xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่ม 2 ธาตุใหม่ลงตารางธาตุลำดับที่ 114 และ 116

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

2 ธาตุใหม่ ลำดับที่ 114 และ 116 ได้รับการรับรองให้เพิ่มในตารางธาตุแล้ว (บีบีซีนิวส์)
ธาตุลำดับที่ 114 และ 116 ได้รับการรับรองจากนักฟิสิกส์และนักเคมี แม้ว่าธาตุหนักทั้งสองจะมีอายุสั้นแค่ไม่กี่วินาที แต่ก็ได้รับการยอมรับให้เพิ่มลงตารางธาตุอย่างเป็นทางการ ส่วนชื่อและสัญลักษณ์ที่จะให้สำหรับธาตุใหม่จะถูกคัดเลือกในภายหลัง

ทั้งนี้ ตารางธาตุ (Periodic Table) เป็นแหล่งอ้างอิงธาตุทั้งหมดที่เรารู้จัก โดยมีการจัดเรียงลำดับธาตุจากบนลงล่างและจากซ้ายไปขวาตามเลขอะตอม (atomic number) ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งรายงานล่าสุดจากเอพีและบีบีซีนิวส์ระบุว่า ธาตุลำดับที่ 114 และ 116 ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการแล้ว โดยลำดับของธาตุนั้นบ่งบอกถึงเลขอะตอมหรือจำนวนโปรตอนในนิวเคลียส

ในตารางธาตุนั้นมีไฮโดรเจนเป็นธาตุลำดับแรกสุด มีสัญลักษณ์และเลขอะตอมคือ H และ 1 ส่วนธาตุอื่นๆ ที่เรารู้จักกันดี เช่น โซเดียม มีสัญลักษณ์และเลขอะตอมคือ Na และ 11, เหล็ก มีสัญลักษณ์และเลขอะตอมคือ Fe และ 26 และ เงิน สัญลักษณ์และเลขอะตอมคือ Ag และ 47 เป็นต้น ส่วนสัญลักษณ์และชื่อเรียกของ 2 ธาตุใหม่จะได้รับการคัดเลือกในภายหลัง

ธาตุใหม่ทั้งสองเกิดขึ้นจากการทดลองจับอะตอมชนกันเพื่อสร้างธาตุใหม่ โดยนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐฯ และรัสเซีย ได้ทดลองให้ไอออนของแคลเซียมพุ่งชนอะตอมของพลูโตเนียมหรือธาตุอื่นอย่างคูเรียม (curium) ซึ่งการทดลองดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2004 และ 2006 แต่เพิ่งมีการรับรองธาตุใหม่เมื่อเร็วๆ นี้ และแม้ว่าธาตุลำดับที่ 116 จะได้รับการรับรองแล้ว แต่จำลองธาตุทั้งหมดที่ได้รับการรับรองมีเพียง 114 ธาตุเท่านั้น เนื่องจากธาตุลำดับที่ 113 และ 115 ยังไม่ได้รับการรับรอง

งานวิจัยดังกล่าวได้ เผยแพร่ในวารสารเพียวแอนด์แอพพลายด์เคมิทรี (Pure and Applied Chemistry) และได้รับการตรวจสอบและรับรองจากคณะกรรมการจากสหพันธ์เคมีบริสุทธิ์และประยุกต์สากล (International Union of Pure and Applied Chemistry: IUPAC) และสหพันธ์ฟิสิกส์บริสุทธิ์และประยุกต์สากล (International Union of Pure and Applied Physics: IUPAP)

ปัจจุบันการยืนยันธาตุใหม่ในตารางธาตุต้องใช้เวลาทดลองและพิสูจน์อยู่นาน แต่ พอล คารอล (Paul Karol) จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน (Carnegie Mellon University) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการผู้รับรองการค้นพบธาตุใหม่ กล่าวว่า เมื่อ 250 ปีก่อน ธาตุใหม่ถูกเพิ่มเข้าไปในตารางธาตุโดยเฉลี่ยทุกๆ 2 ปีครึ่ง

