xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิทย์อยุธยาปรับระบบไฟ-แอร์หลังน้ำท่วมเพื่อร่วม “เทศกาลหนังวิทย์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิทยาศาสตร์อยุธยาฉายภาพยนตร์ในเทศกาลหนังวิทย์
สสวท.- ศูนย์วิทยาศาสตร์อยุธยาร่วม “เทศกาลหนังวิทย์” ปรับประบบไฟฟ้า-แอร์ เพื่อจัดฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ฟรีถึง 31 ม.ค. พร้อมหน่วยงานอื่นๆ และศูนย์วิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ 15 แห่ง

ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยา จัดฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ดีๆ ฟรีตลอดรายการ ภายใต้ความร่วมมือของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาทั่วประเทศ  กับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ครั้งที่ 7 เริ่มฉายแล้วตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงวันที่ 31 ม.ค.55  

งานนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจสูงของนายสุชาติ  มาลากรรณ์  ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยาและทีมงานทุกคนที่ขยันขันแข็ง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค แม้ว่าเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤติอุทกภัยมาไม่นาน แต่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาแห่งนี้พร้อมแล้วที่จะให้บริการแก่ผู้สนใจทุก ๆ คน

ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยา ได้ปรับปรุงระบบไฟ ระบบแอร์ จัดเตรียมห้องฉายไว้ถึง 4 ห้อง เพื่อรองรับผู้สนใจเข้าร่วมชมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ทั้งผู้เข้าชมเป็นหมู่คณะ และผู้เข้าชมที่มาเดี่ยว มาคู่ มาเป็นครอบครัวก็สามารถเข้ามาร่วมกิจกรรมได้ ในการฉายภาพยนตร์จะสลับกับการทำกิจกรรม เกมตอบคำถามทางวิทยาศาสตร์  เปิดให้เข้าชมฟรี พร้อมทั้งไม่เก็บค่าเข้าชมนิทรรศการต่าง ๆ

นอกจากการฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ประจำศูนย์แบบจัดเต็มแล้ว  ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยายังจัดหน่วยบริการจัดฉายภาพยนตร์เคลื่อนที่นำร่องไปยัง 5 โรงเรียนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดอ่างทอง  ซึ่งเป็นโรงเรียนที่พร้อมด้านอุปกรณ์และห้องฉายภาพยนตร์ไม่ว่าจะเป็นเครื่องฉายโปรเจคเตอร์ ห้องโสตฯ หรือห้องประชุมต่าง ๆ ที่ค่อนข้างมืด

“ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศ มีพันธกิจในการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชน และประชาชนทั้งในและนอกระบบ  เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้เป็นกิจกรรมที่ดี ซึ่งเราไม่อยากให้เยาวชนและผู้สนใจพลาดโอกาสนี้ไป

ปีนี้นับว่าเป็นครั้งแรกที่ทางศูนย์ ฯ ได้จับมือกับ สสวท. จัดงานนี้ แม้ว่าจะประสบภัยน้ำท่วม จึงยังยืนยันอุดมการณ์เดิม ไม่ขอยกเลิกการจัดฉายภาพยนตร์    จากการยอดจองของโรงเรียนพร้อมทั้งการจัดฉายภาพยนตร์เคลื่อนที่ คาดว่าผู้ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ที่ของศูนย์ ฯ อยุธยา จะสูงทะลุเป้ากว่า 7,500 คนแน่นอน”  นายสุชาติ  มาลากรรณ์  ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยากล่าว

นอกจากทางศูนย์ ฯ จะส่งเอกสารและจดหมายเชิญชวนไปยังสถานศึกษาในเขตรับบริการ 6จังหวัด ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักให้มาร่วมงานแล้ว  ทางด้านผู้ประกอบการท้องถิ่น คือศูนย์การค้าอยุธยาพาร์ค ก็ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการส่งเสริมการเรียนรู้ดังกล่าว โดยช่วยเชิญชวนประชาชนทั่วไปที่สนใจ ทั้งการจัดทำบูธประชาสัมพันธ์ แจกเอกสาร ทำป้ายไวนิลเชิญชวนร่วมงาน หรือแม้กระทั่งเสนอให้โรงฉายภาพยนตร์ฟรีหากทางศูนย์ฯ ต้องการใช้ห้องฉายเพิ่มเติม นับว่าเป็นบรรยากาศที่ดีในความร่วมมือกันเพื่อเปิดประตูให้ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ดี ๆ จากนานาประชาติได้สู่สายตาผู้ชมในท้องถิ่น 

ภาพยนตร์ที่ได้รับคัดเลือกให้จัดฉายในเทศกาลนี้ มีทั้งหมด 26 เรื่อง จาก 7 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย  ฝรั่งเศส เวียดนาม เบลเยียม เยอรมนี ฟิลิปปินส์และประเทศไทย ทุกเรื่องบรรยายภาษาไทย  สำหรับศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยา ได้คัดเลือกมาลงตารางฉาย24 เรื่อง เริ่มฉายตั้งแต่เวลา 8.00 - 17.00 น.

