xs
xsm
sm
md
lg

ป่วยเป็นเหตุ "ฮอว์กิง" พลาดงานฉลองครบ 70 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไฟล์ภาพฮอว์กิงที่ถ่ายเมื่อเดือน 14 ธ.ค.2011 (ภาพทั้งหมดจากเอเอฟพี)
นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ "สตีเฟน ฮอว์กิง" ผู้ได้รับยกย่องเป็นอัจฉริยะแห่งศตวรรษที่ 20 พลาดงานประชุมสัมมนาของมหาวิทยาลัยที่จัดขึ้นเพื่อฉลองแก่เขาในวาระครบรอบอายุ 70 ปี แต่ก็ยังส่งข้อความแง่บวกว่า เขาได้ใช้ชีวิตอยู่ใน “ช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์”

ทั้งนักวิทยาศาสตร์ สื่อมวลชน ตลอดจนนักธุรกิจและนางแบบสาวสวยต่างไปรวมตัวกันที่งานประชุมสัมมนาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) สหราชอาณาจักร ที่จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 8 ม.ค.12 เพื่อฉลองครบรอบอายุ 70 ปี ของ สตีเฟน ฮอว์กิง (Stephen Hawking) นักฟิสิกส์ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นอัจฉริยะแห่งศตวรรษที่ 20 แต่ ศ.เซอร์ เลสเซค บอรีซีวิค (Prof. Sir Leszek Borysiewic) รองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยได้ประกาศว่า ฮอว์กิงอาการไม่ดีนักและเพิ่งจากออกโรงพยาบาลเมื่อวันศุกร์ที่ 6 ม.ค.12 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี เอเอฟพีระบุว่าทางมหาวิทยาลัยได้เปิดสุนทรพจน์ที่บันทึกไว้ล่วงหน้าแทน ซึ่งข้อความในสุนทรพจน์ดังกล่าวนั้นฮอว์กิงได้กระตุ้นให้ผู้ฟังใส่ใจในอาชีพอันน่าประทับใจของเขาและอนาคตของวิทยาศาสตร์ มากกว่าการดิ้นรนต่อสู้กับอาการเจ็บป่วยของเขา

“มันเป็นช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์ที่ได้มีชีวิตและทำงานวิจัยทางด้านฟิสิกส์ทฤษฎี เรายังต้องเดินหน้าสู่อวกาศเพื่ออนาคตของมนุษยชาติ ผมไม่คิดว่าเราจะรอดไปถึงอีกพันปีข้างหน้าโดยที่ไม่หนีออกไปจากดาวเคราะห์ที่เปรอะบางของเราได้” คำกล่าวของฮอว์กิงในสุนทรพจน์ ซึ่งรองอธิการบดีเผยว่านักฟิสิกส์ร่างพิการผู้นี้ติดตามการประชุมสัมมนาในหัวข้อ “แถลงการณ์แห่งเอกภพ” ผ่านการถ่ายทอดสดทางเว็บไซต์

ทั้งนี้ ฮอว์กิงได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคทางด้านประสาทส่วนควบคุมการเคลื่อนไหวเมื่ออายุ 21 ปี และใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนเก้าอี้รถเข็น โดยพูดผ่านทางคอมพิวเตอร์ได้เท่านั้น หากแต่ความสงสัยของเขาต่อความลับแห่งเอกภพได้ทำให้เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ถึงแม้เขาได้รับการวินิจฉัยว่าจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นานหลังพบว่าเป็นโรคดังกล่าว แต่เขาก็ยังมีชีวิตต่อมาถึง 5 ทศวรรษ

งานส่วนใหญ่ของเขาจะให้ความสำคัญรวมทฤษฎีสัมพัทธภาพ ซึ่งว่าด้วยธรรมชาติของพื้นที่และเวลา กับทฤษฎีควอนตัมที่อธิบายพฤติกรรมของอนุภาคเล็กที่สุดในเอกภพ เพื่ออธิบายถึงการกำเนิดเอกภพและการควบคุมสรรพสิ่งของเอกภพ

เมื่อปี 1974 ขณะอายุได้ 34 ปี ฮอว์กิงกลายเป็นสมาชิกอายุน้อยที่สุดของราชบัณฑิตอังกฤษ หลังจากนั้นอีก 5 ปีต่อมาเขาก็ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ลูคัสเซียนทางด้านคณิตศาสตร์ของเคมบริดจ์ ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับที่ เซอร์ ไอแซค นิวตัน (Isaac Newton) เคยได้รับ ส่วนความโด่งดังของเขาได้ขยายวงกว้างออกไปในปี 1988 เมื่อเขาตีพิมพ์หนังสือ “ประวัติย่อของกาลเวลา” (A Brief History of Time) ซึ่งเป็นหนังสือที่เล่าเรื่องธรรมชาติของเอกภพแก่ผู้ที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ โดยจำหน่ายออกไปได้หลายล้านเล่มทั่วโลก

สำหรับผู้มาร่วมงานประชุมสัมมนานี้มีทั้ง ซอล เพิร์ลมุทเตอร์ (Saul Perlmutter) นักฟิสิกส์ผู้ได้รับรางวํลโนเบลปีล่าสุด ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) เจ้าพ่อธุรกิจทัวร์อวกาศ และนางแบบดัง ลิลี โคล (Lily Cole)
ริชาร์ด แบรนสัน (กลาง) นักธุรกิจผู้มีความคิดแหวกแนวตั้งใจฟังสุนทรพจน์ในงานประชุมสัมมนา
ลิลี โคล นางแบบสายสวยก็มาร่วมงานประชุมสัมมนาของนักวิทยาศาสตร์ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น