จะเป็นเช่นไรหากการวัดแรงสั่นสะเทือนเนื่องจาก “แผ่นดินไหว” เกิดความคลาดเคลื่อนเกินกว่าจะรับได้เนื่องจากเครื่องมือทำงานไม่ได้มาตรฐาน แต่ก่อนจะเกิดเหตุอันชวนสลดจำเป็นต้องมีการป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ ซึ่งการ “สอบเทียบ” อุปกรณ์ในการวัดคือหนทางหนึ่งที่จะช่วยลดความผิดพลาดได้
นายวิรัตน ปลั่งแสงมาศ หัวหน้าฝ่ายมาตรวิทยาเสียงและการสั่นสะเทือน สถาบันมาตรวิทยา (มว.) กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า มว.มีหน้าที่รักษามาตรฐานการวัดของประเทศไทยให้มีความน่าเชื่อถือ โดยรักษามาตรฐานอ้างอิงสูงสุดของประเทศ และถ่ายทอดค่ามาตรฐานอ้างอิงนั้นไปยังผู้รักษามาตรฐานในระดับรองลงไป ซึ่งจะผู้รักษามาตรฐานระดับรอๆ ลงไปนั้นจะเป็นผู้ถ่ายทอดมาตรฐานต่อไปจนถึงเครื่องมือที่อยู่ในระดับการใช้งานจริงในกิจกรรมต่างๆ
“หน้าที่ของเราคือถ่ายทอดมาตรฐานลงไปยังห้องปฏิบัติการสอบเทียบเครื่องมือต่างๆ ซึ่งจะทำหน้าที่ในการวัดความแม่นยำของเครื่องมือวัดในกิจกรรมต่างๆ โดย มว.นั้นสามารถวัดมาตรฐานทั้งในเรื่องการวัดด้านไฟฟ้า การวัดมวล การวัดแสง การวัดอุณหภูมิ ไปจนถึงการวัดเรื่องการสั่นสะเทือน ซึ่งมีทั้งการวัดที่เกี่ยวกับแผ่นดินไหว การออกแบบอาคารรองรับการสั่นสะทือน หรือการวัดการสั่นสะเทือนในการออกแบบยานยนต์ รวมถึงการวัดการสั่นสะเทือนในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟด้วย” นายวิรัตนกล่าว
หัววัดที่ใช้ในวัดการสั่นสะเทือนนั้นมีอยู่หลายชนิดแต่ในส่วนของหัววัดการสั่นสะเทือนเนื่องจากแผ่นดินไหวนั้น นายวิรัตนกล่าวว่า ทาง มว.ยังไม่สามารถให้บริการสอบเทียบได้เนื่องจากหัววัดประเภทนี้มีน้ำหนักค่อนข้างมาก ซึ่งทางสถาบันทำได้เฉพาะในส่วนของหัววัดการสั่นสะเทือนที่หนักไม่ถึงกิโลกรัม แต่ภายใน 2-3 ปีจะพัฒนาเพื่อให้บริการเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ทางสามารถให้บริการในการถ่ายทอดความถูกต้องของมาตรฐานการวัดการสั่นสะเทือนประมาณ 40%
พร้อมกันนี้ มว.ได้จัดการเสวนาเพื่อทำความเข้าใจถึงบทบาทของมาตรวิทยากับการวัดขนาดแผ่นดินไหวและการตรวจสอบรอยเลื่อนมีพลังขึ้นเมื่อวันที่ 19 ก.ย.54 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้ร่วมฟังการเสวนาดังกล่าวด้วย โดย นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง กรมทรัพยากรธรณี ผู้ร่วมเสวนาได้ให้ข้อมูลว่า นิยามของรอยเลื่อนมีพลังตามที่กรมยึดตามสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ (ยูเอสจีเอส) คือรอยเลื่อนที่มีการเคลื่อนตัวในช่วง 10,000 ปีที่ผ่านมา แต่บางแห่งกำหนดให้เป็นรอยเลื่อนที่พบว่ามีการเคลื่อนตัวในช่วง 35,000 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ นายสุวิทย์ กล่าวว่าการมีเครื่องมือวัดย้อนหลังได้เคยเกิดแผ่นดินไหวในอดีตนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะรอยเลื่อนมีพลังนั้นมีผลต่อสิ่งก่อสร้างบางอย่าง เช่น การสร้างเขื่อน เป็นต้น และรอยเลื่อนมีพลังจะบ่งชี้ถึงการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนในอนาคต ซึ่งเมื่อเกิดการเคลื่อนตัวแล้วจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ และขณะนี้กรมทรัพยากรธรณีมีเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวทั้งหมด 23 ตัว ซึ่งในอนาคตจะพยายามพัฒนาให้เป็นเครื่องมือที่ขส่งข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ได้
นายสุวิทย์ยังได้ฝากถึง มว.ว่าอยากให้มีการออกไปตรวจวัดเครื่องมือตรวจแผ่นดินไหวซึ่งติดตั้งอยู่ในพื้นที่ และแต่ละเครื่องมือนั้นตั้งอยู่หินและลักษณะทางธรณีวิทยาที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งนายวิรัตนผู้ดูแลเรื่องมาตรฐานการวัดการสั่นสะเทือนของสถาบันมาตรวิทยาให้ได้ความเห็นแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า ทางสถาบันสามารถส่งต่อมาตรฐานการวัดแก่ห้องปฏิบัติการสอบเทียบที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ได้ และเป็นหน้าที่ของห้องปฏิบัติการสอบเทียบนั้นๆ ในการประยุกต์เพื่อสอบเทียบมาตรฐานอุปกรณ์วัดต่อไป