ว่าที่ร้อยตรีพีรพล  งาเจือ หรือตั้ม เจ้าหน้าที่ของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยา ปักหลักเป็นวิทยากรที่ควบคุมการฉายภาพยนตร์ พร้อมทั้งเป็นผู้บรรยายสรุปความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ให้น้อง ๆ ได้ร่วมสนุก เล่นเกมต่าง ๆ

“ภาพยนตร์ที่ฉายทั้งหมดนั้นมีสาระ มีประโยชน์ต่อเด็ก และผู้ชมทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งก่อนจัดฉาย ตนเองจะต้องพิจารณากลุ่มผู้ชมแล้วจำแนกว่าภาพยนตร์เรื่องใด เหมาะกับผู้ชมกลุ่มใด หรือช่วงชั้นใด เพื่อให้เด็ก ๆ ดูได้ไม่เบื่อ  ที่ผ่านมายังไม่เคยมีกิจกรรมฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์มาก่อนในอยุธยา ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีและมีประโยชน์ที่จะแบ่งปันความรู้และความสนุกสนานให้แก่ผู้ชมทุกคน”

ภาพยนตร์หลายๆ เรื่องได้รับความสนใจจากเด็ก ๆ มาก  ถึงขนาดว่าสายตาทุกคู่จับต้องที่จอภาพยนตร์ตาไม่กระพริบ  ร่วมลุ้น ตื่นเต้น สนุก หรือเรียกเสียงเฮฮา หัวเราะสนั่นโรง  คำถามเกี่ยวกับภาพยนตร์บางเรื่องถามไม่ว่าจะถามอะไรเด็ก ๆ  ก็ตอบได้หมด  นี่คือความสนุกที่ได้รับควบคู่ไปกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่พวกเขาได้จากการชมภาพยนตร์

นอกจากนั้น  การที่พวกเขาได้ฝึกสรุปความคิดรวบยอดที่ได้จากการชมภาพยนตร์เพื่อนำไปรายงานคุณครูตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากครูผู้สอนก็ทำให้เด็ก ๆ ตั้งใจใฝ่หาความรู้จากการชมภาพยนตร์ด้วยอีกทางหนึ่ง
เด็กชายสุรชัย  ไวยสุทธิ (ก๊อต) ชั้น ป. 4 โรงเรียนวัดยม อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่กำลังลุ้นกับความเร็วของลมพายุระดับต่าง ๆ บอกกับเราว่าสนุกจัง ขำตอนที่ลมพัดวิกผมปลิว  จากการที่ได้ชมรายการเพียวพลัส ตอน พลังลมระดับ 12 ได้รู้ว่าลมมีกี่ระดับ ระดับใดที่ทำให้ตัวเราปลิวได้ ชอบฉลาม ในเรื่องมหัศจรรย์ความรู้ ตอน ความเชื่อที่ผิดเรื่องฉลาม เพราะน่ากลัวดีครับ  การได้ชมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ช่วยให้เราได้ความรู้ ได้รู้ว่าในโลกนี้มีอะไรมากมายให้เราได้เรียนรู้  ชอบครับ ถ้าปีหน้าจัดฉายก็อยากมาชมอีก

เด็กชายสุชัลล์ มั่งมี (ธง)  เด็กชายพชรพล  พาคำ  (โจนัส)  เด็กชายนนทนัตถ์  เหมราช (มาร์ค)  เด็กชายแฟร้ง มีเนตร (แฟร้ง) กลุ่มหนูน้อย ชั้น ป. 6 โรงเรียนวัดยม อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเริ่มชมภาพยนตร์ตั้งแต่เวลา 8.00 น. ยันบ่าย หนูน้อยกลุ่มนี้บอกกับเราว่า สนุก  อยากให้มีการจัดฉายภาพยนตร์แบบนี้บ่อย ๆ พวกเราได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์จากสิ่งแปลกใหม่ต่าง ๆ เช่น การเกิดน้ำพุร้อน  สายพันธ์ต่าง ๆ ของฉลาม ตื่นเต้นน่ากลัวมาก ชอบเรื่อง มหัศจรรย์ความรู้ ตอน ความเชื่อที่ผิดเรื่องฉลาม แถมยังตอบคำถามหลังชมภาพยนตร์ได้รางวัลมาด้วยครับ

