xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นใช้ “ปลากินยุง” ช่วงน้ำท่วมกลายเป็น “เอเลี่ยน” รุกรานปลาท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชื่อปลากินยุง แต่ความสามารถอาจไม่สมชื่อนัก (ภาพประกอบทั้งหมดโดย นณณ์ ผาณิตวงศ์)
น้ำท่วมที่แช่ขังเป็นเวลานานนั้นนอกจากสร้างกลิ่นเน่าเหม็นแล้ว ยังเป็นเพาะพันธุ์ “ยุง” ที่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยไม่แพ้จระเข้ ปลิง ตะขาบ หรือแม้แต่กรีนแมมบ้า แต่หากคิดจะนำ “ปลากินยุง” สัตว์นำเข้าจากต่างประเทศมาแก้ปัญหาแล้วต้องคิดกันให้ดี เพราะแทนที่จะช่วยเจ้าปลาชนิดนี้อาจรุกรานสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นในบ้านเราแทน

เรื่องนี้ได้รับการจุดประเด็นขึ้นโดย “นณณ์ ผาณิตวงศ์” ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ http://www.siamensis.orgได้ชี้ถึงปัญหาของการนำ “ปลากินยุง” (Mosquito fish) มาใช้แก้ปัญหายุงชุมในภาวะน้ำท่วมช่วงนี้ผ่านบทความ “ปลากินยุง Super Alien!” ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว โดยเขาบอกแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ไทยเคยใช้ปลาชนิดนี้ไปปล่อยในหลายที่มาหลายปีแล้ว และก็พบว่าได้สร้างปัญหาให้แก่หลายๆ ที่ซึ่งได้ปล่อยปลาชนิดนี้

ปัญหาจากปลากินยุงที่นณณ์ได้ชี้ให้เห็นผ่านบทความดังกล่าวคือการรุกรานสิ่งมีชีวิตท้องถิ่น ทั้งการแย่งอาหารและที่อยู่อาศัยจนทำให้ปลาท้องถิ่นลดจำนวนลง ซึ่งเป็นปัญหาที่พบในหลายประเทศที่นำปลาชนิดนี้ไปปล่อยเพื่อกำจัดยุง อาทิ อิตาลี ออสเตรเลีย รัสเซียและไทย เป็นต้น

เขาบอกแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ ด้วยว่า เพื่อนเขาได้ทดลองใช้ปลากินยุงนี้ไปปล่อยเพื่อกินลูกน้ำ พบว่าปลาชนิดนี้กินลูกน้ำไม่หมด เพราะปลาชนิดนี้อาศัยแต่บริเวณผิวน้ำ จึงต้องใช้ปลากัดไปช่วยกินจนหมด และพบว่าปลาไทยสามารถว่ายซอกแซกในน้ำได้มากกว่า ดังนั้น การใช้ปลาไทยน่าจะดีกว่า เพราะปลากินยุงก็ไม่ได้เก่งจริง และเมื่อหลุดสู่สิ่งแวดล้อมก็ไม่ใช่เรื่องดีนัก

ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องยุงในภาวะน้ำท่วมนั้นนอกจากใช้ปลาไทยกินลูกน้ำแล้ว การทำให้น้ำไหลเวียนไม่ท่วมขังก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยได้ แต่ในภาวะเช่นนี้ก็อาจเป็นเรื่องยากลำบาก หรืออาจจะใช่ทรายอะเบทเทลงในน้ำเพื่อป้องกันยุงเพาะพันธุ์ได้อีกทาง
ปลากินยุงชอบอยู่บริเวณผิวน้ำ
************

บทความ “ปลากินยุง Super Alien!”
โดย นณณ์ ผาณิตวงศ์ ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ siamensis.org

เมืองวิลมิงตัน รัฐนอร์ธ แคโรไรนา ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา เย็นๆ ผมนั่งคุยเล่นกับเพื่อนอยู่บนสนามหญ้าหลังบ้าน ด้านหลังมีบ่อน้ำมากมาย ผมเลือกบ้านหลังนี้เพราะเหตุนี้ ชอบดูปลา ในบ่อมีปลาหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือปลากินยุง หรือเจ้า Mosquito fish ปลาชนิดนี้ถูก "นักมีนวิทยา" บางท่านเรียกว่า Super Fish! เนื่องจากมีความทนทายาท สามารถทนร้อนทนหนาว ทนเค็ม ทนน้ำเสีย น้ำเน่าเหม็นได้ พวกมันโตเร็วมาก ออกลูกได้ภายใน 1-2 เดือน ไม่ได้วางไข่ด้วยนะครับ พวกนี้ออกลูกเป็นตัว ออกมาดูแลตัวเองหากินได้เลย แม่ปลาตัวหนึ่งอาจจะมีลูกได้ตั้งแต่ 50-300 ตัว ต่อครั้ง ท้องใหม่ได้ทุกๆ 1.5 - 2 เดือน ยังไม่พอเท่านั้น แม่ปลาไม่ใช่ว่าต้องผสมพันธุ์กับตัวผู้ทุกครั้งถึงจะมีลูกได้ แต่มันสามารถเก็บน้ำเชื้อไว้ได้ข้ามเดือนข้ามปีเลยทีเดียว ปลาชนิดนี้กินสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในน้ำเป็นอาหาร ลูกน้ำ ลูกไร ไดอะตอม แพลงตอนสัตว์ มันเป็นปลาที่ดุหวงถิ่น ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในปลาตัวเล็กๆหน้าตาคล้ายปลาหางนกยูงดูไม่มีพิษมีภัย ที่เรียกกันว่าปลากินยุง

