“ลิเวอร์มอเรียม” และ “เฟลรอเวียม” คือ 2 ชื่อธาตุใหม่ในตารางลำดับที่ 114 และ 116 ซึ่งได้ชื่ออย่างเป็นทางการหลังสังเคราะห์ขึ้นมาได้กว่า 10 ปี และได้รับการรับรองจากนักฟิสิกส์และนักเคมีเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แม้ว่าธาตุทั้งสองจะเป็นธาตุหนักที่ไม่เสถียรและสลายตัวในเวลาอันสั้น
ทั้งนี้ ไลฟ์ไซน์ระบุว่า สหพันธ์เคมีบริสุทธิ์และประยุกต์สากล (International Union of Pure and Applied Chemistry: IUPAC) ได้ประกาศรายชื่อของธาตุใหม่ 2 ธาตุ สำหรับธาตุลำดับที่ 114 และ 116 คือ “เฟลรอเวียม” (flerovium) และ “ลิเวอร์มอเรียม” (Livermorium) เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา และต้องใช้เวลาอีก 5 เดือนในการรับฟังความเห็นสาธารณะก่อนที่จะมีการดำเนินการทางด้านเอกสารและพิมพ์ชื่อใหม่ลงในตารางธาตุได้ ซึ่งตอนนี้มีธาตุลำดับที่ 110, 111 และ 112 ที่ผ่านขั้นตอนนี้แล้ว
ธาตุทั้ง 5 นั้นเป็นธาตุหนักและไม่เสถียร โดยสังเคราะห์ขึ้นได้ในห้องปฏิบัติการเท่านั้น และเมื่อสังเคราะห์ขึ้นมาได้ก็จะสลายไปเป็นธาตุอื่นอย่างรวดเร็ว เราไม่รู้อะไรมากนักเกี่ยวกับธาตุเหล่านี้เพราะการสลายตัวไปอย่างรวดเร็วจนเราไม่สามารถนำมาทำการทดลองได้ อีกทั้งเรายังไม่พบธาตุใหม่เหล่านี้ในธรรมชาติด้วย เราเรียกธาตุหนักเหล่านี้ว่า “ธาตุซูเปอร์เฮฟวี” (super heavy) หรือ “ธาตุทรานซูราเนียม” (transuranium)
สำหรับธาตุลำดับที่ 114 และ 116 นั้นได้การยอมรับอย่างเป็นทางการในการบรรจุลงตารางธาตุเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเดิมทีธาตุทั้งสองนี้ได้ถูกสังเคราะห์ขึ้นเป็นครั้งแรกมานานกว่า 10 ปีแล้ว และหลังจากการทดลองสังเคราะห์ธาตุเหล่านี้ได้ซ้ำหลายๆ ครั้ง จึงนำไปสู่การยืนยันและยอมรับธาตุใหม่ ทั้งนี้เฟลรอเวียมมีสัญลักษณ์ธาตุคือ Fl ส่วนลิเวอร์มอเรียมมีสัญลักษณ์ธาตุคือ Lv
ทั้งเฟลรอเวียมและลิเวอร์มอเรียมถูกสังเคราะห์ขึ้นภายในสถาบันร่วมเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์ (Joint Institute for Nuclear Research) ของรัสเซีย ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองดุบนา รัสเซีย โดยนักวิจัยของห้องปฏิบัติการแห่งนี้ได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยอเมริกันจากห้องปฏิบัติการลอว์เรนซ์ลิเวอร์มอร์สหรัฐฯ (Lawrence Livermore National Laboratory) ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ โดยห้องปฏิบัติการของรัสเซียยังยังสังเคราะห์ธาตุลำดับที่ 113, 115, 117 และ 118 ได้ แต่ยังไม่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์เคมี ซึ่งเมื่อได้รับการรับรองแล้วก็จะได้รับการตั้งชื่อและผ่านการรับฟังความเห็นจากสาธารณะเช่นเดียวกัน
สำหรับธาตุที่ 114 นั้นมีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการก่อนหน้านี้ว่า “อูนอูนควอเดียม” (Ununquadium) และได้ชื่อเฟลรอเวียมตามชื่อห้องปฏิบัติการเฟลรอฟ (Flerov Laboratory) ของสถาบันวิจัยนิวเคลียร์รัสเซีย ซึ่งตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ จอร์จี เฟลรอฟ (Georgiy Flerov) นักฟิสิกส์ชาวรัสเซียที่มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 1913-1990 ซึ่งงานและจดหมายของเฟลรอฟที่ส่งถึง โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ผู้นำของอดีตสหภาพโซเวียตขณะนั้น ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาโครงการระเบิดปรมาณูของอดีตสหภาพโซเวียต ทั้งนี้ นักวิจัยเห็นสัญญาณของธาตุเฟลรอเวียมครั้งแรกหลังจากยิงไอออนแคลเซียมใส่เป้าพลูโตเนียม
ส่วนธาตุที่ 116 นั้นมีชื่อชั่วคราวว่า “อูนอูนเฮกเซียม” (Ununhexium) และเกือบจะได้ใช้ชื่อว่า “มอสโคเวียม” (moscovium) เพื่อเป็นเกียรติแก่กรุงมอสโกว์ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของห้องปฏิบัติการที่สังเคราะห์ธาตุขึ้นมา แต่สุดท้ายนักวิจัยอเมริกันก็ได้ชัยในการตั้งชื่อธาตุใหม่ โดยพวกเขาได้ตั้งชื่อตามห้องปฏิบัติการแห่งชาติที่ตั้งอยู่ในเมืองลิเวอร์มอร์ โดยนักวิจัยสังเกตเห็นธาตุลิเวอร์มอเรียมครั้งแรกเมื่อปี 2000 เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้เร่งธาตุแคลเซียมและคูเรียมให้ชนกัน
บิล โกลด์สไตน์ (Bill Goldstein) ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักอำนวยการวิทยาศาสตร์กายภาพและชีวภาพ ของห้องปฏิบัติการลอว์เรนซ์ลิเวอร์มอร์ กล่าวว่าวัตถุประสงค์ในการตั้งชื่อธาตุอันมีเกียรตินี้ไม่ได้เพื่อยกย่องนักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการที่เป็นชื่อของธาตุใหม่เท่านั้น แต่ยังเป็นการยกย่องในความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการทั้งสองแห่งด้วย
ยังมีอะตอมของธาตุหนักซูเปอร์เฮฟวีชุดหน้าที่รอการฉกชิงเพื่อตั้งชื่อ ซึ่งไลฟ์ไซน์ระบุว่าเป็นไปได้ที่ชื่อธาตุมอสโคเวียมจะกลับมาอีกครั้ง