เด็กหญิงอนุธิดา คำหมาย (ตอง) ชั้น ป. 6 โรงเรียนวัดยม อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่พกความรู้มากมายจากภาพยนตร์จดไว้ในสมุดบันทึกงานหลายหน้า เพื่อเตรียมรายงานให้แก่คุณครู บอกว่าชอบดูสารคดี ชอบดูภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ เพราะให้ความรู้แก่เรา ได้รู้เรื่องวิทยาศาสตร์ใกล้ๆ ตัว คุณครูให้จดรายละเอียดภาพยนตร์ที่ได้ชม เพื่อเอาไปรายงานให้คุณครูฟังค่ะ ภาพยนตร์ที่ชอบคือ รายการไอกอทอิท ตอน น้ำตาลหวานเจี๊ยบ เพราะสนุก

คุณครูกฤษณา  มีแสงนิล โรงเรียนวัดยม อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระครศรีอยุธยา เล่าว่า ที่สนใจพานักเรียนมาเข้าร่วมกิจกรรมในเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ครั้งที่ 7 นี้ก็เพราะเห็นหัวข้อเรื่องภาพยนตร์แล้วน่าสนใจ อยากให้นักเรียนได้รับประสบการณ์แปลกใหม่จากการชมภาพยนตร์  ได้เรียนรู้ ได้เห็นด้วยตาตัวเอง นักเรียนที่พามาชมในวันนี้คือนักเรียนทั้งหมดในระดับชั้น ป. 4 - ป. 6 ส่วน ป. 1 - ป. 3 จะมาชมในวันที่ 27 มกราคม 2555

“ภาพยนตร์ที่จัดฉายในเทศกาลครั้งนี้มีหลายเรื่องที่สอดคล้องกับสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของนักเรียนช่วงชั้นต่าง ๆ เช่น เรื่องพืช สัตว์ พลังงาน อย่างเรื่องผึ้งกับการผสมเกสร ก็จะสอนนักเรียนตั้งแต่ ป. 4 เลย  บางเรื่องแม้จะไม่ตรงกับเนื้อหาที่สอนเป๊ะๆ ในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ แต่ก็เป็นเรื่องราวที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน  ภาพยนตร์จัดเป็นสื่อเพื่อการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่นักเรียนชอบมาก” คุณครูกฤษณากล่าว

ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาที่จัดฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ทั้งหมด 15 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต  กาญจนบุรี  นครสวรรค์  นครราชสีมา สระแก้ว  สมุทรสาคร  พระนครศรีอยุธยา  ลำปาง  ขอนแก่น  อุบลราชธานี  ร้อยเอ็ด ยะลา นครศรีธรรมราช  ตรัง  และประจวบคีรีขันธ์

นอกจากศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา 15 แห่งดังกล่าวแล้วยังมีหน่วยงานจัดฉายเพิ่มเติม ได้แก่1) ท้องฟ้าจำลองเอกมัย กรุงเทพมหานคร  2) อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย สวทช. อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี  3)หอภาพยนตร์ ศาลายา จังหวัดนครปฐม  4) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) รังสิต คลอง 5 อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี  5) จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. จามจุรีสแควร์  กรุงเทพมหานคร  6) อุทยานการเรียนรู้ TK Park เซ็นทรัลเวิร์ล กรุงเทพมหานคร  7) อุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช  8)โรงภาพยนตร์เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ งามวงศ์วาน กรุงเทพมหานคร

ผู้สนใจสามารถเข้าชมฟรีได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2555 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับศูนย์จัดฉาย เรื่องย่อภาพยนตร์และอื่น ๆ ได้ในเว็บไซต์เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ www3.ipst.ac.th/sciencefilm หรือ www.goethe.de.sciencefilmfestival

ศูนย์วิทยาศาสตร์อยุธยา
กิจกรรมการเรียนรู้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์อยุธยา



คลิปโปรโมทเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ครั้งที่7 2011



กำลังโหลดความคิดเห็น