ.ย.54 ที่ดาวเคราะห์น้อย วายยู55 (YU55) ซึ่งมีขนาด 300 เมตร เฉียดใกล้โลกที่ระยะ 324,900 กิโลเมตร และโอกาสที่โลกจะถูกดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนมากที่สุดคือในวันที่ 16 มี.ค.ในปีพ.ศ.3423 ซึ่ง ดร.ศรัณย์ระบุว่า ดาวเคราะห์น้อย 1950 ดีเอ (1960 DA) ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.1 กิโลเมตร และมีคาบโคจรรอบดวงอาทิตย์ 2.2 ปีนั้น มีโอกาสจะพุ่งชนโลก 0.33% ส่วนความเชื่อเรื่องดาวนิบิรุ (Nibiru) นั้น หากมีจริงและกำลังจะพุ่งชนโลก เราต้องสามาถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเพราะดาวดังกล่าวจะสว่างเทียบเท่ากับดวงจันทร์เลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี ในมุมของ ดร.พิชัย สนแจ้ง ผอ.อพวช. กล่าวว่า ความจริงเรื่องหนึ่งในโลกนั้นทุกอย่างเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หากนำเอาเราในตอนนี้ไปอยู่ในยุคเมื่อ 3,500 ล้านปีก่อนเราไม่สามารถอยู่ได้ ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยสิ่งมีชีวิตจะมีอายุอยู่บนโลกประมาณ 4 ล้านปี จึงมีคำถามว่าเมื่อมองไปอีก 4 ล้านปีข้างหน้ามนุษย์อย่างเราจะมีโอกาสอยู่ถึงช่วงเวลาดังกล่าวหรือไม่ เมื่อ 65 ล้านปีก่อนโลกอาจโดนดาวเคราะห์น้อยพุ่งชน แต่เมื่อเทียบกับโลกตอนนี้ เพียงแต่ต้นศตวรรษที่ 19 จนถึงตอนนี้ก็มีตะกั่วแพร่กระจายในสิ่งแวดล้อมมากกว่ายุคแรกเริ่มแล้ว
“ผมไม่ค่อยกลัวอะไรที่มาจากนอกโลกแต่กลัวปัจจัยภายในที่เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากกว่า” ดร.พิชัยให้ความเห็น
ทั้งนี้ ในเวทีเสวนาดังกล่าวยังชี้แจงความเชื่อเกี่ยวกับสิ้นโลกอีกหลายประเด็น เช่น การกลับขั้วของแม่เหล็กจะทำให้สิ่งมีชีวิตสูญสิ้นหรือไม่ ซึ่งข้อมูลวิทยาศาสตร์ไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงว่าการกลับขั้วแม่เหล็กสัมพันธ์กับการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต รวมไปถึงความกลัวที่ว่าโลกจะสลับขั้ว ซึ่งในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะขั้วโลกเกิดจากการหมุนของโลก และการกลับขั้วแม่เหล็กและขั้วโลกนั้นไม่เกี่ยวกัน หรือการเรียงตัวของดาวเคราะห์ก็ไม่ส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหว เพราะมีแรงโน้มถ่วงที่กระทำต่อโลกน้อยมากเมื่อเทียบกับแรงจากดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ เป็นต้น