เคน มูดี (Ken Moody) นักเคมีจากห้องปฏิบัติการลอเรนซ์วิเวอร์มอร์ สหรัฐฯ (Lawrence Livermore National Laboratory) ผู้มีส่วนร่วมในการสร้างธาตุลำดับใหม่บอกว่าธาตุใหม่ทั้งสองต่างจากธาตุอย่างคาร์บอน ทองคำและดีบุกที่สลายตัวช้า แต่ธาตุใหม่มีอายุที่สั้นมาก อะตอมของธาตุลำดับที่ 114 สลายตัวภายในไม่กี่วินาที ส่วนอะตอมลำดับที่ 116 สลายตัวในเวลาไม่ถึงวินาที

ตอนนี้มูดีและเพื่อนร่วมงานยังไม่ได้คุยกันเรื่องตั้งชื่อธาตุใหม่ ซึ่งต้องให้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์นานาชาติเป็นผู้รับรองชื่อดังกล่าว สิ่งที่เขารู้แน่ๆ คือคำลงท้ายของชื่อธาตุทั้งสองต้องเป็น “-เอียม” (ium) และชื่อเรียกชั่วคราวของธาตุใหม่ตอนนี้เป็นชื่อที่ได้มาจากเลขลำดับในตารางธาตุ โดยธาตุลำดับที่ 114 ชื่อ อูนอูนควอเดียม (ununquadium) และธาตุลำดับที่ 116 ชื่อ อูนอูนเฮกเซียม (ununhexium)

ปีเตอร์ เอฟ รัสช์ (Peter F. Rusch) ประธานคณะกรรมการสมาคมเคมีอเมริกัน (American Chemical Society) ด้านระบบการตั้งชื่อ ศัพท์เฉพาะและสัญลักษณ์กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ธาตุใหม่ที่ถูกค้นพบมักจะได้รับการตั้งชื่อจากชื่อนักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง ทำให้เรามีธาตุชื่อโนเบเลียม (nobelium) ไอน์สไตเนียม (einsteinium) อยู่ในตารางธาตุ

ก่อนหน้าการรับรอง 2 ธาตุใหม่นี้ เพิ่งมีการเพิ่มธาตุลำดับที่ 112 ลงในตารางธาตุเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งธาตุดังกล่าวได้รับการตั้งชื่อว่า “โคเปอร์นิเซียม” (copernicium) เพื่อเป็นเกียรติแก่ นิโคลัส โคเปอร์นิคัส (Nicolaus Copernicus) นักดาราศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์

มูดี ในวัย 56 ปีเล่าให้ฟังอีกว่า ตอนที่เขาเรียน ม.ปลายนั้น ตารางธาตุมีแค่ 104 ธาตุ และตอนนั้นนักเคมีก็เชื่อว่า น่าจะมีรายการธาตุต่างๆ ครบแล้ว แต่เรายังคงพบธาตุใหม่ ซึ่งปัจจุบันเป็นเพียงผลพลอยได้จากการทดลองเพื่อค้นคว้าเกี่ยวกับนิวเคลียสของอะตอม และการสังเคราะห์ธาตุใหม่นี้เป็นเพียงวิทยาศาสตร์พื้นฐาน แต่ก็เป็นเรื่องที่สนุก

เมื่อเร็วๆ นี้มูดีมีโอกาสไปบรรยายให้เด็กมัธยมฟังเกี่ยวกับงานของเขา และพบว่าเด็กๆ เหล่านั้นชื่นชอบงานของเขามาก สำหรับนักเรียนเหล่านั้นตารางธาตุเป็นเหมือน “ของขลัง” แต่ความจริงที่ว่า ตารางธาตุสามารถปรับเปลี่ยนและเพิ่มเติมข้อมูลใหม่เข้าไปได้นั้นเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่สำหรับเยาวชนเหล่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น