ผมคิดเล่นๆ ว่าคนที่เกิดในระหว่างปี พ.ศ. 2513- พ.ศ. 2523 เป็นกลุ่มคนที่เห็นรอยต่อความเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างในบ้านเรา พอลองแปลงเป็น ค.ศ. ผมก็ทราบว่า ช่วงปีที่ว่านี้คือช่วงทศวรรษ 1970 นั่นเอง ยิ่งเมื่อผมได้ดูภาพยนตร์เรื่องแฟนฉันแล้ว มันยิ่งตอกย้ำความเชื่อนี้มากขึ้นไปอีก
Perspective 7 เดือนนี้ฉีกแนวไปจากหลายครั้งก่อนๆ ผมอยากเล่าเรื่องที่ตัวผมผ่านเส้นทางมาตลอดหลายปีสองเรื่องที่ขนานกันไป ทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องที่เป็นชีวิตจิตใจของผม นั่นคือดนตรีป๊อบในบ้านเราและฟิสิกส์ไทยที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นพร้อมๆ กับคนรุ่นผมครับ
คุณพ่อผมมีร้านขายเทปคาสเซท เราอยู่ต่างจังหวัด ผมได้มีโอกาสช่วยงานที่บ้านโดยการแปะสติ๊กเกอร์ราคาเทปและเรียงเทปเข้าตู้อยู่เสมอ ผมจำได้ว่าผมได้เรียงเทปพุ่มพวงชุดแรก ยอดรัก ชุดแรกๆ และเทปตลก เด๋อ ดู๋ ดี๋ ชุดแรกในตู้ นอกจากนี้ยังมีเทปของนันทิดา แก้วบัวสายชุดแรกซึ่งเป็นลูกทุ่ง, เทปของวงรอยัลสไปร์ท, แจ้ ดนุพล แก้วกาญจน์ และดิอินโนเซนต์ก็ “ผ่านมือ” แปะราคาและเรียงเทปของผมไปแล้ว เมื่อผมขึ้นชั้น ม. 1 เบิร์ด ธงไชย ก็ออกเทปชุดแรก ผมจำได้ว่าการ์ตูนโดราเอมอน (สมัยนี้เด็กๆ เขาเรียกโดเรมอน) ฉบับแรกที่อ่านตอนอยู่ ป.4 ทำผมหัวเราะสุดสุดจนแม่ดุเอา และแน่นอนว่าผมย่อมรู้จักมิกกี้เมาท์ และเกิดทันได้ฟังดนตรีหลายแนวเช่น ชาตรี, ดิอิมพอสสิเบิล, นักร้องไวพจน์ เพชรสุพรรณ, ดาวใจ ไพจิตร, ธานินทร์ อินทรเทพ หรือ สุเทพ วงศ์คำแหง หรือเก่ากว่านั้นก็เช่น ทูล ทองใจ ซึ่งจากนั้นมาผมก็ผ่านยุคนิธิทัศน์โปรโมชัน, อาร์เอส, แกรมมี่, คาราบาว อัสนีย์และวสันต์ และเพลงทางเลือกอื่นๆเช่น เฉลียง ศุ บุญเลี้ยง หรือ โมเดิร์นด๊อก มาเรื่อยๆ จนปัจจุบัน
ที่เขียนมาเสียยาวนี่ที่จริงแล้วไม่ใช่แค่อยากอวดว่าชอบฟังเพลง แต่ยังอยากย้ำอีกว่าคนรุ่นผมตอนนี้ยังคงฟัง พีชเมกเกอร์, ETC, Groove Riders, Tattoo Colours, ลุลา, เพลงของบอย โกสิยะพงษ์, เบิร์ด ธงไชย (ซึ่งยังคงอยู่ยืนยงครองใจผม) และเพลงในยุคปัจจุบันได้อย่างสบายหูและไม่ขัดเขินอะไร ซึ่งต่างจากเพื่อนรุ่นพี่ของผมหลายๆ คนที่เกิดก่อนหน้านั้นซึงตอนนี้หลายต่อหลายคนบ่นว่าเพลงสมัยนี้เป็นอะไรที่ไม่ค่อยถูกใจ ที่เป็นเช่นนี้ก็น่าจะเป็นเพราะว่าก่อนหน้านั้นแนวเพลงในบ้านเราต่างไปจากแนวที่เริ่มต้นขึ้นจากประมาณปี พ.ศ. 2527 เป็นต้นมาค่อนข้างมาก
สื่อต่างๆ โดยเฉพาะดนตรีนั้นสะท้อนแนวคิดของผู้คน ไม่ได้หมายถึงแค่เนื้อหาของเพลงครับ หากแต่ยังหมายถึงวิธีการทำเพลงและทำนอง สไตล์และวิญญาณที่อยู่ในเพลง แนวคิดของผู้คนก็สื่อผ่านแนวเพลง แนวเพลงยุคต่างๆย่อมสะท้อนทัศนะของผู้คนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆ รอบๆ ตัว จุดเปลี่ยนทางดนตรีอยู่ในช่วงเวลานั้น ผมเชื่อว่าจุดเปลี่ยนทางความคิดทางสังคมของกลุ่มคนฟังเพลงก็อยู่ในช่วงนั้น และดนตรีตั้งแต่ยุคปี พ.ศ. 2527 จึงคงความร่วมสมัยมาจนถึงปัจจุบัน
