xs
xsm
sm
md
lg

ประธานสภาอุตฯ หนุนเอกชนลงทุนทำวิจัยเพิ่มขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สกว.-ประธานสภาอุตฯ หนุนเอกชนลงทุนวิจัยมากขึ้น เพราะการเพิ่มขีดความสามารถต้องใช้การค้นคว้าวิจัย ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตใหม่ๆ ระบุอดีตการใช้เทคโนโลยีไม่ตรงกับการพัฒนาและไม่เกิดประโยชน์ แต่ปัจจุบันมีบัณฑิตและงานวิจัยที่มีคุณภาพรองรับการพัฒนาในอนาคต

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดงานประชุมสัมมนา เรื่อง “แนวทางการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม” ซึ่งจัดโดยโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อวันที่ 8 ก.พ.55 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ

ในโอกาสนี้นายพยุงศักดิ์ได้บรรยายพิเศษเกี่ยวกับการวิจัยกับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ว่าเอสเอ็มอีในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วนถึง 99.8% ของจำนวนวิสาหกิจทั้งหมด มีมูลค่าการส่งออกร้อยะ 28.4 ของมูลค่าการส่งออกรวมของประเทศ และมีการจ้างงาน 78.2% ซึ่งมีผลต่อการจ้างแรงงานและปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทำให้ธุรกิจมีแรงกดดันจึงต้องปรับโครงสร้างใหม่ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอีไทยจำเป็นต้องใช้หลักการค้นคว้าวิจัยทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม อาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตใหม่ๆ

“ในอดีตการใช้เทคโนโลยียังไม่ตรงกับสภาพของการพัฒนาและไม่เกิดประโยชน์มากนัก ซึ่ง คปก. ได้เข้ามามีส่วนในการเป็นตัวเชื่อมโยงที่สำคัญและวางรากฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนทุนวิจัย คปก.-อุตสาหกรรม ซึ่งนับเป็นการเชื่อมโยงองค์ความรู้ระหว่างภาควิชาการกับภาคอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง ได้บัณฑิตที่มีคุณภาพและผลงานวิจัยที่ช่วยพัฒนาเทคโนโลยีภาคการผลิตและรองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต” นายพยุงศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีการขับเคลื่อนในเบื้องต้นเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาเอสเอ็มอี ประกอบด้วย โครงการคูปองนวัตกรรม โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย โครงการศูนย์กลางการออกแบบอุตสาหกรรม สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การเชื่อมโยงการวิจัยและพัฒนาระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้ภาคเอกชนได้ผลงานวิจัยที่ตรงตามความต้องการและสามารถพัฒนาสินค้าออกสู่เชิงพาณิชย์ได้ การสนับสนุนเชื่อมโยงงานวิจัยและพัฒนาระหว่างอุตสาหกรรมในส่วนที่หายไปเพื่อให้เกิดการยกระดับผลงานวิจัยและพัฒนาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์มากขึ้นและเกิดเป็นอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ซึ่งเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ และมาตรการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ

ขณะที่ นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทยให้สูงขึ้น ซึ่ง สสว. มีแผนการสนับสนุนเอสเอ็มอีฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2555-2559) กับการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา ประกอบด้วย การสนับสนุนปัจจุบันแวดล้อมให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจเอสเอ็มอีไทย โดยสร้างแรงจูงใจ เช่น สนับสนุนเงินทุน สิทธิประโยชน์ และข้อมูล พัฒนาระบบการใช้ประโยชน์และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา สนับสนุนการเพิ่มศักยภาพของหน่วยที่ใฟ้บริการด้านวิจัยและพัฒนา สร้างความเชื่อมโยงและบูรณาการหน่วยงานด้านวิจัยและพัฒนา

นอกจากนี้ยังเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของเอมเอ็มอีไทย ด้วยการสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนาเชิงประยุกต์ ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยที่มีอยู่ รวมทั้งสนับสนุนการปรับเปลี่ยนรูปแบบของผลิตภัณฑ์ โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ตลอดจนแผนส่งเสริมเอสเอ็มอีไทยให้เติบโตอย่างสมดุลตามศักยภาพของพื้นที่ด้วยการสนับสนุนการศึกษาและวิจัยในแต่ละพื้นที่

ด้าน ศ.ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โครงการ คปก.-อุตสาหกรรมดำเนินไปด้วยดีและมีผู้สมัครขอรับทุนอย่างต่อเนื่อง โดยจัดสรรทุนไปแล้วประมาณ 200 ทุน มีบริษัทต่างๆ เข้าร่วมโครงการประมาณ 140 บริษัท ทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดย่อม อย่างไรก็ตามการลงุทนด้านการวิจัยและพัฒนามีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้มาซึ่งบุคลากรที่มีความชำนาญเรื่องการวิจัยและพัฒนา

“ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมไม่สามารถแบกรับภาระนี้ได้ ทำให้ปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล่านี้ไม่สามารถดำเนินการหรือมีการดำเนินการน้อยมากในเรื่องการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและหรือประสิทธิผลของการผลิต ดังนั้นภาครัฐจึงต้องเข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีการดำเนินการด้านวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีใหม่ ๆ และทำให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ ตลอดจนมีความก้าวหน้าสามารถพัฒนาเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ในอนาคตได้อย่างยั่งยืน” ศ.ดร.สวัสดิ์ กล่าว

การจัดประชุมสัมมนาในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่จะกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมเห็นความสำคัญในการทำงานวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และสร้างความร่วมมือด้านงานวิจัยกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัย โดยอาศัยกลไกการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงให้ภาคอุตสาหกรรมได้ทราบถึงแนวทางการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาจากหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากวิทยากรและผู้เข้าร่วมสัมมนาจากภาครัฐและภาคเอกชน
กำลังโหลดความคิดเห็น