ด้วยชื่อที่ถูกเรียกแบบนี้ ทำให้เชื่อกันว่าปลาชนิดนี้กินลูกน้ำได้เก่งนักหนา แถมยังทนทายาท ออกลูกออกหลานได้รวดเร็ว มันกลายเป็นตัวเลือกแรกและตัวเลือกสุดท้ายในยุคหนึ่งในการต่อสู้กับโรคร้ายที่มาจากยุง ปลากินยุงถูกนำออกจากประเทศสหรัฐอเมริกาบ้านเกิดของมัน มุ่งหน้าสู่ทุกส่วนทุกทวีปของโลก (ยกเว้นก็เพียงแห่งเดียวคือแอนตาร์กติกา) ปัจจุบันเชื่อกันว่าปลาชนิดนี้เป็นปลาน้ำจืดที่มีเขตการกระจายกว้างที่สุดในโลก และถูกจัดให้เป็น 1 ในชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ส่งผลเลวร้ายต่อระบบนิเวศที่สุดของโลก เพียงแค่ใส่ชื่อลงไปใน google เอกสารรายงานก่นด่าปลาชนิดนี้จะดังกึกก้องไปทั่วหน้าจอ แน่นอนว่ามันกินลูกน้ำ แต่ก็ไม่ได้สามารถกินจนหมด เมื่อเทียบกับปลาท้องถิ่นหลากหลายที่อาจจะช่วยกันอยู่แล้วในแหล่งน้ำนั้นๆ ที่มันไปทำเค้าวงแตก การศึกษาพบว่ามันกินอาหารหลากหลายกว่าลูกน้ำมาก และถ้าให้กินแต่ลูกน้ำอย่างเดียวมันจะพิกลพิการและโตช้าเสียด้วยซ้ำ

การใช้สิ่งมีชีวิตเพื่อกำจัดสิ่งมีชีวิตที่ไม่ต้องการ มีศัพท์เทคนิคเรียกว่า Biological Control แน่นอนว่ามนุษย์ไม่สามารถที่จะเรียนรู้และทำนายพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตได้ทั้งหมดไม่ว่าเราจะคิดว่าเราได้ศึกษามันมามากแค่ไหน ไม่นับรวมว่าการนำสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ออกมาปล่อยในถิ่นอาศัยใหม่ที่แตกต่างออกไปจะยิ่งยากที่จะคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้น การนำหอยทากฆาตกรโหดไปกำจัดหอยทากแอฟริกาในฮาวาย กลายเป็นว่าเจ้านักฆ่า กลับฆ่าไม่เลือกหน้าจนทำให้หอยทากบกท้องถิ่นสูญพันธุ์ การนำคางคกอ้อยไปปล่อยในออสเตรเลียเพื่อหวังให้กินแมลงปีกแข็งที่เข้าเจาะทำลายอ้อยในไร่ ก็กลายเป็นว่ามันไม่ได้กินแต่เจ้าแมลงเป้าหมายแต่กลับกินทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้าปากมันได้ ทำเอากบเล็กๆ ลดจำนวนหรือสูญพันธุ์ไปสิ้น ซ้ำร้ายเจ้าคางคกยักษ์ยังมีพิษ งูท้องถิ่นกินเข้าไปก็ตายเสียอีก จะควบคุมได้อย่างไรว่าปล่อยลงไปแล้วให้มันกินมันทำแต่สิ่งที่เรามุ่งหวัง (target species)? คำตอบคือ เป็นไปไม่ได้