หากหันมามองดูพัฒนาการของวิชาฟิสิกส์ในบ้านเราก็มีจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเช่นกันอันเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนทัศนะของสังคมและของคนในวงการวิทยาศาสตร์ไทยด้วย เท่าที่ผมทราบในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2530 มีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียวที่สามารถเปิดสอนปริญญาเอกทางฟิสิกส์ได้ ส่วนหลักสูตรปริญญาโททางฟิสิกส์มีเปิดสอนเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น หลักสูตรปริญญาเอกฟิสิกส์แห่งที่สองที่เปิดสอนได้คือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในไม่กี่ปีหลังจากนั้น ในสมัยนั้นการได้เข้าเรียนสาขาใดๆ ในขั้นปริญญาโทและเรียนจบได้เป็นเรื่อง “ยาก” ในแต่ละปีประเทศไทยมีผู้เรียนสำเร็จปริญญาโทเพียงราวร้อยกว่าคนจากทุกสถาบันทุกสาขาวิชาในประเทศไทย ส่วนปริญญาเอกมีสำเร็จในประเทศไม่เกิน10 คนต่อปีจากทุกศาสตร์วิชา
สมัยผมเรียนปริญญาตรีที่เชียงใหม่ (เพลงของวงนูโวกำลังดัง) ผมเคยมีความฝันว่าผมอยากเรียนฟิสิกส์ให้จบปริญญาโทให้ได้จากสถาบันในประเทศแล้วกลับบ้านไปสมัครเป็นอาจารย์ที่สถาบันราชภัฏที่จังหวัดบ้านเกิด (ตอนนั้นเพิ่งจะเปลี่ยนจากวิทยาลัยครูเป็นสถาบันราชภัฏ) แล้วได้อยู่ใกล้ๆ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่บ้าน นั่นก็มีความสุขแล้วกับการได้อยู่กับงานที่ตัวเองรักและอยู่กับครอบครัว ผมไม่คาดคิดว่ากระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและนโยบายของรัฐจะพัดพาตัวผมไปโน่นมานี่และพัดชีวิตของผมจนเป็นผมทุกวันนี้.......โชคดีที่ผมยังได้ทำฟิสิกส์อยู่
ขณะผมเป็นนักเรียนและเป็นนักศึกษาผมก็ได้รับทราบกระแสข่าวสารเหล่านี้ซึ่งล้วนแต่มีทิศทางไปทางเดียวกัน และมีผลเหนี่ยวนำผมให้เข้าสู่อาชีพฟิสิกส์ในที่สุด ในวัยเด็กสมัยเรียน ป.5 ถึง ม. 3 ผมมีเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเรียนเก่งมากชื่อเจ้าก้อง ผมไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือเท่าใดนัก ก็ได้เจ้าก้องนี่ละที่มักชักนำให้ผมอ่านหนังสือดีๆ หลายเล่ม ตอนนั้นส่วนใหญ่หนังสือเด็กมักจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เม็ดทราย (วารสารเล่มเล็กๆ “เด็กฉลาด”.......ของสำนักพิมพ์เม็ดทราย ใครจำได้บ้างครับ) และผมก็ได้ทราบชื่อของนักฟิสิกส์ทฤษฎีที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์สองท่านคือ ศ.