xs
xsm
sm
md
lg

เตือน! ผู้ป่วยเบาหวานเท้าแช่น้ำเสีย เสี่ยงสูงถูกตัดขา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
แพทย์เตือนเร่งจัดการขยะ ลดการระบาดของเชื้อโรคที่มากับน้ำ  เตือนผู้ป่วยเบาหวานระวังเท้าแช่น้ำเสีย เสี่ยงสูงถูกตัดขา

นพ.สมิง เก่าเจริญ ประธานวิชาการราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประชาชนที่กำลังเผชิญกับอุทกภัย หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงจากการเกิดน้ำท่วมระมัดระวังเชื้อโรคที่มากับน้ำ และโรคระบาดที่มาจากพาหะนำโรค เช่น หนู แมลง และยุง น้ำเน่าเสียถือเป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโรค ต้องเร่งจัดการ โดยอันดับแรกต้องจัดการกับขยะ เพราะขยะจะเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคจำพวกหนู แมลงสาบ และเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค ดังนั้น ในพื้นที่ที่น้ำท่วมยังมาไม่ถึง แต่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยควรรีบกำจัดขยะออกไปก่อนเป็นอันดับแรก โดยการคัดแยกขยะออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ขยะทั่วไปให้เก็บไว้เพื่อรอการกำจัด 2.ขยะเปียกจำพวกเศษอาหารอุจจาระหรือมูลสัตว์อาจใส่เชื้อจุลินทรีย์หรืออีเอ็มลงไปในถุงขยะเพื่อเร่งการย่อยสลายและปิดถุงให้สนิทหลีกเลี่ยงไม่ให้เป็นแห่งอาหารของสัตว์ และ3.ขยะสารพิษซึ่งต้องห่อและเก็บให้มิดชิดไม่ให้น้ำท่วมถึง เช่น สารเคมี ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ นอกจากนี้ต้นไม้ที่ปลูกไว้ก็ควรยกให้สูงขึ้น เพราะหากปล่อยให้แช่น้ำเป็นเวลานานรากจะเน่าเสียและกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อในที่สุด

นพ.ฆนัท ครุธกูล  กรรมการวิชาการราชวิทยาลัยอายุรแพทย์  และเลขาธิการเครือข่ายคนไทยไร้พุง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในช่วงที่น้ำท่วม ผู้ที่ต้องระวังมากที่สุด คือ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีแผลที่เท้า และผู้ที่มีโรคประจำตัว ไม่ควรให้เท้าแช่น้ำ หากจำเป็นต้องลุยน้ำให้ใช้ถุงพลาสติกห่อเท้าก่อน รีบทำความสะอาดเท้าทันทีหลังลุยน้ำด้วยสบู่และเช็ดเท้าให้แห้ง เพราะถ้าเกิดแผลที่เท้าขึ้นแผลจะหายช้าและเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่รุนแรงเสี่ยงต่อการต้องตัดขาได้ นอกจากนี้ ยังต้องระวังโรคที่มากับยุง จึงต้องเร่งกำจัดขยะ ทำให้น้ำไหลเวียนไม่ให้เป็นแหล่งวางไข่  ยุงลายนั้นสามารถวางไข่ได้ทั้งน้ำดีและน้ำเสีย แต่ไม่สามารถวางไข่ในน้ำไหลได้ เช่น หากน้ำท่วมแล้วให้นำกระสอบทรายกั้นออก หรือใช้เครื่องสูบน้ำช่วยให้เกิดการไหลเวียนของน้ำ  หากเป็นน้ำนิ่งให้ใส่ทรายอะเบท โดยทรายอะเบท 1 กรัม ต่อ น้ำ 10 ลิตร จึงต้องกำหนดปริมาณกับพื้นที่ที่ใช้ให้สมดุล หรือใส่สารซักล้างลดแรงตึงผิวน้ำเพื่อไม่ให้ยุงวางไข่ได้ แต่จะทำได้ในพื้นที่จำกัดเท่านั้น  จึงควรป้องกันยุงกัด โดยกางมุ้ง ทายากันยุง เพื่อป้องกันตนเอง

นพ.ฆนัท กล่าวว่า สำหรับการแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียที่ขังอยู่เป็นเวลานานซึ่งมีการพูดถึงอีเอ็มหรือจุลินทรีย์นั้น การใช้อีเอ็มบอลต้องใช้ให้ถูกวิธีถ้าใช้ไม่ถูกวิธีนอกจากจะทำให้ไม่ได้ผลอาจทำให้น้ำเสียเพิ่มขึ้น เนื่องจากอีเอ็มบอลประกอบด้วยกากน้ำตาลและรำข้าวซึ่งเป็นสารอินทรีย์มีผลให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง จึงควรใช้อีเอ็มบอลเฉพาะในการย่อยสลายเศษอาหารและขยะอินทรีย์หรือใช้ในแหล่งน้ำเสียที่มีกลิ่นรุนแรง ไม่สามารถจัดการได้ด้วยวิธีอื่น และไม่ควรใช้ในน้ำที่ไหลเวียน เพราะการใส่ในน้ำไหลเวียนเชื้อจะไม่อยู่ และใช้ไม่ได้ผล ซึ่งเรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างเร่งศึกษาศึกษาและจัดทำแนวทางการใช้อีเอ็มอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และจะมีการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเป็นทางการในต้นสัปดาห์หน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น