xs
xsm
sm
md
lg

พบดาวเคราะห์ขนาดใหญ่นอกระบบสุริยะเพิ่มอีก 18 ดวง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจำลองดาวเคราะห์เกิดใหม่ที่จมอยู่ท่ามกลางก๊าซและฝุ่นรอบๆ ดาวฤกษ์ ซึ่งดาวเคราะห์ดังกล่าวอาจจะดึงเอาก๊าซและฝุ่นเพื่อสร้างชั้นบรรยากาศ ซึ่งดาวเคราะห์จะสูญเสียชั้นบรรยากาศได้เมื่อเข้าใกล้ดาวฤกษ์ของตัวเอง ดังนั้น ดาวเคราะห์ก๊าซอาจเปลี่ยนเป็นดาวเคราะห์คล้ายโลกได้ด้วยเหตุนี้ (นาซา/คาลเทค)
นักดาราศาสตร์พบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเพิ่มอีก 18 ดวง ทั้งหมดมีขนาดใหญ่พอๆ กับดาวพฤหัสดาวเคราะห์ก๊าซขนาดยักษ์เพื่อนบ้านของโลก โดยดาวเคราะห์ใหม่ที่ค้นพบนั้นโคจรรอบระบบดาวฤกษ์ที่ใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของเรา ทำให้ตอนนี้มีดาวเคราะห์ที่ค้นพบแล้วกว่า 700 ดวง โดยมีจำนวนการค้นพบเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ตอนนี้รายชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่เรารู้จักเพิ่มขึ้นมากกว่า 700 ดวงแล้ว ซึ่งสเปซด็อทคอมระบุว่า การค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะจำนวนมากๆ จะช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจว่าดาวเคราะห์ขนาดใหญ่นั้นก่อเกิดและพัฒนาขึ้นในระบบดาวฤกษ์ที่เพิ่งเกิดใหม่ได้อย่างไร โดยการค้นพบนี้ตามหลังการค้นพบของทีมวิจัยอีกทีมที่ประกาศค้นพบดาวเคราะห์ใหม่ 50 ดวงเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ นักวิจัยอาศัยกล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาวเคค (Keck Observatory) ในฮาวาย กับเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในเท็กซัสและอาริโซนา สหรัฐฯ สำรวจดาวฤกษ์ประมาณ 300 ดวง พวกเขาเน้นศึกษาดาวฤกษ์ที่ถูกจัดให้อยู่ในประเภท “ดาวปลดเกษียณ” ประเภท A ซึ่งมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ของเราประมาณ 1.5 เท่า โดยดาวที่พวกเขาศึกษานั้นเพิ่งเลยช่วงสำคัญของชีวิต(ดวงดาว)มาได้ไม่นาน และกำลังพองตัวกลายเป็นดาวขนาดใหญ่

ทีมวิจัยตรวจสอบดาวฤกษ์เหล่านี้อย่างละเอียดเพื่อหาการส่ายน้อยๆ ที่เป็นผลจากแรงดึงเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ที่โคจรรอบๆ และกระบวนการดังกล่าวนั้นได้เผยให้เห็นดาวเคราะห์ 18 ดวงที่มีมวลใกล้เคียงดาวพฤหัสบดี ซึ่งดาวเคราะห์เหล่านี้สเปซด็อทคอมระบุว่า โคจรอยู่ในระยะที่ค่อนข้างไกลจากดาวแม่อย่างน้อยเป็นระยะทาง 0.7 เท่าของระยะระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ (ประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร)

นักวิจัยกล่าวว่าการค้นพบครั้งนี้สนับสนุน 1 ใน 2 ทฤษฎีที่พยายามอธิบายการก่อเกิดและวิวัฒนาการของดาวเคราะห์ นั่นคือ ทฤษฎีสะสมแกนกลาง (core accretion) ซึ่งอธิบายว่า ดาวเคราะห์ทั้งหลายเกิดจากก๊าซและฝุ่นที่ได้แถบอนุภาคตั้งต้น ทฤษฎีนี้ทำนายว่าคุณลักษณะของระบบดาวเคราะห์ เช่น จำนวนและขนาดของดาวเคราะห์ เป็นต้น ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของมวลดาวฤกษ์

ส่วนอีกทฤษฎีที่เป็นคู่แข่งคือทฤษฎีการยุบตัวเนื่องจากแรงโน้มถ่วง (gravitational collapse) นั้นอธิบายว่า ดาวเคราะห์ก่อเกิดจากแถบเมฆก้อนใหญ่ของก๊าซและฝุ่นยุบตัวเป็นกลุ่มก้อนที่กลายเป็นดาวเคราะห์ ซึ่งตามทฤษฎีนี้มวลของดาวฤกษ์ในระบบควรมีผลเพียงเล็กน้อยต่อขนาด จำนวนและคุณลักษณะอื่นๆ ของดาวเคราะห์

ทั้งนี้ จากจำนวนดาวเคราะห์ที่ถูกค้นพบมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น ดูเหมือนว่ามวลของดาวฤกษ์จะมีบทบาทสำคัญ โดยดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ 18 ดวงที่พบล่าสุดซึ่งโคจรรอบดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ด้วยนี้ นักวิจัยกล่าวว่าเป็นหลักฐานที่สนับสนุนทฤษฎีการสะสมแกนกลางมากขึ้น

จอห์น จอห์นสัน (John Johnson) หัวหน้าทีมเขียนรายงานวิชาการจากคาลเทค (Caltech) ในพาเซดินา สหรัฐฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่หลักฐานทั้งหมดชี้ไปที่กลไกการก่อเกิดดาวเคราะห์เพียงกลไกเดียว พร้อมกันนี้ เขาและทีมวิจัยได้ตีพิมพ์รายงานการค้นพบครั้งนี้ในวารสารแอสโตรฟิสิคัลเจอร์นัลซัพเพิลเมนท์ซีรีส์ (Astrophysical Journal Supplement Series)
กำลังโหลดความคิดเห็น