ดร. วิรุฬห์ สายคณิต และ ศ. ดร. สุทัศน์ ยกส้าน จากหนังสือเหล่านี้นั่นเอง นอกจากนั้นน้องชายของผมซึ่งชอบฟังเพลงแนว alternative และชอบนิยายวิทยาศาสตร์ก็ได้ซื้อ (เป็นประจำ) วารสารรู้รอบตัวซึ่งกลายเป็นวารสาร Update ในปัจจุบัน ทำให้ผมทราบว่ามีการจัดตั้งห้องทดลองเกี่ยวกับสารตัวนำยวดยิ่งขึ้นที่เชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2533 ผมได้ทราบจากวารสารเหล่านี้ว่า มช. ในขณะนั้นเป็นแห่งเดียวที่มีเครื่องเร่งอนุภาคขนาดพลังงาน MeV และมีหอดูดาวที่ดีที่สุด (ในขณะนั้น) น้องชายผมทำให้ผมรู้จักวงดนตรีเฉลียงตอนผมอยู่ ม. 4 นั่นเอง
ในปีเดียวกันผมก็ได้ทราบข่าวการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จากหนังสือพิมพ์ เหตุการณ์นี้ถือว่าสำคัญมากในวงการฟิสิกส์ไทยเนื่องจาก มทส. คัดเลือกรับเฉพาะอาจารย์ที่มีตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์หรือต้องคุณวุฒิปริญญาเอกขึ้นไปดังนั้นสาขาวิชาฟิสิกส์ของที่นี่จึงแข็งแกร่งตั้งแต่แรกตั้งและวันนี้จึงไม่น่าประหลาดใจว่า มทส. อยู่อันดับหนึ่งด้านการวิจัยฟิสิกส์เชิงวิชาการต่อเนื่องกันหลายปีจนปัจจุบัน
จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของผมก็คือการได้อ่านบทสัมภาษณ์ รศ.ดร.วิจิตร เส็งหะพันธ์ นายกสมาคมฟิสิกส์ไทย ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ (พ.ศ. 2534) ที่คุณป้าตุ่นเพื่อนของแม่หามาให้ผมอ่าน คุณป้าท่านเห็นใจที่ผมอยากเรียนฟิสิกส์แต่ไม่มีใครเห็นด้วย ผมจึงได้เอาหนังสือพิมพ์ไปให้คุณพ่อและคุณแม่อ่านและอ้อนจนท่านอนุญาติให้ผมเลือกเรียนฟิสิกส์ได้ อาจารย์วิจิตรได้ให้สัมภาษณ์ในปีนั้นว่าอาชีพฟิสิกส์จะมีแนวโน้มดีมากในประเทศไทย ผมได้มีโอกาสพบอาจารย์วิจิตรครั้งแรกในอีก 15 ปีให้หลังคือใน พ.ศ. 2549 ในงานประชุมที่ผมเป็นกรรมการชุดเดียวกับท่าน ผมจึงกราบเรียนท่านว่าผมเคยเป็นเด็กชั้นมัธยมคนหนึ่งที่อ่านบทสัมภาษณ์นั้นแล้วเลือกมาเรียนฟิสิกส์ ผมเรียนหยอกท่านว่าอาชีพฟิสิกส์ไม่เห็นจะบูมแบบที่ท่านให้สัมภาษณ์เลย เงินเดือนอาจารย์ก็น้อย ท่านยิ้มและตอบว่า คุณมีความสุขกับฟิสิกส์อยู่ไหมละ … นั้นแหละครับ จริงที่สุด ให้ผมเลือกใหม่อีกสักกี่ครั้ง ผมก็คงเลือกเรียนฟิสิกส์อยู่ดี
เมื่อได้เข้ามาเรียนที่ มช. ดาวหางชูเมกเกอร์ เลวี 9 เข้ามาชนดาวพฤหัสบดีในช่วงนั้น ผมได้เป็นเด็กช่วยงานอาจารย์คือ รศ. บุญรักษา สุนทรธรรม ในช่วงนั้นโดยเป็นการออกแรงยกของเสียส่วนใหญ่ และได้เป็นรองประธานชมรมดาราศาสตร์ มช. ในปีนั้นโดยมีสมาชิกชมรมเยอะมากคือมีเจ้าตั้นเพื่อนผมกับผมเพียงสองคน แน่นอนครับว่าเจ้าตั้นก็คือประธานชมรมนั่นเอง ดาราศาสตร์เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไปมากขึ้นจากเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์ดังกล่าว
