ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - นักวิจัย “มทส” โคราช ประสบความสำเร็จ ประดิษฐ์ “ไม้เท้า” เครื่องกำจัดลูกน้ำยุงโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเครื่องแรกของโลก เหมาะนำไปใช้ในพื้นที่น้ำท่วมขังใน กทม.เผย แค่จุ่มลงในน้ำคลื่นเสียงจะทำลายวงจรชีวิตลูกน้ำยุงทันทีในรัศมี 1 ฟุต ทั้งไข่-ลูกน้ำ-ตัวโม่ง ระบุ ปลอดภัยไม่มีผลกระทบต่อสัตว์น้ำชนิดอื่น และไม่มีสารเคมีตกค้าง เป็นทางเลือกใหม่กำจัดยุงด้วยการตัดวงจรการเติบโต ลดการนำเข้าอุปกรณ์และสารเคมี
วันนี้ (17 พ.ย.) ผศ.ดร.ชาญชัย ทองโสภา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส) เจ้าของสิ่งประดิษฐ์ “เครื่องกำจัดลูกน้ำยุงลายไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม” เปิดเผยว่า ได้ทำการวิจัยและพัฒนาเครื่องกำจัดลูกน้ำยุงไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากกองทุนนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปกรณ์ดังกล่าวพัฒนาขึ้นโดยดัดแปลงจากไม้เท้าผู้สูงอายุติดตั้งเครื่องปล่อยคลื่นเสียงย่านอัลตราโซนิค ไว้บริเวณส่วนปลายของไม้เท้า คลื่นเสียงนี้มีประสิทธิภาพสูงในการทำลายลูกน้ำยุง เพียงจุ่มปลายไม้เท้าลงในน้ำที่มีลูกน้ำยุง อาศัยอยู่แล้วเปิดเครื่อง
จากการทดสอบพบว่า คลื่นเสียงดังกล่าวสามารถกำจัดลูกน้ำยุงได้ภายในเวลาเพียง 1 วินาทีเท่านั้น รัศมีการกระจายตัวของคลื่นไปได้ไกลประมาณ 1 ฟุต หากต้องการกำจัดลูกน้ำจำนวนมาก ก็เปลี่ยนจุดจุ่มไปเรื่อยๆ โดยผู้ใช้สามารถปรับความถี่ได้ระหว่าง 20-100 กิโลเฮิรตซ์ และปรับความแรงของคลื่นเสียงได้ระหว่าง 100-400 วัตต์ ความถี่และความแรงดังกล่าวไม่มีผลต่อสัตว์น้ำชนิดอื่นที่มีขนาดใหญ่กว่าลูกน้ำ
ผศ.ดร.ชาญชัย กล่าวอีกว่า วิธีทำลายลูกน้ำยุงโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงนี้เป็นวิธีการแบบใหม่ที่ใช้กำจัดลูกน้ำยุงโดยสามารถทำลาย และตัดวงจรชีวิตของยุง ตั้งแต่ ช่วงไข่ ตัวลูกน้ำ จนถึงตัวโม่ง โดยเพียงจุ่มเครื่องกำจัดลูกน้ำยุงลงในน้ำที่มีลูกน้ำยุงอาศัยอยู่ แรงดันของคลื่นจะกระแทกลูกน้ำยุงทำให้ลูกน้ำยุงตาย ในขณะที่สัตว์น้ำอื่นๆ ที่มีขนาดใหญ่กว่ายุงจะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด และไม่มีสารเคมีตกค้างทั้งยังช่วยลดการนำเข้าอุปกรณ์และสารเคมีกำจัดยุงได้เป็นอย่างดี เป็นทางเลือกใหม่ในการกำจัดยุงด้วยการตัดวงจรเติบโตและยังสามารถดัดแปลงเพื่อเพิ่มคลื่นความถี่ให้แรงขึ้นสำหรับกำจัดสัตว์น้ำชนิดอื่นได้เช่นกัน
ถือเป็นนวัตกรรมกำจัดยุงด้วยคลื่นเสียงเครื่องแรกของโลก ซึ่งขณะนี้สิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวได้จดสิทธิบัตรในนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะส่งต่อความรู้ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมหรือหน่วยงานภาครัฐที่สนใจนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้
“โดยเฉพาะในพื้นที่น้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ ที่มีไข่ยุงอยู่เป็นจำนวนมาก สามารถนำเครื่องประดิษฐ์นี้ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากท่านใดสนใจ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 111 ถ.มหาวิทยาลัย ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา 30000 โทรศัพท์ 0-4422-4818” ผศ.ดร.ชาญชัย กล่าว