xs
xsm
sm
md
lg

รู้ไหมว่า...ยุงรำคาญเป็นพาหะของโรคใดบ้าง?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ของยุงรำคาญสกุล คูเลกซ์ ควินคิวแฟสเวียตัส เพศผู้ (ซ้าย) และ เพศเมีย (ขวา)
สภาวะหลังน้ำท่วมใหญ่ในหลายภาคของประเทศไทย ทำให้เกิดมีน้ำท่วมขังตามแหล่งต่าง ๆ ในวงกว้างที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของยุงหลายชนิด ที่กำลังเป็นปัญหาหนักในขณะนี้คือการมีกลุ่มยุงรำคาญจำนวนมากในทุกพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ยุงรำคาญมีหลายสกุล แต่ที่พบมากในขณะนี้คือ คูเลกซ์ ควินคิวแฟสเวียตัส (Culex quinquefasciatus) ที่พบในแหล่งน้ำขังที่เป็นน้ำเน่าเสีย ยุงรำคาญอีก 2 สกุล ที่พบได้มากในประเทศไทย ได้แก่ เจลิดัส (Cx. Gelidus) และ ไตรเตนิโอรินคัส (Cx. Tritaeniorhynchus) ซึ่งเป็นยุงรำคาญที่พบลูกน้ำอยู่ในหนองน้ำ น้ำขังตามไร่นา น้ำตามรอยเท้าสัตว์ กลุ่มยุงรำคาญเหล่านี้เป็นพาหะนำโรคไข้สมองอักเสบ โรคเท้าช้างในคน และโรคพยาธิหนอนหัวใจในสุนัข ยุงที่นำโรคที่สำคัญอีก 3 กลุ่มคือ กลุ่มยุงลาย สองสกุลที่สำคัญคือ Aedes aegypti (ยุงลายบ้าน) และ Ae. albopictus (ยุงลายสวน) ที่นำเชื้อไข้เลือดออกที่ลูกน้ำอาศัยอยู่ในน้ำสะอาด เช่น ตามลุ่มน้ำ ภาชนะใส่น้ำ อื่น ๆ กลุ่มยุงก้นปล่อง (Anopheles) ที่นำเชื้อไข้มาลาเรีย และกลุ่มยุงเสือ (Mansonia) ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ายุงทั้ง 3 กลุ่มข้างต้น ที่นำเชื้อโรคเท้าช้าง ยุงเหล่านี้อาจสามารถนำโรคอื่น ๆ เช่น ยุงลายแม้จะเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก แต่ก็มีรายงานว่าสามารถนำโรคเท้าช้างได้ เป็นต้น

โดยทั่วไปยุงจะมีการเจริญเติบโตเป็น 4 ระยะ คือ ระยะเป็นไข่ ลูกน้ำ ตัวโม่ง และตัวเต็มวัย โดยที่ในระยะลูกน้ำจะแบ่งการเจริญเติบโตออกเป็น 4 วัย คือ วัย 1-4 ลูกน้ำจะมีการลอกคราบเมื่อเข้าสู่ระยะต่าง ๆ โดยมีระยะการเจริญเติบโตในระยะลูกน้ำประมาณ 7-10 วัน อาจช้าหรือเร็วกว่านี้ขึ้นกับชนิดของลูกน้ำ อุณหภูมิและอาหาร ขณะที่ระยะตัวโม่งจะใช้เวลา 2-3 วัน ซึ่งในระยะตัวโม่งนี้จะไม่กินอาหารใดๆ และจากตัวโม่งจะลอกคราบออกมาเป็นยุง ในระยะตัวเต็มวัยที่เป็นยุงนี้ ตัวผู้จะมีชีวิตอยู่ได้ราว ๆ 7 วัน ขณะที่ยุงตัวเมียจะมีชีวิตอยู่ได้นานนับเดือน โดยยุงทั้ง 2 เพศ จะใช้น้ำหวานจากดอกไม้ดำรงชีวิต ขณะที่ยุงตัวเมียจะต้องการโปรตีนจากเลือดมนุษย์และสัตว์เพื่อการสร้างไข่ที่จะกลายเป็นลูกน้ำยุงต่อไป

ยุงมีถิ่นอาศัยที่ต้องเพาะพันธุ์ตามแหล่งน้ำหลายชนิด โดยยุงก้นปล่องวางไข่ใบเดี่ยว ๆ บนผิวน้ำ ยุงลายวางไข่ใบเดี่ยวๆ ตามขอบเหนือระดับน้ำ ยุงรำคาญวางไข่เป็นแพบนผิวน้ำและยุงเสือวางไข่ติดกันเป็นกลุ่มติดกับใบของพืชน้ำ เมื่อไข่ฟักออกมาเป็นตัวจะได้ลูกน้ำวัย 1 และลอกคราบตามระยะ ลูกน้ำจะลอยขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ ส่วนลูกน้ำยุงเสือจะหายใจโดยเจาะเอาออกซิเจนจากรากพืชน้ำ ลูกน้ำยุงจะกินอาหารพวกแบคทีเรีย ยีสต์ สาหร่ายเล็ก ๆ เป็นต้น ในการควบคุมประชากรยุง มักจะควบคุมในระยะที่เป็นลูกน้ำ โดยใช้แบคทีเรียฆ่าลูกน้ำยุง หรือควบคุมระยะที่เป็นตัวยุงโดยใช้สารเคมีฆ่ายุงหรือหมอกควันที่ใช้ไล่ยุง (แต่อาจกำจัดยุงไม่ได้มากนัก เพราะยุงอาจบินหนีไปอยู่ที่อื่น)

ข้อมูล - คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
กำลังโหลดความคิดเห็น