ต้นภาคเรียนที่สองของชั้นปีสามผมและเพื่อนๆ รวมห้าคน เช่น ศุภปิยะ นราธิป เดชาและ พี่เอก (ก็หวังว่าพวกมันคงจะจำได้) ซึ่งบ้าฟิสิกส์มากๆ ได้จับรถไฟจากเชียงใหม่แต่งตัวบ้านๆ มอมแมมแบบนักศึกษาต่างจังหวัดเดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อไปหาอาจารย์วิรุฬห์ที่ผมได้ยินชื่อตั้งแต่สมัยเด็ก (คล้ายๆกับเด็กๆเชียงใหม่ในหนัง “suckseed ห่วยขั้นเทพ” ที่ไปกรุงเทพแล้วได้เจอนักร้องในดวงใจคือบอดี้สแลม) อาจารย์วิรุฬห์สอนที่จุฬาฯ ผมไม่เคยไปจุฬาฯเลยและเพื่อนหลายคนไม่เคยไปกรุงเทพเลยด้วยซ้ำ เราเข้าไปหาอาจารย์วิรุฬห์ที่ที่ทำงานของท่านคือ “ฟอรัมวิทยาศาสตร์ทฤษฎี” โดยไม่ได้นัดหมายท่านไว้ก่อน ตอนนั้นไม่รู้จะไปพบท่านทำไมเหมือนกัน ธุระก็ไม่มี แค่อยากคุยกับท่านให้ท่านชี้แนะแนวทาง แนวทางอะไร? เราเองก็ไม่รู้ มันคล้ายๆ วัยรุ่นบุกไปพบ idol ทำนองนั้น แต่ท่านก็ได้กรุณาสละเวลาคุยกับเราประมาณ 20 นาที จนมาถึงปัจจุบันนี้เมื่อมีนิสิตท่าทางกึ่มๆ เข้ามาพบผม บางครั้งก็มาจากสถาบันอื่น เพราะแค่อยากคุยกับผม ขอคำแนะนำ (ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าตัวผมนั้นดีกว่าเขาสักแค่ไหนกัน ถึงจะให้คำแนะนำได้) แต่เอาละ แม้ผมจะไม่มีอารมย์จะคุยอะไรด้วยเลย เมื่อหวนนึกถึงวันที่ไปพบอาจารย์วิรุฬห์ทีไร ผมบอกตัวเองในใจว่า
“แรงบันดาลใจถ้าให้ใครสักคนได้ละก็ มันก็คือของขวัญอันสาหัสนั่นเอง”
แน่นอนว่าผมคุยกับนักเรียนหรือนิสิตทุกครั้งที่เข้ามาหา เพราะผมเคยได้รับโอกาสเช่นนั้นมาก่อน (แย่นิดหน่อยก็ตรงที่บางครั้งที่ผมคุยกับนิสิตที่มาหา ผมคิดว่าผมทำให้เขามีแรงบันดาลใจ“น้อยลง”)
หลังจากกลับจากจุฬาฯ มาในครั้งนั้น มีวันหนึ่งเราได้รวมตัวกันไปนั่งกินมาม่า ที่ร้านอาหารใต้หอ 6 ชาย มช. ตอนเที่ยงคืนขึ้นวันปีใหม่ พ.ศ. 2537และในวงมาม่านั้นเองพวกเราได้ตั้งแก็งก์กันขึ้นมาเองและเรียกมันว่า “ฟอรัมฟิสิกส์ทฤษฎีระดับนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” กิจการแบบเด็กบ้านๆ ของฟอรัมนี้ได้ขยายไปรวมกับกลุ่มนักศึกษาที่ต่อต้านการรับน้องแบบกดขี่และต่อต้านการขึ้นค่าเรียนใน มช. จนกลายเป็นกลุ่มนักศึกษา Free Energy ที่มีสมาชิกสิบกว่าคนจากหลายคณะ และฟอรัมเล็กๆ ของเราก็ได้เป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่มฟิสิกส์ทฤษฎีท่าโพธิ์ ที่มหาวิทยาลัยนเรศวรในเวลาอีกสองปีต่อมา
