นักดาราศาสตร์สังเกตพบกลุ่มก๊าซขนาดใหญ่หมุนเกลียวสู่หลุมดำใจกลางกาแลกซีทางช้างเผือกของเรา ซึ่งแม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่าหลุมดำนั้นกลืนกินทุกอย่างที่อยู่ใกล้ๆ แต่ก็เป็นครั้งแรกที่เรามีโอกาสได้เห็นการกลืนกินกลุ่มก๊าซเช่นนี้ ซึ่งเมื่อกลุ่มก๊าซถูกฉีกทึ้งแล้ว บริเวณที่เกิดความอลหม่านรอบๆ หลุมดำก็จะสว่างจ้าผิดปกติ เปิดโอกาสให้นักดาราศาสตร์ศึกษาหลุมดำได้มากขึ้น
บีบีซีนิวส์อ้างตามรายงานที่ระบุในวารสารเนเจอร์ (Nature) กว่ากลุ่มก๊าซดังกล่าวที่ถูกหลุมดำดูดกลืนเข้าไปนั้นจะพบจุดจบในปี 2013 โดยทีมวิจัยได้ใช้กล้องโทรทรรศน์เวรีลาร์จ (Very Large Telescope) ของหอดูดาวยุโรปแห่งซีกฟ้าใต้ (European Southern Observatory) ในชิลี ประเมินว่ากลุมก๊าซที่มีขนาดใหญ่มากนี้มีมวลเพียง 3 เท่าของโลกเท่านั้น ซึ่งจากการพลอตวิถีรุปทรงไข่ของกลุ่มเมฆก๊าซที่เบียดเสียดกัน และประเมินได้ว่าก๊าซก้อนใหญ่ดังกล่าวเพิ่มความเร็วเป็น 2 เท่าของเมื่อ 7 ก่อน โดยตอนนี้มีความเร็ว 2,350 กิโลเมตรต่อวินาที และน่าจะหมุนเกลียวเป็นระยะทาง 4 หมื่นล้านกิโลเมตรเข้าสู่หลุมดำในกลางปี 2013
สำหรับหลุมดำใจกลางกาแลกซีของเรานั้นชื่อ “ซาจิททาเรียส เอ*” (Sagittarius A*) ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 27,000 ปีแสง และมีมวลประมาณ 4 ล้านเท่าของดวงอาทิตย์ ทั้งนี้ เมื่อไปถึงเขตแดนที่เรียกว่า “ขอบฟ้าเหตุการณ์” (event horizon) ของหลุมดำแล้วไม่มีสิ่งใดที่จะเล็ดลอดออกมาได้ แม้กระทั่งแสง แต่ด้านนอกนั้นคือมวลของวัตถุที่หมุนควงไม่ต่างจากน้ำวน
ในทางดาราศาสตร์แล้วเรายังไม่ทราบอะไรเกี่ยวกับบริเวณดังกล่าวมากนัก แต่ดูเหมือนว่ากลุ่มก๊าซที่กำลังถูกดูดกลืนนี้จะเปิดโอกาสให้เราทำความรู้จักบริเวณที่ลึกลับนี้มากขึ้น แต่เนื่องจากกลุ่มก๊าซเหล่านั้นไม่มรสสารมากพอที่โอบรัดตัวเองไว้ด้วยแรงโน้มถ่วงของตัวเองเหมือนดวงดาว ทำให้กลุ่มก๊าซเหล่านั้นยืดออกเมื่อถูกดึงให้ไปพบจุดจบ
“แนวคิดของนักดาราศาสตร์เมื่อมีวัตถุเข้าใกล้หลุมดำจะถูกยืดออกจนค้ลายเส้นสปาเกตตีนั้นค่อนข้างจะเป็นแนวคิดเชิงนิยายวิทยาศาสตร์แฟนตาซี แต่ตอนนี้เราเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจริงแล้วจากการค้นพบกลุ่มเมฆก๊าซล่าสุดนี้ มันไม่รอดแน่” สเตฟานกิลเลสเสน (Stefan Gillessen) จากสถาบันศึกษาฟิสิกส์ในอวกาศมักซ์พลังก์ (Max Planck Institute for Extraterrestrial Physics) เยอรมนี ผู้ศึกษาและรายงานการค้นพบครั้งนี้ให้ความเห็น
กลุ่มก๊าซที่เพิ่งถูกค้นพบนั้นดูคล้ายว่าครึ่ถูกกลืนไปแล้ว และส่วนที่เหลือถูกขว้างกลับออกมา แต่เหตุการณ์รุนแรงในอวกาศที่เกิดขึ้นนี้ ได้เผยให้เห็นตัวอย่างของวัตถุในอวกาศขนาดมหึมาที่อยู่ใกล้เรามากที่ ความเร่งของวัตถุในกลุ่มเมฆที่ถูกหลุมดำดูดนี้จะทำให้เกิดรังสีเอกซ์อาบรอบบริเวณดังกล่าวและช่วยให้นักดาราศาสตร์ได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลุมดำในกาแลกซีของเรามากขึ้น