ปลากินยุงก็เช่นกัน ผลการเฮโลปล่อยพวกมันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีตัวอย่างความกบฏของมันอยู่มากมาย ตั้งแต่การแย่งอาหารและพื้นที่อาศัยจนปลาท้องถิ่นลดจำนวนลงหรือสูญพันธุ์ ในหลายประเทศ ทั้ง อิตาลี ตุรกี ออสเตรเลีย รัสเซีย รวมไปถึงประเทศไทย ในประเทศออสเตรเลียยังพบว่ามันไล่ตอดและกินลูกอ๊อดของกบท้องถิ่นจนจำนวนลดลงแทบจะสูญพันธุ์ บางที่เจ้าปลากินยุงกลับไปกินแพลงตอนสัตว์จนหมดทำให้แพลงตอนพืชที่ไม่มีแพลงตอนสัตว์มาคอยคุมประชากรบูมจนน้ำเน่าเสีย เสร็จแล้วเป็นไง? มันอยู่ได้ ปลาอื่นอยู่ไม่ได้ ยังไม่นับรวมไปถึงความเสียหายทางเศรฐกิจ เมื่อมีเจ้านี้หลุดลงไปในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ เพราะมันจะไปแย่งกินอาหารแถมในบางกรณียังกัดทำร้ายจนติดเชื้อตาย เครียดเลี้ยงไม่โต กินไข่ กินลูก แถมยังมีโอกาสนำโรคจากหนอนพยาธิมาติดอีก (helminth parasites) เจ๊งไหมอ่ะแบบนี้? มันล่ะ Superfish!

ในภาวะน้ำท่วมในประเทศไทยเช่นนี้ เริ่มมีความเป็นหวงว่าหลังจากน้ำลดจะเกิดน้ำท่วมขังซึ่งจะกลายเป็นที่เพาะพันธุ์เหล่ายุงร้ายต่างๆ มีการพูดถึงการใช้ Biological control และมีเสียงแว่วหวานว่าปลากินยุงเป็นหนึ่งในชื่อที่ถูกพูดถึง จึงอยากจะให้บทความนี้ได้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ ถึงผลเสียในระยะยาวที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะปล่อยลงไปแล้วมันจับกลับมาไม่ได้ ไม่มีประเทศไหนในโลกทำสำเร็จ แม้ว่าจะเปิดสงครามกับมันอย่างไร ใช้กฏหมาย ใช้สารเคมีแรงแค่ไหน มันก็จะยังอยู่ (ซึ่งมันก็มีอยู่แล้วในประเทศไทย และไม่ควรจะไปส่งเสริมให้มีมันกว้างขวางขึ้นไปอีก)

จึงมีข้อเสนอว่าปลาไทยที่สามารถกินลูกน้ำได้ และทนทานต่อสภาพน้ำเสียพอสมควรก็มีหลายชนิด ยกตัวอย่างเช่น ปลากระดี่ ปลากริม ปลาสลิด ปลาหัวตะกั่ว และ ปลาหมอไทย หรือแม้แต่ลูกปลาช่อน ปลาเหล่านี้เป็นปลาที่มีอยู่มากในแหล่งน้ำไทย ถ้าเราจะลองจับหามาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ปล่อยเลี้ยงไว้ในบ้าน น้ำแห้งแล้วก็ปล่อยเค้าคืนไป หรือถ้าจะมีหน่วยงานไหนเพาะแจก ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีและมีความเสี่ยงน้อยกว่าการใช้ปลากินยุงหรือสัตว์ต่างถิ่นอื่นๆมากมายนัก อาจจะไม่ทนเท่า ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้เร็วเท่า แต่ไม่มีความเสี่ยงที่จะเป็นปัญหาในระยะยาว โตมากินได้อีก

“ป๊าป!!!”
ตัดภาพกลับมาที่เมืองวิลมิงตั้น ผมตบยุงตัวหนึ่งที่บินมาเกาะที่ขาหวังประทุษร้ายผม ถ้าเจ้าปลากินยุงมันเก่งจริง ทำไมแถวนี้และตอนใต้ของอเมริกาทั้งหมดที่มีเจ้าพวกนี้อยู่แทบจะทุกแหล่งน้ำยังมียุงอยู่อีกหล่ะ?

ชื่อไทย: ปลากินยุง, ปลาป่อง
ชื่อสามัญ: Mosquito fish, Top Minnow
ชื่อวิทยาศาสตร์: Gambusia affinis (Baird and Girard, 1853)
ขนาดเมื่อโตเต็มวัย: 2.5-3 เซนติเมตร
การกระจายพันธุ์: ถิ่นกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติพบทางตอนใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกาและทางตอนเหนือของประเทศแมกซิโก ปัจจุบันมีการนำไปปล่อยในทุกทวีปทั่วโลก ยกเว้น แอนตาร์กติก้า เท่านั้น
ข้อมูลทั่วไป: ปลาออกลูกเป็นตัวขนาดเล็ก เจริญพันธุ์ได้เมื่ออายุประมาณ 1-2 เดือน เพศเมียออกลูกเป็นตัวครั้งละ 50-300 ตัว ทุกๆ 1.5-2 เดือน กินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร ถูกจัดให้เป็น 100 สิ่งมีชีวิตรุกรานต่างถิ่น

คุณรู้ไหม?: Gambusia มาจากภาษาโปรตุกีส Gambusiano แปลว่า “ไร้ประโยชน์”

ข้อมูลเพิ่มเติม: http://www.issg.org/worst100_species.html

กำลังโหลดความคิดเห็น