เมื่อผมเรียนปีสี่ที่ มช. รัฐบาลได้อนุมัติการจัดตั้งศูนย์วิจัยแสงซินโครตรอนแห่งชาติ โดยคณาจารย์ของ มช. หลายท่านได้เกี่ยวข้องกับโครงการนี้อาทิ เช่น ศ.ดร. ถิรพัฒน์ วิลัยทอง และ รศ. ดร. นิกร มังกรทอง ทำให้ผมได้มีโอกาสฟังบรรยายจากนักฟิสิกส์ที่เป็นหัวหน้าโครงการจัดตั้งศูนย์นี้ตัวเป็นๆ อีกครั้ง คือ ศ.ดร.วิรุฬห์ สายคณิต นั่นเอง นอกจากนี้ในขณะนั้น มช. ได้เชิญ ศ. ดร. สุทัศน์ ยกส้าน มาช่วยสอนปริญญาเอกที่ มช. ด้วย วันหนึ่ง ศ. ดร. ทวี ตันฆศิริ กำลังจะพาอาจารย์สุทัศน์ไปทานข้าวเย็น เห็นผมซึ่งเดินไปเดินมาอยู่แถวนั้น ผมเลยโชคดีที่อาจารย์ทวีได้กรุณาเรียกผมไปทานข้าวด้วย วันนั้นจึงเป็นวันแรกที่ผมได้พบอาจารย์สุทัศน์ นอกจากนี้แล้วชีวิตฟิสิกส์ปริญญาตรีของผมยังได้รับแรงบันดาลใจและแนวความคิดดีดีหลายเรื่องจาก ผศ.สดชื่น วิบูลยเสข นักฟิสิกส์ทฤษฎีซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาผมอยู่ช่วงหนึ่งและเป็นเสมือนแม่ทางวิชาการอีกคนหนึ่งของผม ดูเหมือนผมจะโชคดีจริงๆที่ได้เจอคนเก่งๆและให้ความกรุณาต่อผมมากมาย
อย่างไรก็ตาม ความที่ผมไม่รู้คุณค่าของโอกาสที่ได้รับ ความที่เรียนหนังสือไม่เป็นและใช้เวลาไปกับกิจกรรมต่อต้านการกดขี่ในการรับน้อง ทำให้บางภาคเรียนผมทำคะแนนได้แย่มากแต่บางภาคเรียนผมก็ทำได้ดีมาก ผมมีความเป็นศิลปินสูงเกินไป วิชาไหนชอบก็ตั้งใจมาก วิชาไหนไม่ชอบก็ไม่ค่อยสนใจเรียน ผมจึงใช้เวลาเรียนปริญญาตรีฟิสิกส์คุ้มค่ากว่าเพื่อนๆ คือผมเรียนจบช้าไปหนึ่งปี ภาษาพูดแถวนั้นเขาเรียกว่า “เปอร์” ซึ่งย่อมาจาก supersenior สรุปว่าผมเรียนห้าปีกับอีกหนึ่งภาคเรียนฤดูร้อน ผมเรียนสำเร็จปริญญาตรีฟิสิกส์ ในฤดูร้อนของปี พ.ศ. 2539 ตอนนั้นเพลงของ ทาทา ยัง, เสก โลโซ และภาพยนตร์เรื่องจักรยานสีแดงกำลังฉาย เพลงเหล่านี้กล่าวถึงความรัก และการเดินทางตามความฝัน เพลงเหล่านี้วอนถามผมในเวลานั้นว่าผมจะเอายังไงกับชีวิตต่อไปในเมื่อเรียนจบช้าและได้คะแนนไม่ค่อยได้เรื่อง
ตอนนั้นผมแค่เชื่อว่า.......
การเดินทางช้าไปก้าวหนึ่งไม่ถือเป็นความล้มเหลว
ความล้มเหลวนั้นไม่เที่ยงพอๆ กับความสำเร็จ
ทุกสิ่งนั้นเกิดขึ้นมาเพื่ออะไรบางอย่างที่กำลังจะตามมา
ความล้มเหลวก็เช่นกัน
พบกันใหม่ตอนหน้าครับ
**********************
เกี่ยวกับผู้เขียน
บุรินทร์ กำจัดภัย
สำเร็จการศึกษาด้านฟิสิกส์ทฤษฎีและจักรวาลวิทยาจากประเทศอังกฤษ
มีอาชีพเป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎี ปัจจุบันทำงานวิจัยและสอนในฐานะอาจารย์ประจำที่สถาบันสำนักเรียนท่าโพธิ์ฯ วิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าระดับรากฐานหรือ IF มหาวิทยาลัยนเรศวร
Perspective 7 เป็นบทความเกี่ยวกับทรรศนะของตัวผู้เขียนเองซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ ต่อธรรมชาติ สังคม และปรัชญา ทรรศนะเหล่านี้นำเสนอในหลายประเด็นผ่านหลายเรื่องราวจากประสบการณ์ของผู้เขียนเองโดยผ่านเลนส์ตาของวิทยาศาสตร์
“สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าศีลธรรมและจารีต คือสติและการรู้จักตัวตนของตัวเอง"